โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต สนับสนุนให้เกิดเรื่องราวดีๆ ขึ้นในชุมชน ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่น กิจกรรมสาธารณะ ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ และทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม รวมทั้งการส่งเสริมกาเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ให้กับเจ้าหน้าที่, การดูแลสุขภาพ และในบล็อก StoryDD แห่งนี้ ได้รวบรวมบทความในโครงการส่งเสริมนักเขียนท้องถิ่น ให้สร้างผลงานเขียนเชิดชูบุคคล หรือหน่วยงานที่ทำความดี ให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจกับผู้อ่าน เพื่อร่วมสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนต่อไป

๑๔ ส.ค. ๒๕๕๐

:: ครูนักบริหาร


อาจารย์สดศรี ตันสุธัญลักษณ์ ผอ.โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต

ทองหลังพระหลายๆ ฉบับที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าหลายครั้ง เราได้พาคุณผู้อ่านไปพูดคุยกับ “ครู” หลายๆ ท่านที่มีผลงานแตกต่างกันออกไป บางท่านเป็นครูภูมิปัญญา บางท่านเป็นครูวัฒนธรรม แต่สำหรับเวทีทองหลังพระฉบับนี้จะเปิดโอกาสให้คุณผู้อ่านได้เห็นการทำงานของครูอีกท่านหนึ่ง ผู้มีผลงานเป็นผู้บริหารจัดการด้านการศึกษา ในยุคสมัยที่หลักสูตรการเรียนการสอนถูกพลิกโฉมไปมากมายจากอดีต เราได้รับเกียรติจาก ผอ.สดศรี ตันสุธัญลักษณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต



ความฝันอยากเป็นครูของผอ.สดศรีนั้น เกิดจากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสใกล้ชิด “ครูดี” ที่เป็นตัวอย่างในวัยเด็ก บวกกับความรักในการศึกษาที่ถูกปลูกฝังจากครอบครัว “ด้วยความที่พ่อแม่มีลูกถึง 9 คน ทำให้ครอบครัวค่อนข้างลำบาก แต่พ่อกับแม่ก็เห็นความสำคัญของการศึกษา ท่านส่งให้ลูกๆ ได้เรียนหนังสือ ดิฉันเองเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนรัตนศิริศึกษา และโรงเรียนขจรเกียรติศึกษา จนจบ ป.7 แล้วก็สอบเข้าโรงเรียนสตรีภูเก็ต ตั้งแต่ มศ.1 จนถึง มศ.5 จะร่วมกิจกรรมกับโรงเรียนตลอด ทุกเรื่องทุกงาน วันเสาร์อาทิตย์ หลังจากที่ช่วยงานบ้านแล้วก็จะมาที่โรงเรียนมาช่วยงานคุณครู ทำให้มีโอกาสเรียนรู้การทำงานของคุณครูในสมัยก่อน จึงเกิดความประทับใจและอยากจะเป็นครู ตอนจบ มศ.3 ได้ไปสมัครเรียนครู แต่สอบไม่ได้ ก็เลยเรียน มศ.4 – 5 ต่อ แล้วที่สุดก็สอบ ปป. ได้และได้รับคัดเลือกให้เรียนต่อจนจบ ปกศ.สูง จบปริญญาตรีที่วิทยาลัยการศึกษาพระนคร”เมื่อจบการศึกษา ผอ.สดศรี ครูจบใหม่ในวันนั้น มุ่งตรงกลับบ้านด้วยความตั้งใจที่จะมาสอบบรรจุเป็นครูที่บ้านเกิด เพราะความผูกพันที่มีจากวัยเด็ก “พอจบปุ๊บดิฉันก็ตรงกลับบ้านทันทีเพื่อที่จะมาสอบรรจุเป็นครูที่ภูเก็ต ตอนนั้นสอบได้เอกคณิตศาสตร์ก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกโรงเรียน แล้วจากการที่เราคลุกคลีกับครูหลายๆ ท่านที่โรงเรียนสตรีภูเก็ต เมื่อเรียนจบท่านก็อยากให้มาร่วมงานกัน อาจารย์สุภางค์ เขียวหวาน อดีต ผอ.โรงเรียนสตรีภูเก็ต ซึ่งขณะนั้นท่านรับตำแหน่งฝ่ายวิชาการอยู่ก็ขึ้นมารับด้วยตัวท่านเองเลย และบอกให้เลือกบรรจุที่โรงเรียนสตรีภูเก็ต ดิฉันก็ตั้งใจว่า ในเมื่อเราเป็นศิษย์เก่าเราก็อยากจะกลับมาทำงานที่โรงเรียน สมัยนั้นท่าน ผอ.เย็นจิตต์ ณ ตะกั่วทุ่ง ท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนอยู่ ส่วนท่าน ผอ.สว่าง ปานมั่น ดูแลฝ่ายวิชาการ ดิฉันมาถึงก็ได้สอนในชั้น มศ.5 เลย จึงมีลูกศิษย์ในวัยไล่เลี่ยกัน อายุห่างกันเพียง 4 – 5 ปี เริ่มงานตอนนั้นราวปี พ.ศ.2516 หลังจากนั้นสัก 2 – 3 ปี ผอ.สว่างท่านก็ส่งให้ไปอบรมเพิ่มเติมเรื่องการวัดผล เพราะเริ่มมีการเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอน และได้กลับมาทำงานฝ่ายวัดผล ในเวลาต่อมาก็ได้รับคัดเลือกให้ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงในการทำงาน”


ช่วงเวลาของการทำงานที่ได้ใกล้ชิดกับครูระดับผู้ใหญ่หลายๆ ท่านนั้น ผอ.สดศรีเล่าว่าเป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้และพัฒนาตนเองในการทำงานบริหารการศึกษาเป็นอย่างมาก “ดิฉันรู้สึกว่าเราโชคดีที่ได้เรียนรู้จากครูที่มีความสามารถหลายๆ ท่าน ครูสมัยก่อนนี่ต้องถือว่าเป็นครูจริงๆ ท่านจะไม่สอนโดยวิธีการบอกกล่าว แต่ท่านจะสอนโดยลักษณะการทำงาน เช่นเมื่อเราทำงานเอกสารไปส่งและถามท่านว่าใช้ได้ไหม ท่านก็จะแนะนำว่า ถ้าเราเป็นผู้รับเอกสารชิ้นนี้ เรามองเห็นลักษณะอย่างนี้ เราพึงพอใจไหม พอเรากลับมานึกดู อืมใช่เราก็ไม่พึงพอใจ แล้วท่านก็จะบอกว่าการที่จะแก้ไขหรือไม่ก็ให้พิจารณาด้วยตัวเอง เราก็จะได้เรียนรู้งานจากตรงนั้น อย่างนี้เป็นต้น สิ่งเหล่านี้นับว่าได้รับการปลูกฝังมามาก โดยเฉพาะจากท่าน ผอ.สว่าง ปานมั่น เพราะว่าดิฉันได้ทำงานเคียงคู่กับท่านมาพอสมควร ผอ.สว่าง ปานมั่นนั้นต้องถือว่าท่านเป็นเยี่ยมยุทธ์ของครูเลยทีเดียว ครูดีในสมัยก่อน ไม่ต้องมีตัวรางวัลอะไรบ่งบอกเลย แต่เราจะรู้เองว่าครูดีคืออะไร ดิฉันจึงพยายามเรียนรู้รูปแบบการทำงานของท่าน และก็เป็นจุดหนึ่งที่ผลักดันให้เราได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารโรงเรียน”

ผอ.สดศรี เริ่มต้นบทบาทของการเป็นผู้บริหารสถานศึกษาครั้งแรก ในโรงเรียนตะกั่วทุ่งงานทวีวิทยาคม จังหวัดพังงา บริหารงานที่นั่นอยู่ถึง 5 ปี 10 เดือน จึงได้ย้ายไปที่โรงเรียนหาดสำราญวิทยาคม จังหวัดตรัง แล้วจึงย้ายกลับมาที่จังหวัดภูเก็ตอีกครั้ง ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต ในปี พ.ศ.2546 ผอ.สดศรีได้เล่าถึงความเป็นมาของโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ ว่า

“โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต เดิมชื่อโรงเรียนภูเก็ตพิทยาคม เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ต่อมาในปี พ.ศ.2539 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำโครงการจัดตั้งโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ เพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงมีต่อการศึกษา และเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน และเล็งเห็นว่าโรงเรียนภูเก็ตพิทยาคม เป็นโรงเรียนที่มีสภาพเหมาะสมจึงได้เปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนภูเก็ตพิทยาคม มาเป็น โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2539 และเปิดโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์อีก 12 แห่งทั่วประเทศตามเขตการศึกษา โดยมีปรัชญาของโรงเรียนร่วมกัน นั่นคือ “รักศักดิ์ศรี มีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานงานพระราชดำริ” ตามโครงการมีเป้าหมายที่จะรับนักเรียนแบบสหศึกษาระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งประเภทประจำและไปกลับ โดยมุ่งหวังให้เป็นโรงเรียนที่มีลักษณะสมบูรณ์ มีความพร้อมทั้งในด้านอาคารเรียน และอาคารประกอบ ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ และเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้เป็นโรงเรียนที่พึงประสงค์ของสังคม และสามารถดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ”


สำหรับผอ.สดศรี ที่เข้ามารับตำแหน่งในระยะเวลาที่โรงเรียนก่อตั้งในระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นช่วงเวลาของการก่อร่างสร้างรูปให้โรงเรียนๆ หนึ่งยืนหยัดเป็นสถานศึกษาที่มีคุณภาพของสังคม ผอ.สดศรีเล่าถึงการบริหารงานโรงเรียนในยุคแรกๆ ว่า “ต้องถือว่าเป็นโชคดีที่ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนท่านก่อนก็เป็นคนภูเก็ต ความเป็นคนภูเก็ตนี้ทำให้ท่านทำงานด้วยความรักของท้องถิ่น ท่านได้วางรากฐานของโรงเรียนไว้ค่อนข้างดีและมั่นคงแล้ว ทั้งในด้านของอาคารสถานที่ และด้านอื่นๆ ในส่วนที่ดิฉันมารับหน้าที่ต่อก็ใช้ความเป็นผู้หญิงเข้ามาเสริมในรายละเอียด มาเพิ่มเติมในเรื่องบุคลการ และเสริมศักยภาพในด้านวิชาการ จังหวัดภูเก็ตนี้ต้องยอมรับว่าพ่อแม่ผู้ปกครองมีความพร้อมสูงในการสนับสนุนด้านการศึกษาของบุตรหลาน ดิฉันในฐานะผู้บริหารสถานศึกษาเพียงแต่มาพัฒนาศักยภาพด้านวิชาการ และทำอย่างไรให้เด็กอยู่ในโรงเรียนแล้วมีความสุข มีความรู้ เมื่อจบแล้วสามารถศึกษาต่อ และประกอบอาชีพได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญด้านอื่นๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้โรงเรียนเรามีความเข้มแข็งขึ้นและก้าวไปได้เร็วในทุกๆ เรื่อง นั่นคือผู้ปกครองที่ให้ความร่วมมือสนับสนุนด้านการศึกษา และบุคลากรครูของโรงเรียนเรา ซึ่งแต่ละท่านสั่งสมความรู้และประสบการณ์มาอย่างเต็มที่ ฉะนั้นเมื่อได้รับการกระตุ้นเรื่องใดก็สามารถร่วมมือกันผลักดันผลงานออกมาได้ ทำให้การขับเคลื่อนโรงเรียนเป็นไปได้ด้วยดี โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ เราเพิ่งจะเข้าสู่ปีที่ 10 แต่ปัจจุบันโรงเรียนได้รับการยอมรับจากสังคมรอบข้างค่อนข้างสูง เหตุผลเพราะว่าเราใช้ลักษณะของการประสานและดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เน้นการเปิดใจระหว่างครูกับผู้ปกครองให้มาก อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น เพราะเราถือว่าความคิดเห็นของนักเรียนเป็นบรรทัดฐานในการพัฒนา นักเรียนชอบอะไร สนใจอยากเรียนรู้อะไร หากโรงเรียนยังขาดสิ่งนั้น ขอให้นักเรียนนำเสนอมา ยกตัวอย่างเช่น มีนักเรียนคนหนึ่งเขาสนใจกิจกรรมหมากล้อม จึงเข้ามาปรึกษาว่าอยากจะเปิดชุมนุมหมากล้อมขึ้นในโรงเรียน โดยส่วนตัวดิฉันเองก็ไม่รู้จักว่าหมากล้อมเล่นอย่างไร แต่เมื่อนักเรียนเข้ามาขอคำปรึกษา เราก็เปิดโอกาสให้เขาหากว่าเขามีความพร้อม แล้วพวกครูก็พร้อมจะเรียนรู้ไปด้วยกัน ปัจจุบันนี้ชุมนุมหมากล้อมของโรงเรียนเรากลายเป็นจุดเริ่มต้นชมรมหมากล้อมในจังหวัดภูเก็ต กีฬาหมากล้อมก็กลายเป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่แข่งขันกันในกีฬาเยาวชนด้วย แล้วนักเรียนที่เป็นแกนนำเรื่องนี้ก็ได้ขยายฐานความสนใจเรื่องหมากล้อมไปยังโรงเรียนอื่นๆ ทั้งระดับประถมและมัธยม สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่เราไม่ปิดกั้นนักเรียนในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านดนตรีและกีฬา ผู้บริหารจะต้องเปิดใจกว้าง และประสานสัมพันธ์กับผู้ปกครองอยู่ตลอดเวลา ต้องทันต่อกระแสสังคม ต้องเข้าใจว่าเด็กสมัยนี้สนใจอะไร ต้องการอะไร

ในด้านวิชาการ ขณะนี้โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ ได้ดำเนินการโครงการ 3 ภาษา เป็นการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษและภาษาจีนเป็นสื่อการเรียนการสอนวิชาต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ พละศึกษา คือใช้ภาษาในการสอน ในการสื่อสารภายในห้องเรียน แล้ววัดผลจากวิชาดังกล่าว เด็กจะเกิดการเรียนรู้ เกิดทักษะในการฟัง และจะเริ่มพูดได้ นำไปสู่การพัฒนาทักษะในการอ่านและเขียนต่อไป โดยโครงการพิเศษนี้จะเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ปกครองที่มีความพร้อม เป็นทางเลือกทางการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาที่ต้องเปิดทางเลือกทางการศึกษาให้หลากหลาย ภายใต้การสนับสนุนของผู้ปกครอง สำหรับโครงการ 3 ภาษานี้ โรงเรียนจะเปิด 2 ห้องเรียนในปีการศึกษานี้ และตอนนี้ก็เริ่มมีความเข้มแข็งสามารถเปิดสอนในชั้น ม.4 ได้แล้ว”

นอกจากการประสานสัมพันธ์อันดีระหว่างครู นักเรียนและผู้ปกครอง อันเป็นแนวทางเพื่อสร้างความเข้มแข็งของโรงเรียนให้เกิดขึ้นแล้ว การสร้างความมีส่วนร่วมกับสังคม ก็เป็นแนวทางที่ผอ.สดศรีให้ความสำคัญในการบริหารโรงเรียน “การที่โรงเรียนเราตั้งขึ้นมาในจังหวัดภูเก็ตนั้น นอกเหนือจากเพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในด้านการศึกษาแล้ว ก็ถือว่าเราได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาปริมาณสถานศึกษาที่ไม่พอเพียงกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นของจังหวัดภูเก็ต ในช่วงปีแรกๆ ของการก่อตั้งโรงเรียน เราอาจยังไม่เป็นที่รู้จัก ยังไม่เป็นที่มั่นใจของผู้ปกครอง แต่ส่วนหนึ่งด้วยชื่อของโรงเรียนก็สามารถการันตีให้ผู้ปกครองเกิดความเชื่อมั่นได้ และเมื่อผู้ปกครองได้เข้ามาสัมผัสได้เห็นการปฏิบัติงานของครูที่ปฏิบัติต่อเด็กในเรื่องการเรียนการสอน ความศรัทธาก็เริ่มเกิดขึ้น บวกกับโรงเรียนพยายามเข้าสู่ชุมชน มีส่วนร่วมกับสังคม จะเห็นว่าโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ เราอยู่ในการสนับสนุนของ 3 องค์กร เราตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครภูเก็ต แต่ขึ้นตรงกับ อบต.วิชิต และได้รับการดูแลจากทาง อบจ.ด้วย ฉะนั้น 3 องค์กรส่วนท้องถิ่นเหล่านี้เป็นองค์กรที่เกื้อหนุนโรงเรียนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะ อบต.วิชิตที่สนับสนุนทั้งงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และบุคลากร เทศบาลฯ จะสนับสนุนเราในเรื่องของแรงงานและเครื่องจักร แนวคิดการจัดกิจกรรมต่างๆ ส่วน อบจ. จะช่วยเหลือเราได้ทุกเรื่องเพราะว่าเป็นองค์กรระดับจังหวัด ฉะนั้นเราถือว่า 3 องค์กรนี้เป็นองค์กรหลักที่สนับสนุนโรงเรียน เราจึงพยายามจะนำนักเรียนของเราออกไปมีส่วนร่วมกับองค์กรทั้ง 3 ไม่ว่าองค์กรจะจัดกิจกรรมอะไร เราจะนำนักเรียนไปแสดงความสามารถ หรือในขณะเดียวกัน โรงเรียนเราจัดกิจกรรมอะไรเราจะดึงองค์กรเหล่านี้มามีส่วนร่วม เช่น ดึงเด็กในเขตพื้นที่เข้ามาร่วมกิจกรรม ในส่วนนี้โรงเรียนก็ได้แสดงความสามารถ แสดงศักยภาพของเราให้เป็นที่ประจักษ์ในสังคมด้วย ทั้งในส่วนของวงโยธวาทิต วงดนตรีไทย วงดนตรีสากล หรือนาฏศิลป์ การแสดง เมื่อมีการแข่งขันอะไรเราจะพยายามส่งเด็กของเราเข้าสู่เวทีแข่งขัน เพราะเราถือว่าเวทีเหล่านี้จะทำให้ผู้ปกครองมองเห็น ชุมชนยอมรับ การแข่งขันจะชนะหรือไม่ไม่เป็นไร แต่ต้องทำให้เต็มที่ และต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ ที่ผ่านมานักเรียนของเราได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันในด้านต่างๆ มากมายเป็นที่น่าภาคภูมิใจ ทั้งรางวัลชนะเลิศในด้านภาษา ในด้านกีฬา ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านเอนิเมชั่น ด้านศิลปวัฒนธรรม เรียกว่าเราพัฒนาทักษะของนักเรียนในทุกๆ ด้าน รางวัลและกิจกรรมการมีส่วนร่วมต่างๆ เหล่านี้ก็ทำให้โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของสังคมได้ในระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อความพยายามในการพัฒนาการศึกษา พัฒนาโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ ในด้านต่างๆ ผนวกกัน ทำให้โรงเรียนมีความเข้มแข็ง มีความพร้อม มีผลงานเข้าตาจนได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบ ในโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝันของกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย”

ผอ.สดศรี ยังได้กล่าวถึงหลักในการทำงานบริหารจัดการการศึกษาของท่านว่า “หลักในการทำงานของดิฉันคือ เข้าถึงคน เข้าถึงงาน ไม่อำพรางความรู้ สู้ทุกรูปแบบ ไม่แปลกแยกชุมชน ตื่นตนอยู่เสมอ และชื่นชมให้กำลังใจ สำหรับการเข้าถึงคน คือต้องให้ความเข้าใจเพื่อนร่วม มอบหมายงานให้ตรงกับความสามารถ เข้าถึงงานคือมีความเข้าใจในงาน ในขณะเดียวกันคือไม่อำพรางความรู้ของเรา เราต้องหาความรู้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ สู้ทุกรูปแบบ ไม่แปลกแยกชุมชน คือสู้ทุกงานไม่ว่าจะเป็นเชิงวิชาการ หรือว่างานชุมชน ตื่นตนอยู่เสมอก็คือเราต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และต้องชื่นชมให้กำลังใจกับเพื่อนร่วมงาน”

ในฐานะของผู้ที่ทำงานคลุกคลีกับวงการการศึกษามาเป็นเวลานาน ผอ.สดศรีทิ้งท้ายด้วยการแสดงความคิดเห็นต่อระบบการศึกษาของจังหวัดภูเก็ตว่า “จังหวัดภูเก็ตนี้เป็นจังหวัดที่เปิดกว้างทางการศึกษา ผู้ปกครองสนับสนุนบุตรหลานเรื่องการศึกษามาเป็นเวลานานแล้ว และเมื่อจังหวัดเราเติบโตเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก โอกาสทางการศึกษาจึงยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เพราะเด็กมองเห็นแนวทางอาชีพที่จะรองรับเมื่อจบการศึกษาแล้ว เรามีมหาวิทยาลัยถึง 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และยังมีวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่มีความเข้มแข็ง เมื่อเด็กจบจากมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะมีทางเลือกอย่างหลากหลาย อีกทั้งยังมีระบบการแนะแนวที่ถือว่าเข้มแข็ง ชุมชนก็ให้การสนับสนุน ฉะนั้นตรงนี้เด็กในจังหวัดภูเก็ตก็ถือว่าโชคดีมีโอกาสเพราะทุกคนมีความเข้าใจเรื่องการศึกษา ว่าการศึกษาไม่เพียงแค่การเรียนรู้ แต่ต้องใช้การศึกษา ใช้การเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิผลด้วย ต้องถือว่าการศึกษาของจังหวัดภูเก็ตมีความเข้มแข็ง และมีโอกาสเติบโตไปได้อีกไกลทีเดียว”

:: บทความนี้เคยถูกตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ทองหลังพระ" ของ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เมื่อเดือนมีนาคม2550 ::
บทความ โดย ชุติมา กิตติธรกุล

ไม่มีความคิดเห็น:

เรื่องดีๆ ล่าสุด