หมอเติม ปจันทบุตร หมอแผนโบราณผู้สืบสานการแพทย์แผนไทย
กลิ่นยาสมุนไพรหอมแบบไทยๆ โชยแตะจมูกทันทีเมื่อก้าวเข้ามาสู่คลินิกแพทย์แผนโบราณริมถนนเทพกระษัตรีช่วงตำบลเกาะแก้วแห่งนี้ ไม่ใช่ด้วยความเจ็บป่วยอะไรหรอก ที่ทำให้เรามาถึงที่นี่ หากแต่เพราะมีนัดกับทองหลังพระประจำฉบับนี้ หมอเติม หรือ หมอบุญเติม ปจันทบุตร ชื่อนี้อาจเป็นที่รู้จักคุ้นหูของคนภูเก็ตมาช้านาน ในบทบาทของหมอแผนโบราณที่ตรวจรักษาคนไข้มาร่วม 50 ปี วันนี้ของหมอเติมวัย 75 ยังคงสวมเสื้อสีขาวทำงานตรวจคนไข้ด้วยแนวทางอันเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่สืบสานกันมารุ่นต่อรุ่น ท่ามกลางกระแสอันถาโถมของวิทยาการที่ก้าวล้ำนำสมัย หมอเติมกับการแพทย์แผนไทย ยืนหยัดอยู่ได้อย่างไร การพูดคุยกันในวันนี้มีคำตอบ
คลินิกแพทย์แผนโบราณของหมอเติมนั้น ปัจจุบันเปิดให้บริการถึง 3 สาขา แห่งที่หนึ่งอยู่บนถนนดีบุกซึ่งเป็นคลินิกดั้งเดิมที่เราเห็นกันมานาน แห่งที่สองอยู่บนถนนสุรินทร์ และแห่งที่สามคือที่นี่ บนถนนเทพกระษัตรี ตำบลเกาะแก้ว ซึ่งปัจจุบันหมอเติมจะประจำอยู่ที่นี่เป็นส่วนใหญ่ ส่วนอีก 2 สาขาในเมืองนั้น มีลูกและหลานสาวเป็นหมอประจำช่วยกันดูแลอยู่
หมอเติมเล่าถึงที่มาของความรู้วิชาการแพทย์แผนโบราณของท่านว่า “พ่อเป็นผู้สอนให้ เพราะว่าบ้านผมเป็นหมอแผนโบราณกันมาตั้งแต่ต้นตระกูล ปู่ย่าตายายถ่ายทอดกันมาไม่รู้กี่รุ่นกี่ร้อยปีแล้ว มีลูกสอนลูกมีหลานสอนหลาน มีอุดมการณ์ให้สืบทอดรักษา พ่อผมชื่อหมอเอี่ยม ปจันทบุตร ส่วนแม่ชื่อนางรุ่ง ปจันทบุตร บ้านเดิมอยู่ที่บ้านราไวย์ ตอนผมอายุได้ราว 5 – 6 ปี จึงย้ายครอบครัวมาเปิดร้านที่ถนนดีบุก มาอยู่ในเมืองก็ได้เข้าเรียนโรงเรียนปลูกปัญญา จากนั้นก็เรียนต่อที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย พอเรียนจบผมมีความคิดอยากจะเรียนต่อ แต่ว่าฐานะการเงินของทางบ้านไม่พร้อม พ่อก็อายุมากแล้ว แต่ท่านก็บอกว่าถ้าผมอยากเรียนต่อพ่อจะขายสมบัติส่งให้เรียน แกพูดคำนี่ผมก็เกิดความสงสาร จึงตกลงยกเลิกความคิดที่จะไปเรียนต่อ ที่จริงผมวางแผนไว้แล้วว่าถ้าพ่อไม่ให้เรียนผมจะหนี แต่ปรากฏว่าท่านก็ไม่ได้บังคับ ผมก็เลยใจอ่อน”
แล้วหมอตั้งใจอยากจะไปเรียนต่ออะไร? เราถามแทรกขึ้นมา แล้วก็ได้รับคำตอบที่ผิดคาด “ผมอยากไปเรียนนายร้อย” หมอเติมตอบด้วยรอยยิ้ม “คนละทาง คนละเรื่องกับหมอแผนโบราณเลยนะ ผมทำงานช่วยพ่อภายในร้าน เติบโตคลุกคลีมากับการแพทย์แผนโบราณก็จริงแต่ตอนนั้นผมมองว่าแพทย์แผนโบราณคงจะไปไม่รอด คงจะสู้แพทย์แผนปัจจุบันไม่ได้ ผมเลยคิดว่าเรียนไปทำไปคงจะไม่มีประโยชน์อะไร แต่ก็เพราะความสงสารพ่อจึงยอมตามใจท่าน ตอนนั้นคิดว่าช่วยท่านทำไปพลางๆ ก่อนจนกว่าท่านตาย แล้วเราก็ค่อยตั้งต้นชีวิตใหม่ แต่เมื่อหันหน้าเข้ามาทำงาน จากประสบการณ์ จากการเห็นที่พ่อทำงาน แล้วก็คงมีอะไรดลบันดาลให้เราเป็นไปในทางนี้ หลังจากจบ ม.6 ผมก็ไปขอเข้าสอบแพทย์แผนไทยจากกระทรวงสาธารณสุข ไปสมัครเรียนที่วัดโพธิ์หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แล้วในปี พ.ศ.2500 ก็สอบได้ใบประกาศนียบัตรสาขาเภสัชกรรมแผนโบราณ และปี พ.ศ.2501 ก็สอบได้ประกาศนียบัตรสาขาเวชกรรมแผนโบราณ ก็ได้เริ่มทำงานตรวจรักษาคนไข้ แต่หลังจากผมสอบได้เพียงไม่กี่ปีพ่อก็เสียชีวิตลง”
แม้พ่อซึ่งเป็นครูคนแรกและเป็นผู้ชักนำให้หมอเติมยึดอาชีพหมอแผนโบราณจะสิ้นชีวิตลงแล้ว แต่หมอเติมก็ยังคงยึดมั่นในอาชีพนี้ไม่เปลี่ยนแปลง “หลังจากที่ได้เปิดคลินิกตรวจคนไข้ โดยเริ่มเปิดคลินิกบนถนนกระบี่ ก่อนที่จะย้ายมาที่ถนนดีบุก ผมก็พยายามหาความรู้ต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อมาพัฒนาการทำงานจากสิ่งเดิมๆ ที่พ่อทำอยู่ ใช้ความคิด ใช้มันสมอง และแรงกำลังของวัยหนุ่มอย่างเต็มที่ มีจิตมุ่งหมายในตอนนั้นคือต้องทำให้ดีที่สุด เพราะเพื่อนร่วมชั้นของผมเขาก็ไปสอบบรรจุข้าราการ ไปเรียนนายร้อยกันทั้งนั้น เราคิดว่าต้องอย่าให้ด้อยกว่าเพื่อนเขา ถ้าเรามาทางนี้แล้วก็ต้องทำให้ดีเท่าที่จะดีได้ ทีหลังมันก็เกิดความรักในอาชีพนี้ขึ้นมา”
หมอเติมเล่าถึงกระบวนการในการตรวจรักษาคนไข้ตามแนวทางแพทย์แผนโบราณว่า “หลักการตรวจของแผนโบราณจะไม่เหมือนของแผนปัจจุบัน เราถือหลักการตรวจจากการวินิจฉัยโรค จากการซักถามพูดคุยกับคนไข้ เราต้องสอบถามประวัติของคนไข้ว่าเขาเป็นอะไร อาการเป็นอย่างไรบ้าง คนไข้เขาจะเล่าให้เราฟัง อันไหนที่เราไม่เข้าใจต้องสอบถามลึกลงไป แล้วจึงมาวินิจฉัยว่าคนไข้เป็นโรคอะไร เกิดจากอะไร การวินิจฉัยโรคนี้มีความสำคัญมากในการรักษาแผนโบราณ หมอจะรักษาได้ตรงจุด จ่ายยาที่เหมาะสมหรือไม่ เห็นผลเร็วหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำนี่เอง เพราะเราไม่มีอุปกรณ์เครื่องมือที่จะช่วยในการตรวจ ไม่มีผลเลือด ไม่มีเครื่องเอ็กซเรย์ เราใช้เพียงการจับชีพจร สังเกตสีหน้าท่าทางของคนไข้ ต้องสังเกตหมดคือ ตาดู หูฟัง มือสัมผัส คือหลักของหมอแผนโบราณ ตาดูคือต้องสังเกตลักษณะภายนอกของคนไข้ ดูสีหน้า ดวงตา ดูผิวพรรณ หูฟังคือฟังลักษณะการเต้นของชีพจร ฟังเสียงคนไข้ มือสัมผัส เช่นสัมผัสดูว่าคนไข้ตัวร้อนไม่ร้อน ไข้แค่ไหน สำหรับโรคที่แพทย์แผนโบราณสามารถรักษาได้นั้นเป็นโรคที่ไม่มีความซับซ้อน เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติภายในร่างกาย ไม่ใช่โรคที่เกิดจากสารพิษหรือการติดเชื้อ แต่ก็มียาที่สามารถช่วยบรรเทาอาการเหล่านั้นได้ จากนั้นเราต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่ารายนี้ควรจะรักษาแบบไหน ควรจะกินยาหรือไม่ต้องกินยา โดยยาที่ใช้ก็เป็นยาสมุนไพรซึ่งมาจากธรรมชาติ อันไหนที่เรารักษากับยาไม่ได้เราก็ใช้วิธีอื่น เช่น การออกกำลังกาย จิตวิทยา แนะนำเขาสั่งสอนเขา พูดในทางที่ให้เขาผ่อนคลาย สมมุติว่าคนนี้อ่อนแอไม่แข็งแรง เป็นหวัดแพ้อากาศบ่อย เราก็แนะนำให้เขาไปออกกำลังกาย คนนี้เป็นโรคเกี่ยวกับความเครียด คิดมาก ปัญหามาก เราก็รับฟังและให้คำแนะนำเขาเท่าที่จะสามารถให้ได้ ผมคิดว่าหมอต้องรู้หลายอย่าง ไม่ใช่เพียงแต่รู้เรื่องยาอย่างเดียวแล้วจะมารักษาโรคได้ เราต้องศึกษาให้รอบด้าน ต้องมีจิตวิทยากับคนไข้ เมื่อเขาเดือดร้อนมา บางคนอยากจะเล่าอยากจะพูด แต่เล่ากับใครไม่ได้ ก็ต้องมาเล่ากับหมอ ผมว่าหมอสมัยนี้ที่ไม่ได้รับฟังคนไข้นั้นไม่ถูกต้อง โรคไหนรักษาได้เราก็รักษา โรคไหนที่รักษาไม่ได้เราก็แนะนำให้เขารักษาวิธีอื่น ต้องซื่อสัตย์กับคนไข้ พูดความจริงไม่ปิดบัง ไม่ใช่รักษาไม่ได้แล้วดันทุรังรักษาไปเพราะอยากได้เงินแบบนั้นไม่ได้ เท่าที่ผมตรวจรักษาคนไข้มา ผมกล้าพูดได้เต็มปากว่ายังไม่เคยออกใบมรณะบัตรให้ใคร และบัญชีลูกหนี้เจ้าหนี้ผมก็ไม่มี เพราะว่าคนไข้ที่ไม่มีเงินเราก็ไม่เอา สมมุติว่าค่ายา 20 บาท คนไข้มีเงินเพียง 10 บาท เราก็เอาแค่ 10 บาท แล้วก็จะไม่มีการลงบัญชี ไม่จดจำไว้เลย ถ้าครั้งหน้าเขามาเราก็จะไม่ทวง ให้ก็ได้ไม่ให้ก็ได้ ตรงนี้ผมว่าสำคัญ ผมปฏิบัติอย่างนี้มานานแล้ว ตระกูลผมก็ปฏิบัติอย่างนี้ คือเป็นการช่วยเหลือกัน ผมอยากจะให้หมอไทยทำตรงนี้ ควรจะช่วยเหลือคนที่ยากไร้ยากจน จิตใจเราต้องมีศีลธรรม มีคุณธรรมในการที่จะรักษาคนไข้ เราต้องรักคนไข้เหมือนกับญาติพี่น้องของเรา ไม่ใช่เรามองคนไข้เป็นเงินเป็นทอง เขาเข้ามาในร้านแล้วก็ต้องหวังเอาเงินจากเขา ข้อนี้พ่อผมสอนมาตลอด เป็นหลักอย่างหนึ่งที่หมอแผนโบราณทุกคนควรจะยึดถือ นอกเหนือจากวิชาความรู้ที่เล่าเรียนกันมา และด้วยจิตเมตตานี้อาจจะส่งผลให้เราอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ ผมคิดอย่างนั้นนะ”
ถึงกระนั้น ที่ผ่านมาการแพทย์แผนโบราณก็ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก หมอเติมบอกเล่าถึงความนิยมการแพทย์แผนโบราณตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่า “ต้องยอมรับว่าการแพทย์แผนโบราณไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่นัก และส่วนใหญ่คนที่นิยมมาตรวจรักษากับเราก็มักเป็นคนที่มีฐานะไม่ค่อยดี เขาอาจจะสู้ราคาค่ารักษากับแผนปัจจุบันไม่ได้ จึงหันมาพึ่งวิธีแผนโบราณซึ่งค่าใช้จ่ายอาจจะถูกกว่า บางคนกลัวว่าการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันอาจเกิดสารตกค้างและผลข้างเคียงจึงสนใจการรักษาแผนโบราณซึ่งเป็นวิธีตามธรรมชาติ หรือบางคนผิดหวังจากการรักษาแผนปัจจุบันมาแล้วก็มองแผนโบราณเป็นทางออกสุดท้าย บางคนจนหนทางแล้วจึงหันมาหาเรา ซึ่งเขาจะให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างเต็มที่ แต่บางคนรักษาแบบเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ให้กินยาก็ไม่กินตามหมอสั่ง อันนี้จะไม่เกิดผลดี เป็นการเสียเวลาและเสียเงินเปล่า หมออยากบอกไว้เลยว่าคนที่จะมารักษากับหมอต้องมีความเชื่อต้องให้ความร่วมมือแล้วการรักษาจึงจะเกิดผลดี”
แม้จะยอมรับว่าที่ผ่านมาการแพทย์แผนโบราณจะเป็นที่นิยมไม่มากนัก แต่ก็น่าดีใจที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ กระแสการแพทย์ทางเลือก การแพทย์แผนไทยกลับได้รับความนิยมแพร่หลายขึ้น หมอเติมบอกถึงสาเหตุที่การแพทย์แผนโบราณกลับส่องแสงสว่างขึ้นมาว่า “ที่ผ่านมาแพทย์แผนปัจจุบันเป็นที่นิยมส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ส่วนการแพทย์แผนโบราณนั้นรัฐบาลไม่ค่อยให้การสนับสนุน ถึงขั้นคุมกำเนิดหมอแผนโบราณเลยก็ว่าได้ เป็นความลำบากที่เราต้องประสบและต้องอดทนเรื่อยมา กฎหมายเกี่ยวกับการแพทย์แผนโบราณยังเป็นกฎหมายเก่าแม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม ทำให้หมอแผนโบราณมีข้อจำกัดมากมายในการทำงาน แต่มาช่วงหลังๆ ราว 10 กว่าปีนี้ รัฐบาลได้หันมาให้การสนับสนุนแพทย์แผนโบราณมากขึ้น เนื่องจากพบปัญหาที่ประเทศเราต้องเสียดุลการค้าต่างประเทศ และพบว่าการแพทย์แผนไทยเรานี้เป็นการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศโดยตรงเลย เป็นแนวทางช่วยเหลือคนยากคนจนในด้านสุขภาพอนามัยโดยไม่จำเป็นต้องใช้ของแพง และเกิดจากการที่ประชาชนเล็งเห็นคุณค่าของการแพทย์แผนไทยว่ามีผลที่ดี มีความน่าเชื่อถือ จึงมีการถ่ายทอดความรู้ในวงกว้าง มีคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจศึกษาเรื่องนี้มากขึ้น จนถึงกับมีการเปิดโรงเรียนสอน มีการเปิดโรงพยาบาลเฉพาะ เหล่านี้ก็ทำให้การแพทย์แผนไทยได้ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมา ก่อนจะล้มหายตายจากไป”
ในส่วนของการถ่ายทอดความรู้ด้านแพทย์แผนไทยนั้น หมอเติมก็ได้เป็นตัวจักรสำคัญในการรวมกลุ่มจัดตั้ง “ชมรมแพทย์แผนโบราณและสมุนไพร” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2525 ที่วัดนาคา เพื่อสอนวิชาแพทย์แผนไทยให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาเรียน โดยหมอเติมเป็นประธานชมรมคนแรก และได้เป็นครูสอนวิชาแพทย์แผนโบราณด้วยตัวเอง ปัจจุบันชมรมได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตทำให้มีการทำงานที่มีมาตรฐานเป็นแบบแผนขึ้น และพัฒนาเป็น “สมาคมแพทย์แผนไทยจังหวัดภูเก็ต” ซึ่งยังคงเผยแพร่ความรู้ด้านนี้แก่ผู้ที่สนใจเช่นเดิม “ในช่วงแรกเราก่อตั้งสมาคมขึ้นมาโดยมีสมาชิกไม่กี่คน ค่าใช้จ่ายอะไรต่างๆ บางครั้งก็ต้องควักกระเป๋ากันเอง เราเปิดสอนให้ความรู้เรื่องแพทย์แผนโบราณ แต่เดิมนั้นความรู้นี้จะถ่ายทอดกันแต่ภายในครอบครัว ไม่สอนให้คนนอก แต่ผมเล็งเห็นว่าเราน่าจะถ่ายทอดความรู้นี้ให้เป็นที่กว้างขวาง จะได้ช่วยกันสืบสาน ผมจึงได้เป็นครูสอนที่ชมรมด้วยตัวเอง ถ่ายทอดความรู้ทั้งหมดโดยไม่ปิดบัง ส่วนค่าเล่าเรียนนั้นก็มีเพียงกระปุกใบหนึ่งตั้งไว้ ใครมีเท่าไหร่ก็มาหยอดไว้ ไม่มีก็ไม่ต้องหยอดไม่ได้บังคับ ปัจจุบันสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกให้ใช้ห้องประชุมเพื่อให้สมาคมฯ ทำการเรียนการสอนได้สะดวกสบายขึ้น ผู้ที่มาเรียนก็มีคนรุ่นใหม่ๆ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่มีคนสนใจการแพทย์แผนโบราณมากขึ้น”
และคนรุ่นใหม่หนึ่งในนั้นก็หมายรวมถึงลูกหลานของหมอเติมที่หันมาศึกษาการแพทย์แผนไทยอย่างจริงจัง และยึดอาชีพนี้ในการเลี้ยงชีพด้วยความภูมิใจ “ลูกหลานของผมทุกคนผมได้ถ่ายทอดความรู้ให้อย่างเต็มที่ ตอนนี้เขาก็ได้ช่วยกันดูแลคลินิกสาขาในเมืองอยู่ คลินิกที่ถนนดีบุกมีลูกสะใภ้ซึ่งจบการแพทย์แผนไทยสาขาเภสัชกรรมไทย เวชกรรมไทย และผดุงครรภ์ไทย ดูแลอยู่ ส่วนคลินิกที่ถนนสุรินทร์มีหลานสาวดูแลอยู่ เขาจบการแพทย์แผนไทยสาขาเภสัชกรรมไทย เวชกรรมไทย และศึกษาการผลิตยาในรูปแบบยาน้ำ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาตรีสาขาการแพทย์แผนไทย จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หลานสาวผมคนนี้ตอนเขาตัดสินใจเลือกวิชาที่จะเรียนต่อ ผมก็เรียกเขามาชี้แนะให้เขาเลือกเรียนแพทย์แผนไทย เพราะเป็นงานที่เราเป็นนายตัวเอง ไม่ต้องไปเป็นลูกน้องใคร ตื่นเช้าคนไข้ก็มาให้เรารักษาถึงบ้าน เขาเอาเงินมาให้เราแล้วก็ยังยกมือไหว้เราเสียอีก เป็นอาชีพที่มีเกียรติ หลานก็เชื่อฟัง แต่ที่ผมภูมิใจที่สุดคือลูกชาย เมื่อก่อนเขาทำงานค้าขาย เมื่อไม่ค่อยประสบความสำเร็จเขาก็เข้ามาหาผม ผมได้ให้ข้อคิดว่า งานของพ่อนั้นทำได้มา 100 บาท ก็ยังได้เก็บซัก 80 บาท แต่งานของลูก ทำได้ 10,000 บาท แต่ไม่เหลือเก็บเลย เขาจึงหันมาศึกษาเพิ่มเติมด้านการแพทย์แผนไทย ตอนนี้ก็ได้มาช่วยงานกัน มีรายได้มากกว่าตอนที่เขาทำการค้าเสียอีก”
การทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของหมอแผนโบราณอย่างหมอเติมในยุคสมัยที่วิทยาการทางการแพทย์แผนปัจจุบันก้าวล้ำนำหน้าไปทุกวัน เปรียบไปก็เหมือนการเดินอยู่กลางถนนที่เต็มไปด้วยยานยนต์ที่ทันสมัย แต่หมอเติมก็ยืนยันว่าแม้เขาจะเดิน แต่ก็เป็นการเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่เดินอยู่กับที่หรือเดินถอยหลัง หมอเติมบอกกล่าวถึงความรู้สึกที่ได้ยึดอาชีพนี้ในการเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัวไปพร้อมกับการได้ช่วยเหลือผู้อื่นว่า “ผมมีความภูมิใจนะ ภูมิใจแล้วก็ดีใจที่เราเป็นหมอแผนโบราณ ผมพูดกับเพื่อนๆ อยู่บ่อยๆ ว่าถ้าผมไปเรียนนายร้อยออกมาเป็นตำรวจอย่างเพื่อนรุ่นเดียวกัน บางทีตอนนี้ผมอาจจะทำอะไรไม่ได้แล้ว ต้องนอนแบมือขอเงินลูกแล้ว แต่ตอนนี้ผมยังไม่เกษียณ แม้จะอายุ 75 แล้ว ผมดีใจที่ผมยังหาเงินได้ ยังแข็งแรง และยังได้ถ่ายทอดความรู้สืบทอดลูกสืบทอดหลาน ผมภูมิใจที่ยังได้ใส่เสื้อตัวนี้ มีความสุขที่ยังได้ตรวจคนไข้ เป็นความภูมิใจในสิ่งที่เราทำ”
:: บทความนี้เคยถูกตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ทองหลังพระ" ของ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เมื่อเดือนเมษายน 2550 ::
บทความ โดย ชุติมา กิตติธรกุล
1 ความคิดเห็น:
ร้านหมอเติมอยู่แถวไหนค่ะ
แสดงความคิดเห็น