โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต สนับสนุนให้เกิดเรื่องราวดีๆ ขึ้นในชุมชน ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่น กิจกรรมสาธารณะ ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ และทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม รวมทั้งการส่งเสริมกาเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ให้กับเจ้าหน้าที่, การดูแลสุขภาพ และในบล็อก StoryDD แห่งนี้ ได้รวบรวมบทความในโครงการส่งเสริมนักเขียนท้องถิ่น ให้สร้างผลงานเขียนเชิดชูบุคคล หรือหน่วยงานที่ทำความดี ให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจกับผู้อ่าน เพื่อร่วมสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนต่อไป

๒๑ ก.พ. ๒๕๕๑

:: ลูกชิ้นเก็จมุกดา ลูกชิ้นปลาโกอินเตอร์


คุณประทีป กุละปาลานนท์ ลูกชิ้นเก็จมุกดา ลูกชิ้นปลาโกอินเตอร์

ในเลมีปลา บนเกาะมีคน
คนออกเล ไปจับปลา
ใส่เรือมา ทำลูกชิ้น


อ่านบทกลอนที่ติดไว้ภายในร้านจบปุ๊บ ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาจานโตก็มาเสิร์ฟตรงหน้าปั๊บ สูดควันกรุ่นกระตุ้นน้ำย่อย แล้วจึงตักน้ำซุปชิมรสชาติก่อนคีบลูกชิ้นปลาลูกกลมโต ขาวยั่วยวนชวนให้กัดส่งเข้าปาก หืม...นุ่ม แน่น เคี้ยวเต็มปาก รสชาติกลมกล่อมจริงๆ เดี๋ยวก่อนคุณผู้อ่าน ทองหลังพระฉบับนี้ไม่ได้เบนเข็มไปเป็นคอลัมน์อาหารประมาณเชลล์ชวนชิม หรือแม่ช้อยนางรำแต่อย่างไร เพียงแต่เราอยากพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นภูเก็ต ที่ได้รับรางวัลต่างๆ มากมายทั้งโอท็อประดับห้าดาว ทั้งรางวัล Prime Minister Awards ปี 2005 แถมยังเป็นเมนูเสิร์ฟบนเครื่องของสายการบินไทย TG406 ของดีเมนูเด็ดนี้ไม่ใช่อาหารพิสดารที่ไหน แต่เป็นลูกชิ้นปลาเก็จมุกดา ลูกชิ้นปลาที่มีต้นกำเนิดบนเกาะภูเก็ต ลูกชิ้นปลาที่กำลังโกอินเตอร์

และคงไม่มีใครเล่าถึงลูกชิ้นปลาเก็จมุกดาได้ดีเท่ากับต้นตำรับ คุณประทีป กุละปาลานนท์ เจ้าของธุรกิจ ผู้คิดค้นลูกชิ้นปลาเก็จมุกดา “เดิมทีในภูเก็ตก็มีการทำลูกชิ้นปลาอยู่มากมายหลายเจ้า แต่ที่ทำในแง่อุตสาหกรรมให้ได้มาตรฐานนี่ยังไม่มี ที่จริงในจังหวัดภูเก็ตมีสินค้าผลิตภัณฑ์เยอะแยะมากมายเลยที่น่าจะทำเป็นอุตสาหกรรม นอกจากลูกชิ้นปลาแล้วก็มีทั้ง อาหารพื้นเมือง ขนมพื้นเมืองต่างๆ สำหรับผม ผมเลือกที่จะทำลูกชิ้นปลาเพราะมองเห็นความเป็นไปได้ เป็นสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ มีความรู้ มีความถนัด แล้วก็มีวัตถุดิบพร้อม คิดว่าสู้คนอื่นได้ แต่เราจะทำอย่างไรให้มันเป็นอุตสาหกรรม และต้องมีความแตกต่างจากตลาดที่มีอยู่ และทำแล้วไม่ใช่ขายเฉพาะแต่ในภูเก็ต แต่ต้องขายให้ได้ทั่วประเทศ ทั่วโลก”

นั่นคือวิสัยทัศน์ของชายผู้นี้ ผู้ผ่านประสบการณ์การเป็นเจ้าของบริษัทซอฟต์แวร์ในประเทศอเมริกามาร่วม 10 ปี เขาเล่าถึงตัวเองให้เราพอรู้จักชีวิตและประสบการณ์ที่ผ่านมาคร่าวๆ ว่า “หลังจากจบการศึกษาที่จุฬาลงกรณ์ฯ ผมก็ไปทำงานอยู่ที่อเมริกา ตอนนั้นไปเป็นพวกโรบินฮู้ด ไปทำงานด้านซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมสนใจศึกษามานานแล้ว เปิดบริษัทเองรายได้ดีมากเดือนหนึ่งเป็นหมื่นเหรียญ ทั้งค่าเช่า ค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ หลังจากนั้นพอดีเป็นช่วงรัฐบาลนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ เขาก็มีโครงการดึงนักวิชาการด้านต่างๆ กลับมาพัฒนาประเทศในรูปแบบต่างๆ เขาก็ส่งคนไปติดต่อขอร่วมทุนกับบริษัทผมโดยการแลกหุ้นกัน เอาหุ้นบริษัทผมแลกกับหุ้นบริษัทที่เมืองไทย โชคร้ายเจอช่วงวิกฤติเศรษฐกิจค่าเงินบาทลอยตัว บริษัทผมล้มละลาย จะกลับไปตั้งหลักที่อเมริกาก็ไม่ได้แล้ว ตอนนั้นแต่งงานมีครอบครัวกับคุณสุดใจ กุละปาลานนท์ ซึ่งเป็นชาวภูเก็ต ก็เลยตัดสินใจกลับมาอยู่ที่ภูเก็ต มีทุนเหลืออยู่บ้างก็มาเปิดร้านอาหารแต่ก็ไม่สำเร็จต้องปิดไป แต่ก็ได้ประสบการณ์จากการทำร้านอาหาร จากนั้นก็เลยหันมาเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว ผลิตลูกชิ้นโดยมีความตั้งใจอย่างที่ได้บอกไปแล้ว คือต้องการทำผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างเพื่อส่งขายไปทั่วโลก ให้ผู้บริโภคนึกถึงลูกชิ้นปลา ก็ต้องนึกถึงเก็จมุกดาเท่านั้น”



และสิ่งหนึ่งที่จะสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ แน่นอนนั่นคือรสชาติ หากใครเคยชิมลูกชิ้นปลาเก็จมุกดาย่อมทราบดีว่ามีเอกลักษณ์ที่ความนุ่มแน่น ลูกโตเคี้ยวเต็มปาก เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนเจ้าอื่น หลายคนอาจคิดว่าสูตรการปรุงน่าจะถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่แท้จริงแล้วคุณประทีปผู้นี้เป็นผู้คิดสูตรเองทั้งหมด โดยอาศัยวิชาความรู้ด้านเภสัชศาสตร์ ที่สำเร็จการศึกษามาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “เดิมทีลูกชิ้นปลาเจ้าอื่นๆ เขามีสูตรกันอย่างไรผมก็ไม่ทราบ แต่สำหรับของผมนั้นผมใช้ความรู้ด้านเภสัชเข้ามาวิเคราะห์ดูก็พบว่า เราสามารถจะทำลูกชิ้นโดยที่ไม่ต้องใส่สารอย่างอื่นเลย ใช้เพียงเนื้อปลา น้ำ และเกลือเท่านั้น เพียง 3 อย่างนี้ที่เป็นส่วนประกอบของลูกชิ้นเก็จมุกดาไม่มีสารเคมีใดๆ เจือปน แล้วก็นำมาทำเกิดการรวมตัวกันโดยใช้เทคนิคพื้นฐานเหมือนวิธีการทำครีม เช่น ครีมทาหน้าทั่วไป เป็นวิธีการที่ทำอย่างไรให้น้ำมันในตัวปลา คือ โอเมก้า3 หรือ unsaturated fat กับน้ำเข้ากันได้ แล้วก็ผสมเกลือเข้าไป ทำให้เกิดการรวมตัวกันเป็นก้อน ซึ่งกระบวนการนี้จะต้องมีการลดอุณหภูมิและเติมเกลือในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะได้ลูกชิ้นปลาที่มีส่วนผสมเพียง 3 อย่าง คือเนื้อปลา น้ำ เกลือ เท่านั้น สูตรของเรามีความแน่นอน ก็เลยตัดสินใจจดสิทธิบัตรไว้เมื่อปี 2548 ทีนี้เราก็ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับวัตถุประสงค์ มีเอกลักษณ์แล้วว่าลูกชิ้นปลาของเราเป็นเนื้อปลาล้วนไม่มีแป้งไม่มีอะไรทั้งสิ้น ผู้บริโภคเหมือนได้เนื้อกินปลาเต็มๆ โดยไม่มีก้างนั่นเอง”

นอกเหนือจากสูตรที่คิดค้นเองแล้ว กรรมวิธีการผลิตก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณประทีปให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง “กรรมวิธีการผลิตเริ่มตั้งแต่การคัดปลา เราใช้ปลากล้วยญี่ปุ่น หรือปลาข้างเหลือง และต้องเป็นปลาที่สด ไม่มีฟลอมารีน ไม่มีสารอื่นๆ เจือปน ไม่อมน้ำ เพราะถ้ามีสารอื่นเจือปน หรืออมน้ำมากก็จะทำให้สูตรการผสมเสีย ตีไม่เป็นเนื้อลูกชิ้นตามที่ต้องการ เพราะทุกอย่างจะทำปฏิกิริยากับเนื้อปลาและเกลือ เมื่อได้ปลาสดมาแล้วจากนั้นเราจะขูดเอาแต่เนื้อปลาล้วนๆ มาผสมน้ำ น้ำที่ใช้ก็ใช้น้ำดื่มที่มีคุณภาพ น้ำก๊อกหรือน้ำผสมคลอรีนจะใช้ไม่ได้ เพราะจะมีสารเคมีไปทำปฏิกิริยากับส่วนผสมอีกเช่นกัน เพื่อความสะอาดมั่นใจได้ เราจึงเลือกใช้น้ำดื่มคุณภาพทุกขั้นตอนการผลิต จากนั้นนำเนื้อปลามาบด ตี ปั้นเป็นลูกให้ได้ขนาดเท่าๆ กัน และมีการตรวจสอบขนาดอีกครั้ง จากนั้นแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืนเพื่อลดความคาวแล้วจึงนำมาต้มให้สุกพร้อมรับประทาน สำหรับคนที่มาทานก๋วยเตี๋ยวที่ร้านจะได้ทานของสดเลย แต่สำหรับการส่งขายตามที่ต่างๆ กระบวนการต่อไปเราต้องนำลูกชิ้นมาแช่แข็ง เนื่องจากเราไม่ได้ตั้งเป้าการขายอยู่เฉพาะแต่ในร้าน หรือในภูเก็ต แต่เราต้องการขายทั่วไป ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็ต้องมาคิดว่าทำอย่างไรให้ปลาที่ไม่ใส่สารกันบูดอยู่ได้นานพอที่จะไปขายได้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก คือถ้าเราไม่ใส่สารกันบูดปลาอะไรก็ต้องเน่าต้องเสีย ลูกชิ้นนี้ก็เหมือนกัน ที่ผ่านมาในช่วง 3 – 4 ปีแรก เราใช้วิธีแพ็คถุงแบบสุญญากาศ คือดูดอากาศออกหมด เพื่อไม่ให้มีเชื้อโรคที่ทำให้อาหารบูดเน่า ลูกชิ้นก็สามารถอยู่ได้นาน 15 วัน ในช่วงแรกเราคิดเครื่องแพ็คขึ้นมาเอง ต้องแพ็คลูกชิ้น 1 ลูกต่อ 1 ถุง เป็นการสิ้นเปลืองถุงมาก แต่เราก็ยอมลงทุน ต่อมาก็ได้เปลี่ยนถุงให้มีคุณภาพดีขึ้น 1 ถุงสามารถแพ็คลูกชิ้นได้ทั้งกิโล ถึงแม้การแพ็คแบบสุญญากาศจะช่วยยืดอายุได้ 15 วัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าลูกชิ้นก็ต้องมีการบูดเน่า ฉะนั้นการที่เราจะส่งสินค้าเข้าไปขายในห้างก็จะมีปัญหา บางทีห้างสั่งซื้อไปเป็นตัน ขายไม่ทันของเสียหมดเราก็เสียหาย ห้างก็เสียหาย ก็เลยมาคิดหาวิธีใหม่ ก็พบวิธีที่เขาใช้กันทางการแพทย์ แล้วปัจจุบันนี้ก็ใช้กันเยอะในวงการอาหารแปรรูปคือการแช่แข็ง การแช่แข็งนี่ไม่ใช่หมายความว่าเอาลูกชิ้นไปแช่ในตู้เย็นให้มันแข็ง แต่ต้องแช่ในระบบที่เรียกว่า IQF หรือ Individual Quick Frozen ก็คือการลดอุณหภูมิให้เร็วที่สุด โดยไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมีเข้าไปในลูกชิ้น วิธีที่ใช้กัน ณ ขณะนี้ที่เป็นเทคโนโลยีล่าสุด ก็คือใช้ไนโตรเจนเหลวพ่นลูกชิ้น ไนโตรเจนนี่ไม่ได้เป็นสารพิษ มีอยู่ทั่วไปในอากาศอยู่แล้ว แล้วก็ไม่ทำปฏิกิริยาใดๆ ทั้งสิ้น แต่ข้อเสียก็คือต้นทุนการผลิตสูงมาก ต่อลูกชิ้น 1 กิโลเราต้องใช้ไนโตรเจนคิดเป็นต้นทุนแล้ว ประมาณ 15 – 40 บาทต่อหนึ่งกิโล เป็นต้นทุนที่ต้องเพิ่มเข้าไปในราคาของลูกชิ้น เพื่อจะทำให้ลูกชิ้นสดทันทีแล้วก็สดตลอดไปเป็นปีๆ พอถึงเวลาก็สามารถนำออกมารับประทานได้ เนื้อเยื่อต่างๆ ก็ยังคงอยู่ ความอร่อยก็ยังคงอยู่ ลูกค้าบางท่านบอกว่าลูกชิ้นแบบแช่แข็งรสชาติดีกว่าแบบสดที่ทานที่ร้านซะอีก และแม้ว่าเราจะใช้วิธีการแช่แข็งแล้วก็ตามแต่การแพ็คแบบสุญญากาศนั้นเราก็ยังใช้อยู่ทั้งๆ ที่เป็นการเพิ่มต้นทุนและเพิ่มระยะเวลาการผลิต แต่เนื่องจากเราต้องการเผื่อเวลาให้ลูกค้าซื้อไปแล้วที่บ้านไม่มีตู้แช่แข็ง คุณก็ยังสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาได้อีก 15 วัน หรือถ้าส่งไปขายตามร้านหรือห้างที่ไม่มีตู้แช่ที่มีคุณภาพ ก็ยังสามารถเก็บลูกชิ้นไว้ขายได้อีกระยะหนึ่ง เราพยายามมอบผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้า”



องค์ความรู้ เทคโนโลยี และความพิถีพิถัน ทั้งหมดถูกนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ แต่สิ่งสำคัญประการต่อมาที่จะทำให้สินค้าที่ดี ขายได้ และขายดี คือกลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งในด้านนี้คุณประทีปก็ลุยเองเช่นกัน “บริษัทเราดูภายนอกก็คือร้านก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเราก็เกิดขึ้นมาจากร้านก๋วยเตี๋ยว แล้วเราก็ทำลูกชิ้น แต่นอกเหนือจากการทำลูกชิ้นขายในร้านแล้ว อย่างที่บอก เราต้องการกระจายผลิตภัณฑ์ของเราทั่วไปทั้งในระดับประเทศและระดับโลก นั่นคือเป้าหมายที่ตั้งไว้”

การนำผลิตภัณฑ์เข้าไปวางขายในห้าง ดูเหมือนจะเป็นก้าวแรกของการกระจายสินค้า แต่ก็ประสบปัญหาพอสมควร คุณประทีปเล่าถึงการทำตลาดช่วงแรกว่า “ช่วงแรกนอกจากผลิตขายในร้าน ขายปลีกแล้ว เราก็ผลิตส่งตามร้านอาหารต่างๆ ในภูเก็ต และติดต่อวางขายในห้างประมาณ 2 แห่ง แรกๆ ก็ไปได้ดี พอลูกชิ้นเริ่มติดตลาด ทางห้างเขาก็ขอเจรจาเลื่อนระยะเวลาการชำระเงิน ทีนี้เนื่องจากเราไม่ใช่ผู้ประกอบการรายใหญ่ พอเจอห้างขอเลื่อนเวลาชำระเงินเป็น 3 เดือน แต่เวลาเราซื้อปลาเราต้องจ่ายสด สภาพคล่องก็ไม่มีอย่างนี้ไม่ไหว ก็เลยเริ่มมองหาตลาดส่งออก ก็เริ่มไปหาตลาดจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้ๆ อย่าง มาเลเซียสิงคโปร์ ก็สามารถไปได้ดี”



พร้อมกันนั้น คุณประทีปก็ได้พัฒนาช่องทางการขาย โดยการเพิ่มสาขาร้านก๋วยเตี๋ยวพร้อมกันไปด้วย โดยการเปิดร้านในห้างสรรพสินค้า ทั้งเซ็นทรัลเฟสติวัลภูเก็ต และห้างบิ๊กซี “การกินลูกชิ้นนี่ บางคนเขาติดว่าต้องกินกับก๋วยเตี๋ยว ถ้าต้องการให้ลูกชิ้นเราติดตลาดเป็นที่นิยมก็เลยต้องขยายร้านก๋วยเตี๋ยวโดยเพิ่มสาขาออกไปในห้าง การทำร้านก๋วยเตี๋ยวเราก็มีการควบคุมคุณภาพ มีการจ้างนักวิทยาศาสตร์อาหารมาตรวจสอบ สุ่มดูความเข้มข้นของน้ำซุป ดูมาตรฐานทุกอย่าง คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้บริโภค ส่วนเรื่องการขายแฟรนไชส์เราก็คิด และเคยพยายามทำแล้วแต่ไม่สำเร็จ อาจเป็นเพราะรีบทำเกินไป เราจึงต้องกลับมาทบทวนใหม่ คือการเปิดแฟรนไชส์นั้นเราต้องทำร้านของเราให้สำเร็จให้ดีซะก่อน แล้วค่อยขยายสาขาออกไป แล้วจึงขายเป็นแฟรนไชส์ คิดว่าในอนาคตน่าจะมีการขายแฟรนไชส์แน่นอน”

สำหรับช่องทางการจำหน่ายภายในประเทศ ในประเทศเพื่อนบ้าน และการขยายสาขาร้านก๋วยเตี๋ยวเพิ่มขึ้นดูเหมือนยังไม่เพียงพอสำหรับการกระจายลูกชิ้นปลาเก็จมุกดา คุณประทีปยังมองเห็นช่องทางที่ไกลและกว้างกว่านั้น “ขณะนี้เรากำลังสร้างโรงงานเพื่อรองรับกำลังการผลิตที่จะเพิ่มมากขึ้น ผมมองว่าลูกชิ้นปลาเก็จมุกดาเรามีศักยภาพเพียงพอที่จะส่งออกไปยังตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะอเมริกาและจีน ที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปออกงาน Thailand Exhibition กับกรมส่งเสริมการส่งออกที่ประเทศจีน มองเห็นช่องทางการตลาดที่ดีมาก เมืองๆ หนึ่งของจีนมีประชากรมากกว่าประเทศเราทั้งประเทศ ถ้าเขาบริโภคลูกชิ้นของเรารับรองว่าผลิตกันไม่ทันแน่ ส่วนอเมริกานั้น ในแต่ละรัฐมีร้านอาหารไทยร่วม 100 ร้าน ถ้าทุกร้านสั่งลูกชิ้นของเราไปเสิร์ฟ เราก็ผลิตกันไม่ทันเช่นกัน ตลาดตรงนี้ผมมองเห็นความเป็นไปได้สูง และเพื่อที่จะสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ของเราไปยังประเทศดังกล่าวได้เราจึงต้องเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้ได้มาตรฐาน ขณะนี้เรากำลังสร้างโรงงานที่บ้านลิพอน โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ โดยรัฐเข้ามาร่วมถือหุ้นสนับสนุนงบประมาณทั้งในการขยายสาขา การขยายโรงงาน จากเงินลงทุน 1 ล้าน 2 ล้าน เพิ่มทุนเป็น 10 กว่าล้าน ตอนนี้ต้องการระดมทุนเพิ่มเป็น 25 ล้าน ขณะนี้โรงงานที่บ้านลิพอนโครงสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังอยู่ในระหว่างการระดมทุนเพื่อติดตั้งระบบการผลิต ซึ่งควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ ผมได้ออกแบบซอฟต์แวร์เพื่อนำมาควบคุมกระบวนการผลิตภายในโรงงาน วางแผนให้มีการควบคุมมาตรฐานโรงงาน HACCP ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานแล้ว ผมยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโรงงานของเราให้มีความสมบูรณ์แบบ เพื่อรองรับการขยายตัวต่อไปในอนาคต หากลูกชิ้นปลาเก็จมุกดาเป็นที่นิยมติดตลาดในต่างประเทศ มียอดการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก เราอาจไม่ต้องพึ่งการส่งออก แต่สามารถขาย Knowledge Base หรือกระบวนการผลิต กระบวนการจัดการภายในโรงงานให้ต่างชาตินำไปสร้าง ไปผลิตลูกชิ้นปลาเก็จมุกดาในประเทศเขาเองได้เลย ซึ่งทุกสิ่งนั้นต้องอาศัยงบประมาณจำนวนมากมาสนับสนุน เราจึงคาดว่าในปี 2551ถ้าไม่มีอะไรติดขัด เราจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทีนี้ใครๆ ก็สามารถเข้ามาถือหุ้นบริษัทเราได้ เรายอมที่จะเสียสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ไป เพื่อระดมทุนมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างกำไรให้เทียบเท่ากับบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ และหากเราสามารถผลักดันไปถึงจุดนั้นได้ สินค้าตัวนี้จะทำรายได้กลับมาให้เรากว่า 100 ล้านบาทเลยทีเดียว”

ดูเหมือนลูกชิ้นเก็จมุกดาจะไม่ได้เป็นเพียงลูกชิ้นให้เรารับประทานเพื่อความอร่อยเท่านั้นเสียแล้ว หากแต่มันกำลังจะกลายเป็นสินค้าส่งออก ที่นำรายได้มหาศาลเข้าประเทศ จากลูกชิ้นที่ผลิตจากปลาที่ว่ายวนอยู่ในทะเลบ้านเราจะโกอินเตอร์ไปเป็นสินค้าส่งออกมูลค่ากว่า 100 ล้านได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่เราต้องจับตามอง แต่สำหรับคุณประทีปเขามั่นใจ 100% ว่าเป็นไปได้ และอยากจะบอกผู้ผลิต ผู้ประกอบการ หรือเจ้าของสูตรอาหารทุกๆ ท่านว่า “ที่จริงเรามีโอกาสเยอะ มีสินค้าตั้งเยอะแยะที่มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมทำรายได้ด้วยตัวของมันเอง โดยที่คุณไม่ต้องเหนื่อยมาก เพียงแต่เราต้องนำเอาความรู้เข้ามาพัฒนา และต้องรู้จักหาช่องทาง หาโอกาส มีหน่วยงานรัฐที่พร้อมจะสนับสนุนมากมาย แต่เราต้องรู้จักที่จะพัฒนาตัวเองก่อน ต้องมีแผนที่ชัดเจนและมีความเป็นไปได้เข้าไปเสนอ แล้วโอกาสก็จะเป็นของคุณ ในภูเก็ตยังมีอาหารหรือของกินอีกเยอะแยะที่น่าจะทำเป็นอุตสาหกรรมได้ ถ้าเป็นต่างประเทศแค่ใครทำคุกกี้อร่อย เขาสามารถจะทำขายไปได้ทั่วโลกแล้ว แต่บ้านเราของกินอร่อยเยอะแยะไปหมด กลับไม่ค่อยมีใครทำ ผมคิดว่าน่าจะลองมองหาโอกาสที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้เติบโตและไปให้ไกลอย่างที่ลูกชิ้นปลาเก็จมุกดากำลังทำอยู่”



:: บทความนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ทองหลังพระ" ของ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เดือนเมษายน 2550 :: บทความ โดย ชุติมา กิตติธรกุล

๒๐ ก.พ. ๒๕๕๑

:: อาจารย์พรพักตรา ไชยเศรษฐ


อาจารย์พรพักตรา ไชยเศรษฐ

“เด็กไทยอ่านหนังสือไม่ออก” “คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละไม่ถึง 10 บรรทัด” ข้อมูลข่าวสารจากงานวิจัยเหล่านี้สร้างความรู้สึกอย่างไรกับคุณผู้อ่านบ้าง แต่สำหรับผู้เขียนซึ่งทำงานกับตัวหนังสือ สื่อสารด้วยงานเขียนไปสู่ผู้อ่านที่รักเป็นประจำอยู่ทุกสัปดาห์เช่นนี้ แน่นอนว่ารู้สึกตกใจและกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง กับข่าวสารข้างต้น

ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ คนไทยอ่านหนังสือกันน้อยลงจริงๆ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน อาจเป็นเพราะวิวัฒนาการของสื่อนานาชนิด ที่วูบวับวิบไหว ล่อตาล่อใจกว่าตัวหนังสือนิ่งๆ บนแผ่นกระดาษกระมัง ทองหลังพระประจำสัปดาห์นี้ ผู้เขียนจึงอยากชวนคุณผู้อ่านไปพูดคุยผ่านตัวอักษรกับผู้ที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับการใช้ภาษา ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน เพราะเธอเป็นทั้งอาจารย์ นักจัดรายการวิทยุ นักเขียน พิธีกร และเธอยังเป็นหนึ่งในกลุ่มคนทำงานเพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนหันมาสนใจและรักการอ่าน ในโครงการรักการอ่าน โดยโปรแกรมวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เธอคือ อาจารย์พรพักตรา ไชยเศรษฐ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ผู้ยืนยันได้ว่าการอ่านให้ประสบการณ์ชีวิต และแนวคิดที่เฉียบคมจริงๆ

เรารู้จักอาจารย์พรพักตราเบื้องต้นก็จากการอ่าน ข้อมูลของเธอหาไม่ยากในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เธอเป็นสาวชาวกรุง จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากคณะครุศาสตร์ วิชาเอกภาษาไทย วิชาโทประวัติศาสตร์ จากวิทยาลัยครูสวนสุนันทา จบการศึกษาระดับปริญญาโท จากคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์สังกัดภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์เเละสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูภูเก็ต ครั้งแรกในปี พ.ศ.2536 โดยสอบเเข่งขันจากกรมการฝึกหัดครู ได้เป็นลำดับที่ 1 จากจำนวนผู้สอบกว่า 1,000 คนทั่วประเทศ ด้วยวัยต้น 20 ในวันนั้น ครูจบใหม่คนนี้จึงต้องย้ายมาเริ่มชีวิตการทำงานอยู่ที่เกาะไกลบ้านจนถึงปัจจุบัน

สำหรับจุดเริ่มต้นของเส้นทางอาชีพครูนั้น อาจารย์พรพักตราถ่ายทอดเรื่องราวด้วยตัวเธอเองว่า “ถ้าถามว่าทำไมจึงเลือกเรียนครู อาจจะเป็นการถ่ายทอดทางสายเลือดก็เป็นได้ค่ะ เพราะคุณพ่อคุณแม่เองก็เป็นครู คุณพ่อเป็นครูสอนภาษาไทย จึงได้ปลูกฝังลูกๆ ให้รักการอ่าน และสนใจภาษาไทย ที่บ้านจะมีหนังสือเยอะมาก ทั้งหนังสือนิทาน วรรณคดี นิตยสารต่างๆ ตอนเด็กๆ ก็จะชอบอ่านหนังสือนิทานบ้าง วรรณคดีบ้าง อย่างวรรณคดีไทย ครูว่ามีส่วนเสริมสร้างจินตนาการให้เด็กมากเลยนะคะ เสียดายที่ปัจจุบันเราการเรียนวรรณคดีไทยกันน้อยลง นอกจากนี้ตอนเด็กๆ ครูจะชอบท่องกลอนทำนองเสนาะ พอโตขึ้นมาหน่อยก็อ่านพวกนวนิยายบ้าง แล้วคุณพ่อก็จะมีกิจกรรมสนับสนุนให้เรารักการอ่าน และยังได้ฝึกการพูดด้วย โดยท่านจะเขียนบทให้อ่านโต้ตอบกันเหมือนจัดรายการ แล้วอัดเสียงเอาไว้ บทที่เขียนก็นำมาจากวรรณคดีต่างๆ ที่จำได้เลยคือเรื่องอิเหนา ตอนนั้นอยู่ ป.3 วิธีนี้ก็ทำให้เราได้ท่องได้จดจำโคลงกลอนต่างๆ พอมาเปิดฟังก็ได้รู้ว่าตรงนี้เรายังพูดไม่ชัดนะ พูดช้าไปเร็วไปนะ ต้องแก้ไข ได้ฝึกเรื่องการออกเสียง การเว้นวรรคตอน ได้ความสนุกสนาน ได้ซึมซับความงดงามของการใช้ภาษา ทำให้จิตใจเราละเมียดละไม และเป็นการปลูกฝังให้เรารักการอ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้ครูก็จะอ่านหนังสือทุกวัน และอ่านหนังสือทุกแนวไม่จำกัด ไม่ใช่ว่าเป็นครูแล้วจะต้องอ่านแต่หนังสือวิชาการ อย่างหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารดารากอสซิปครูก็อ่าน การที่เราเป็นคนรักการอ่านแบบนี้ ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเพราะการปลูกฝังของคุณพ่อคุณแม่ ทำให้เราได้นำประโยชน์มาใช้ในการทำงาน ทั้งงานเขียน งานจัดรายการวิทยุ และที่สำคัญที่สุด คืองานสอนนั่นเอง”



สำหรับงานสอนของอาจารย์พรพักตรา ถ้าให้จินตนาการถึง “ครูภาษาไทย” หลายๆ คนคงนึกถึงครูสวมแว่นหนาเตอะ เซตทรงผมเรียบกริบ แต่งกายด้วยชุดผ้าไทย เจ้าระเบียบเรียบร้อย และพร้อมจะลงโทษเสมอเมื่อนักเรียนพูดไม่ชัด อ่านออกเสียงไม่ถูก แต่สำหรับอาจารย์พรพักตรา “ครูภาษาไทย” ท่านนี้ แทบไม่มีภาพของครูภาษาไทยที่หลายๆ คนเคยยึดติดเลยทีเดียว และไม่ใช่เฉพาะรูปลักษณ์ของเธอเท่านั้น หากแต่แนวการสอนของอาจารย์พรพักตราก็น่าสนใจเช่นกัน “ตั้งแต่เด็กๆ พอเจอครูภาษาไทยส่วนใหญ่จะต้องเรียบร้อย แล้วก็ดุๆ ชอบมองลอดแว่น ต้องพูดให้ชัด พูดผิดไม่ได้ แต่ในทัศนะของครูคิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น บางทีตรงนี้อาจเป็นจุดบอดของภาษาไทย ทำให้เด็กไม่อยากเรียนและรู้สึกว่าเป็นวิชาที่น่าเบื่อ อย่างเปรียบเทียบกับภาษาอังกฤษ ทำไมครูภาษาอังกฤษดูทันสมัย ทำไมเรียนภาษาอังกฤษแล้วเด็กรู้สึกสนุก แล้วก็รู้สึกว่าภาษาอังกฤษสามารถประยุกต์ให้เข้ากับชีวิตประจำวันได้ แล้วทำไมภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาของเราเองกลับไม่มีเสน่ห์ ครูจึงคิดว่าเราซึ่งเป็นผู้สอนต้องสร้างเสน่ห์ โดยเริ่มจากตัวเราก่อน ต้องทำตัวเองให้ร่าเริงแจ่มใส ต้องไม่เชย ต้องมีความอ่อนเยาว์ในหัวใจ แม้เวลาจะผ่านไปกี่ปีก็ตาม ต้องทำให้นักศึกษารู้สึกว่าเราเป็นเพื่อน อะไรที่วัยรุ่นเขารู้เราต้องรู้ เขาสนใจเรื่องอะไรเราต้องทันเขา จะได้พูดคุยภาษาเดียวกันได้ แล้วจึงค่อยสอดแทรกเนื้อหาสาระในการเรียนเข้าไป ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเพลงเดี๋ยวนี้เค้าฮิตเพลงอะไรกัน เค้าร้องกันยังไง ข่าวกอสซิปดารานี่เขาเขียนว่ายังไงนะ ใช้ภาษายังไง อ๋อมันแปลว่าอย่างนี้นี่เอง แต่เอ๊ะ ถ้าเราจะเปลี่ยนเป็นภาษาดีๆ นักศึกษาลองช่วยกันคิดซิว่ามันน่าจะเป็นภาษาอะไร แล้วเขาก็จะรู้สึกว่าอาจารย์เป็นเพื่อน เราอย่าไปปิดกั้น เพราะเด็กทุกวันนี้เขาคิดเอง เขามีอะไรเยอะแยะเลยที่อยากจะมาแลกเปลี่ยนกับเรา แล้วถ้าเขามาเจอภาพครูดุๆ แบบนั้นเขาก็จะไม่กล้า แล้วที่สำคัญเราต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ได้ อย่างเรื่องการพูด เราต้องพูดจาให้ชัดเจน เป็นตัวอย่างให้เขา ไม่จำเป็นต้องเอาภาพลักษณ์ที่น่ากลัวน่าเกรงขามไปข่ม พอเขากลัวแล้วจะเกิดความเซ็ง และเบื่อภาษาไทยในที่สุด ครูเชื่อว่าถ้านักศึกษาประทับใจในครูผู้สอน เขาก็จะเปิดรับและประทับใจกับเนื้อหาวิชาที่เรียนเช่นกัน” นั่นคือบทบาทการเป็นผู้สอนในโปรแกรมวิชาภาษาไทย ของอาจารย์พรพักตรา

และบทบาทหน้าที่ของอาจารย์ทุกท่านในโปรแกรมวิชาภาษาไทย และของอาจารย์พรพักตรานั้น ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพียงในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น หากแต่บุคลากรทุกท่าน รวมทั้งนักศึกษาของโปรแกรมฯ ได้มีบทบาทในการเชื่อมโยงส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยให้กับสังคมภายนอก เกิดเป็นโครงการ และกิจกรรมดีๆ อย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในนั้นที่เราให้ความสนใจ คือ โครงการรักการอ่าน อาจารย์พรพักตรา หนึ่งในสมาชิกโปรแกรมวิชาภาษาไทยซึ่งเป็นผู้จัดกิจกรรมนี้ เป็นตัวแทนบอกเล่ารายละเอียดโครงการว่า “โครงการรักการอ่านเป็นโครงการของโปรแกรมวิชาภาษาไทย เนื่องจากอาจารย์ทุกคนในโปรแกรมฯ เล็งเห็นถึงปัญหา ว่าทุกวันนี้เด็กไทยอ่านหนังสือน้อยลง คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีหนึ่งไม่ถึง 10 บรรทัด เป็นข้อมูลจากการวิจัยที่น่าเป็นห่วง ทางโปรแกรมฯ จึงเห็นว่าเป็นวิกฤติแล้ว ถ้าคนไทยไม่อ่านหนังสือ แล้วคนไทยใช้เวลาไปทำอะไร ก็ทั้งชมโทรทัศน์ เล่นอินเตอร์เน็ต เล่นเกมส์โดยเฉพาะในเด็ก แน่นอนว่าช่องทางเหล่านั้นก็สามารถให้ความรู้ได้เหมือนกัน แต่การอ่านนั้น มีคุณูปการ และมีคุณประโยชน์มากมาย ทั้งเป็นการฝึกความคิด ฝึกการใช้ภาษา เพราะเวลาเราอ่านหนังสือ สมองต้องทำงาน ต้องคิดวิเคราะห์ และจดจำเอาไว้ เป็นกระบวนการกลั่นกรองและซึมซับ อีกทั้งการอ่านเป็นการรับรู้ผ่านตัวหนังสือที่เรียงร้อยกัน ผู้อ่านจะต้องใช้จินตนาการสร้างภาพขึ้นเองในสมอง ไม่มีภาพสำเร็จให้อย่างในจอโทรทัศน์หรือจอคอมพิวเตอร์ นั่นเป็นการฝึกจินตนาการ ฝึกสมองที่ดีเยี่ยมเลย ทีนี้เมื่อเกิดปัญหาว่าปัจจุบันเด็กไทยอ่านหนังสือกันน้อยลงมาก ทางโปรแกรมฯ จึงมาช่วยกันคิดหาสาเหตุ และช่วยกันผลักดันโครงการที่จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนหันมารักการอ่านผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ โครงการรักการอ่านจึงเกิดขึ้นเมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา โดยเราได้จัดไปแล้ว 2 รุ่น รุ่นแรกจัดขึ้นราวเดือนเมษายน ที่ราชภัฏฯ โดยเชิญน้องๆ มัธยมต้นจากโรงเรียนต่างๆ มาเข้าร่วมกิจกรรม ส่วนรุ่นที่สองเราออนทัวร์ ออกไปจัดกิจกรรมให้น้องๆ ชั้น ป.4 – ป.6 ที่โรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยจัดเป็นลักษณะกิจกรรมวอล์คแรลลี่ ให้น้องๆ ไปตามฐานต่างๆ ซึ่งเราจะให้ความรู้ในแต่ละเรื่อง เช่น การค้นพจนานุกรม หาความหมายของศัพท์ การต่อสำนวนไทย การใบ้คำจากวรรณคดี ชวนน้องอ่านหนังสือ โดยจะมีอาจารย์ของโปรแกรมฯ เป็นวิทยากรในแต่ละฐาน และมีนักศึกษาในโปรแกรมฯ ราว 60 คน ไปคอยช่วยกันดูแลน้องๆ อย่างของครูเองครูดูแลฐานชวนน้องอ่านหนังสือ เป็นฐานแรกๆ ของกิจกรรม เราก็จะมีการเล่นเกมส์ ดูว่าเขาอ่านหนังสืออะไรกันบ้าง แยกประเภทหนังสือได้ไหม แล้วก็ฝึกการอ่านเร็ว อ่านจับใจความ เน้นความสนุกสนาน ไม่ให้เด็กๆ เรียกอาจารย์พรพักตรา แต่ให้เรียกว่า พี่พอลล่า จะได้ดูสนิทสนมกัน บรรยากาศสนุกสนานมาก หลังจากนั้น เขาก็จะไปเข้าฐานอื่นๆ กันต่อไป



สำหรับผลที่ได้รับจาก 2 โครงการที่จัดไปนั้น ก็นับว่าประสบความสำเร็จอย่างดี ถึงแม้ว่าเรื่องการอ่าน อาจจะวัดผลไม่ได้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่ที่เห็นได้ชัดเลยคือเด็กๆ เขาสนุกสนาน ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมต่างๆ เป็นอย่างดี กล้าแสดงออก และเด็กๆ ได้เห็นตัวอย่างจากเพื่อนบางคนที่อ่านหนังสือ แล้วมีความรู้มาตอบคำถามได้ เขาก็รู้สึกทึ่ง และเป็นแรงจูงใจให้เขาอยากอ่านหนังสือบ้าง สำหรับโครงการต่อไปนั้นเรายังไม่มีข้อสรุปว่าจะไปจัดที่ไหน แต่หากโรงเรียนใดสนใจก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่โปรแกรมวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จะให้เราไปจัดกิจกรรมที่โรงเรียน หรือจะส่งเด็กๆ มาที่ราชภัฏตอนปิดเทอม เราก็ยินดีค่ะ สิ่งเหล่านี้ต้องค่อยๆ ปลูกฝังกันไป จะให้เกิดผลจากการจัดกิจกรรมแค่เพียง 2 – 3 วัน คงไม่ได้ แต่อย่างน้อยกิจกรรมที่เราเข้าไปทำนี้ ก็อาจจะช่วยสะกิดให้เขาตื่นตัวขึ้น ได้รู้จักพจนานุกรม รู้จักหนังสือวรรณคดีต่างๆ ที่เขาอาจจะไม่เคยรู้จักมาก่อน หลังจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ รวมทั้งคุณครูจะต้องช่วยกันพัฒนาต่อ ช่วยกันปลูกฝัง และสร้างสิ่งแวดล้อมในการอ่านให้แก่เด็ก คุณพ่อคุณแม่เองก็เช่นกัน ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากจะจัดค่ายให้คุณพ่อคุณแม่รักการอ่านด้วย ผู้ใหญ่ก็ต้องรักการอ่านนะคะ ไม่ใช่ว่าเป็นผู้ใหญ่ อายุมากแล้วก็เลิกอ่านหนังสือ ไม่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ เด็กๆ เขากลับบ้านไปก็ไม่มีต้นแบบ คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นต้นแบบให้ลูก อย่างที่คุณพ่อครูเป็นต้นแบบให้ครู ปัจจุบันนี้ท่านอายุ 77 ปีแล้ว แต่ยังอ่านหนังสือทุกวัน อ่านหนังสือพิมพ์วันละ 3 ฉบับ ยังเขียนกลอน เขียนเรื่องสั้นส่งนิตยสาร และยังวาดภาพประกอบเองด้วย แล้วความจำท่านนี่เป็นเลิศ บางครั้งครูจำบทกลอนอะไรไม่ได้ยังต้องโทรไปถามท่านอยู่เลย ครอบครัวมีความสำคัญมาก ถ้าพ่อแม่รักการอ่านก็เป็นการปลูกฝัง เป็นตัวอย่างให้ลูกๆ รักการอ่านเช่นกันค่ะ”

แล้วทำไมเราต้องรักการอ่าน การอ่านมีความสำคัญอย่างไร และจะให้อะไรแก่เรามากมายกระนั้นหรือ? หลายท่านอาจคิดสงสัยว่าทำไมจะต้องรักการอ่าน อาจารย์พรพักตราผู้ถูกปลูกฝังให้รักการอ่านตั้งแต่วัยเยาว์จึงไขข้อข้องใจนี้ได้เป็นอย่างดีว่า “การอ่านสำคัญสิคะ ประการแรกเลยคือทำให้คนฉลาด ขณะที่เราอ่านเราจะต้องคิดตาม จับประเด็น จับใจความ ตรงนี้ทำให้เราฉลาดขึ้นแน่นอน แม้ทุกวันนี้ จะมีคอมพิวเตอร์หรือว่าอินเตอร์เน็ตเข้ามา แต่เราก็ต้องอ่านถึงจะรับทราบข้อมูลข่าวสาร การอ่านทำให้เราได้ความรู้ ได้ความบันเทิง ทำให้เรามีสมาธิ มีจิตใจจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แม้กระทั่งในยามที่จิตใจเราหม่นหมอง คิดกังวลกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถ้าเราได้อ่านหนังสือบางเล่มแล้วเหมือนมันปิ๊งเลย เราจะเกิดความเข้าใจ และรู้สึกว่าจากมืดๆ กลับสว่างขึ้นมาได้ ฉะนั้นถ้าถามว่าการอ่านให้อะไร สำหรับบางคนการอ่านให้ความหวัง ให้แสงสว่างกับชีวิต ลองดูสิคะ ถ้าคุณตกอยู่ในช่วงเวลาที่หมดหวัง ท้อแท้ อับจนหนทาง ลองเดินเข้าร้านหนังสือ หรือห้องสมุด หยิบจับหนังสือดีๆ ที่เข้ากับสถานการณ์ในตอนนั้นมาเปิดอ่านดู มันอาจจะให้แสงสว่าง ให้กำลังใจแก่เรา พลิกสถานการณ์ให้กลับมาสดใสได้อย่างไม่น่าเชื่อเลย”



สำหรับอาจารย์เองล่ะ การอ่านให้อะไรกับชีวิต? อาจารย์พรพักตราตอบทันทีว่า “ให้สมองค่ะ การอ่านให้สติปัญญาและความรอบรู้ วัตถุดิบที่ใช้ในการสอนทุกวันนี้ก็มาจากการอ่าน และนอกจากงานสอนครูยังเป็นนักเขียนประจำให้กับนิตยสารภูเก็ตบูลเลทิน ในคอลัมน์ “ในห้องหนังสือ” บอกเล่าเรื่องราวเเละประสบการณ์ที่ได้จากการอ่านหนังสือ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความอ่านสบายๆ เเฝงเเง่คิด วัตถุดิบที่ใช้ในการเขียนก็ได้จากการอ่าน ครูเป็นนักจัดรายการวิทยุ รายการ “ก้าวไกลกับราชภัฏภูเก็ต” ทาง สวท.96.75 MHz ทุกวันจันทร์ เวลา 09.00 - 10.00น. และเป็นพิธีกรในงานต่างๆ โดยเฉพาะงานของทางมหาวิทยาลัย วัตถุดิบที่นำไปใช้ในการพูด การจัดรายการ การเป็นพิธีกร ก็ได้จากการอ่านทั้งสิ้น เรียกว่าการอ่านให้ประโยชน์ในการทำงานทุกรูปแบบ และที่สำคัญ การอ่านทำให้เรามีความคิดที่เฉียบคม สร้างความโดดเด่นและแตกต่าง ดังคำประพันธ์ที่ว่า “อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย”

บทบาทหน้าที่ของอาจารย์พรพักตราในวันนี้ จึงเหมือนยืนอยู่บนจุดเชื่อมต่อระหว่างคนรุ่นเก่าที่ให้ความสนใจ ละเมียดละไมในวรรณกรรม กับคนรุ่นใหม่ที่เริ่มไม่ใส่ใจในศิลปะทางภาษา และนับว่าเธอได้ทำหน้าที่ในการเป็นผู้เชื่อมต่อ กระตุ้นเตือนให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้เห็นความงามของภาษาและวรรณกรรม เห็นความสำคัญของการอ่านซึ่งเป็นประตูสู่ปัญญาอย่างเต็มกำลังความสามารถ “ถ้าถามว่ารู้สึกอย่างไรที่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ ต้องตอบว่ารู้สึกปลื้มใจและภูมิใจมาก เหมือนเป็นมณีจันทร์ ในเรื่องทวิภพ แต่มณีจันทร์คนนี้คงไม่ถึงขั้นพลิกประวัติศาสตร์ หากแต่เป็นจุดเชื่อมต่อของอดีตที่ดีงามสู่คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันมากกว่า ที่ภาษาไทยเรายังคงอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะคนไทยยังพูด ยังอ่าน ยังเขียน ยังสื่อสารด้วยภาษาไทย เราจึงต้องช่วยกันรักษาภาษาไทยเอาไว้ ไม่ใช่ว่าจะต้องรักษาให้คงตามของเดิมทุกกระเบียดนิ้ว เพราะโลกเปลี่ยน สังคมเราก็เปลี่ยนไป เราต้องทำตัวให้กลมกลืนกับความเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกันของเก่าที่ดีงามเราต้องรักษาไว้ ครูเชื่อว่าภาษาไทยไม่อับจน ตราบใดที่คนไทยยังตระหนัก อย่าให้อายต่างชาติ เพราะทุกวันนี้ต่างชาติเขาข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนภาษาไทยกันมากมาย ในขณะที่เด็กไทย คนไทยแท้ๆ กลับเลือกเรียนภาษาไทยกันน้อยมาก นี่ก็เป็นภาพสะท้อนให้คิดกันดูว่าทำไมเราถึงใกล้เกลือกินด่าง ต่อไปคนจีนอาจจะพูดภาษาไทยชัดกว่าคนไทย หรือฝรั่งอาจจะพูดภาษาไทยชัดกว่าคนไทย เห็นทีตอนนั้นเราก็คงจะสูญเสียเอกราชทางภาษาไปอย่างไม่รู้ตัว”



:: บทความนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ทองหลังพระ" ของ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เดือนมกราคม 2550 :: บทความ โดย ชุติมา กิตติธรกุล

เรื่องดีๆ ล่าสุด