โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต สนับสนุนให้เกิดเรื่องราวดีๆ ขึ้นในชุมชน ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่น กิจกรรมสาธารณะ ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ และทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม รวมทั้งการส่งเสริมกาเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ให้กับเจ้าหน้าที่, การดูแลสุขภาพ และในบล็อก StoryDD แห่งนี้ ได้รวบรวมบทความในโครงการส่งเสริมนักเขียนท้องถิ่น ให้สร้างผลงานเขียนเชิดชูบุคคล หรือหน่วยงานที่ทำความดี ให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจกับผู้อ่าน เพื่อร่วมสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนต่อไป

๑๔ ส.ค. ๒๕๕๐

:: ฝึกสุนัข "ด้วยใจ"


คุณวิชัย ชิดเชี่ยว กับศูนย์ฝึกสุนัขนานาชาติภูเก็ต

หมาทุกตัว ถือกำเนิด เกิดเป็นเดรัจฉาน
แต่ดวงมาลย์ แสนประเสริฐ เลิศหนักหนา
รู้บุญคุณ รู้รักตอบ มอบชีวา
ดีเสียกว่า มนุษย์สู้ ไม่รู้คุณ

บทกลอนแสนไพเราะที่หากหมารู้หนังสือและได้อ่านคงซาบซึ้งน้ำตาคลอกับกลอนบทนี้ เขียนไว้อย่างเด่นชัดในสถานที่ที่เรานัดหมายเพื่อพบกับทองหลังพระฉบับนี้ คุณวิชัย ชิดเชี่ยว เจ้าของศูนย์ฝึกศูนย์ฝึกสุนัขนานาชาติภูเก็ต ซึ่งตั้งอยู่แถวเกาะสิเหร่ คุณวิชัยมาพร้อมกับเจ้าซัดดัม บอดี้การ์ดหน้าเข้มพันธุ์อเมริกันพิทบูล ที่คอยระแวดระวังเจ้าของไม่วางตา แต่ถึงอย่างไรการพูดคุยกับคุณวิชัย ครูสอนหมานานาชาติ ผู้เชื่อและยืนยันในความหมายของบทกลอนข้างต้น ก็สนุกสนานด้วยเรื่องราวของเจ้าสี่ขาที่น่ารักและน่าทึ่ง

ก่อนหน้าที่จะเปิดโรงเรียนฝึกสุนัข คุณวิชัยทำงานทั้งราชการและเอกชนไปพร้อมๆ กัน ส่วนการเลี้ยงสุนัขนั้นเป็นเพียงงานอดิเรก “เลี้ยงด้วยใจรัก” คุณวิชัยว่าอย่างนั้น พอเลี้ยงเยอะเข้าก็ทำคอกเพาะสุนัขขาย ส่วนมาเริ่มฝึกสุนัขได้อย่างไรคุณวิชัยเล่าว่า “ตอนแรกเราก็เลี้ยงหมาอยู่ที่บ้านเราเอง เลี้ยงอยู่หลายตัวเพราะผมเป็นคนชอบเลี้ยงหมา เลี้ยงไปเราก็ฝึกหมาของเราไป ทีนี้ เวลาไปเที่ยวหรือไปไหนมาไหน ผมจะพาหมาไปด้วย คนภายนอกเขาเห็นกิริยาหมาของเราแล้ว เขาก็ชมว่าหมาของเรานี่มันฉลาดนะ มันเก่งนะ พอเขารู้ว่าเราเป็นคนฝึกเอง เขาก็เอาหมามาให้เราฝึกบ้าง แล้วก็เริ่มมีมาเรื่อยๆ จนมากเข้าๆ ตอนแรกผมทำคนเดียว พอหมาเยอะเข้ามันก็เหนื่อย ก็เริ่มหาลูกน้องมาช่วย ทำไปทำมาพื้นที่ที่บ้านเริ่มคับแคบ ประกอบกับหมามันส่งเสียงรบกวนชาวบ้านด้วย ทีนี้ผมมีที่ดินอยู่ที่นี่ ก็เลยเริ่มเข้ามาหักร้างถางพง แล้วก็ย้ายมาฝึกที่นี่ ค่อยๆ ทำ ค่อยสร้างมาเรื่อยๆ จนเป็นรูปเป็นร่างอย่างนี้ เป็นเวลา 10 กว่าปีแล้วที่ศูนย์ฝึกสุนัขนานาชาติภูเก็ตมาตั้งอยู่ที่นี่”



จากการฝึกสุนัขของตัวเองอยู่ที่บ้าน กลายมาเป็นธุรกิจศูนย์ฝึกสุนัขนานาชาติฯ ได้อย่างไร คุณวิชัยตอบว่า “ผมไม่ได้มองว่าจะทำเป็นธุรกิจ แค่คิดว่าหมามันน่ารัก มันซื่อสัตย์ ก็สอนมันด้วยใจรัก ฝึกไปๆ ก็เลยกลายเป็นโรงเรียน มีรายได้เข้ามา แล้วก็ไม่มีคู่แข่ง แต่ถึงจะมีคู่แข่งผมก็ไม่กลัว เพราะถ้าทำธุรกิจอย่างเดียว ไม่ได้ทำด้วยใจรัก ก็ไม่ประสบความสำเร็จแน่นอน หมาที่เจ้าของเขาเอามาให้เราฝึกเป็นสิ่งที่เขารัก ถ้าเราทำหมาเขาตายไปซักตัวนึงก็เสียชื่อเสียงแล้ว ทำตรงนี้เราต้องมีความรัก ต้องรู้ใจหมา หมาไม่กินอาหาร หมาป่วย เราต้องมีความรู้ เราต้องช่วยเหลือมัน เพราะว่าหมาพูดไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องเข้าใจมัน ส่วนการฝึกหมาแบบนานาชาตินั้น เมื่อก่อนนี้ผมฝึกหมาเฉพาะภาษาไทย ก็มาคิดว่าเราจะฝึกแต่ภาษาไทยอย่างเดียวไม่ได้ จะทำยังไงให้ฝึกได้หลากหลายภาษา เพราะภูเก็ตเราเป็นเมืองท่องเที่ยว มีชาวต่างชาติหลายชาติหลายภาษามาอยู่มาทำงานที่นี่ แล้วเขาก็เลี้ยงหมากันทั้งนั้น ก็เริ่มมีชาวต่างชาติพาหมามาให้ฝึกอาจจะมีการบอกกล่าวกันปากต่อปาก แล้วก็เยอะขึ้น มีชาติโน้นชาตินี้ เราก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้ฝึกหมาได้ทุกๆ ภาษาที่เขาพามาให้ฝึก ผมจึงต้องศึกษาภาษาต่างประเทศ เริ่มจากภาษาอังกฤษก่อนแล้วก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นๆ ตอนนี้เราสามารถฝึกหมาได้กว่า 10 ภาษา ไม่ว่าจะเป็น ภาษาไทย, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, อิตาลี, เยอรมัน, สวีเดน, สเปน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, จีน หรือแม้แต่ภาษาปักษ์ใต้ สอนได้หมด โดยที่เราจะต้องเรียนรู้คำศัพท์ที่ใช้ออกคำสั่ง แล้วก็พยายามออกเสียงให้ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา ขึ้นอยู่กับเจ้าของว่าต้องการให้เราฝึกหมาของเขาด้วยภาษาอะไร”


คุณวิชัยเล่าถึงเคล็ดลับการฝึกหมาให้เชื่อฟังคำสั่งว่า “การฝึกหมาต้องเริ่มมาจากความรัก ถ้าคุณใช้วิธีบังคับให้มันกระทำอย่างที่ต้องการ มันก็ทำ แต่ภาพที่ออกมาคือมันจะทำแบบกลัวเกรง ที่ผมเคยเห็นมาบางที่เขาจะใช้วิธีฝึกหมาแบบทำให้หมากลัวก่อน บางคนถึงกับต้องทำร้ายหมาแล้วหมาถึงจะเชื่อฟัง แต่เวลามันทำตามคำสั่ง มันก็จะทำด้วยอาการหงอ ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้ ผมคิดว่าการทำให้มันรักและไว้ใจเราแล้วจึงสั่งให้มันทำตามเป็นวิธีที่ง่ายกว่า ดูแล้วมีความสุขไปทั้งเจ้าของ ทั้งครูฝึก ทั้งหมา ลองสังเกตดูเวลาเราสั่งหมาให้ทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามันทำโดยกิริยาอาการที่ร่าเริง นั่นคือมันมีความสุขที่จะทำ คนที่สอนก็มีความสุขที่เห็นมันทำ แต่ถ้าคุณเห็นหมามันทำด้วยความหวาดกลัว นั่นคือมันมีความทุกข์ มันถูกบังคับ ต้องมองให้ออกตรงนี้สำคัญ”

วิธีการฝึกหมาของที่นี่ จึงเป็นการสอนด้วยความรัก ปลูกฝังทัศนคติที่ดีให้กับหมา เพื่อให้มันอยากจะทำตามคำสั่งของเจ้าของอย่างมีความสุข คุณวิชัยให้รายละเอียดถึงวิธีการฝึกหมาของที่นี่ว่า “การสอนของเราจะแบ่งเป็นคอร์ส ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน คือการฝึกให้หมาเชื่อฟังคำสั่งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ให้หมามีระเบียบวินัย เช่น การสั่งให้เดิน, วิ่ง, หยุด, สั่งให้นั่ง, หมอบ, ยืน, นอน, นั่งคอย, นอนคอย, หมอบคอย, นอนคอย, ยืนคอย, จับมือ, กระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง, ขึ้นรถลงรถ และแปรงฟัน การฝึกขั้นกลาง คือนอกเหนือจากขั้นพื้นฐานแล้ว ยังสามารถสั่งให้สวัสดี, คาบสิ่งของ, คลาน หรือกลิ้ง การฝึกขั้นสูง ก็เพิ่มเติมให้มันเดินถอยหลัง, กระโดดข้ามห่วงมือหรือหลัง, คาบของในตู้เย็น, คลานถอยหลัง หรือเดิน 2 ขา การฝึกสุนัขอารักขา คือฝึกให้จู่โจมคนร้าย, สั่งให้หยุด, สอนให้ไม่กลัวเสียงปืน, ไม่กินอาหารจากคนแปลกหน้า และฝึกให้ฟังคำสั่งพิเศษต่างๆ เช่น ไล่งับจานร่อนกลางอากาศ เดินบนเชือก กระโดดเชือก หมาทุกตัวที่มาฝึกที่นี่จะต้องผ่านคอร์สพื้นฐาน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 เดือน โดยหมาจะต้องมาอยู่ประจำที่นี่ ส่วนคอร์สอื่นๆ ซึ่งสูงขึ้นไปก็แล้วแต่ความต้องการของเจ้าของว่าอยากให้ฝึกเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 - 4 เดือน ขึ้นอยู่กับมันสมองและสรีระของหมา ที่นี่เราจะรับหมาเข้ามาฝึกตั้งแต่อายุ 5 – 6 เดือน เพราะเป็นช่วงที่หมาจะจดจำได้ดี ถ้าอายุมากกว่านั้นจะยิ่งสอนยากและใช้เวลานาน แต่ถ้าฝึกให้อารักขาต้องให้หมาอายุซัก 1 ปีขึ้นไป เพราะหมาจะโตเต็มที่มีจิตใจที่ห้าวหาญ แนวทางการสอนของเราคือสอนด้วยความรัก ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ทีละขั้น อันดับแรกเมื่อหมาเข้ามาที่นี่เราต้องสร้างความคุ้นเคยกับมันก่อน ทำความรู้จัก ให้มันรู้จักเรา เรารู้จักมัน ให้มันรักเรา เรารักมัน พอมันอยู่กับเราซัก 1 – 2 อาทิตย์ผ่านไป มันเกิดความอบอุ่น เกิดความเข้าใจว่าคนนี้ดีนะ ให้อาหาร พาไปเดินเล่น อาบน้ำให้ ไม่รุนแรงกับมัน สิ่งเหล่านี้มันจะซึมซับแล้วพอเราเริ่มฝึกออกคำสั่ง มันจะทำตาม เราใช้ความนุ่มนวลใช้ความหนักเบาของน้ำเสียงและจังหวะ หมามันไม่มีอะไรมาก มันมีแค่สีดำกับสีขาว เราฝึกให้มันรู้จักแยกแยะเสียงหนักกับเสียงเบา เสียงเบาหมายถึงว่าเขาทำถูก คุณต้องชมเขา เสียงหนักหมายถึงว่าทำผิด คุณต้องค่อนข้างตะคอก แล้วมันจะรู้ว่าไอ้คำนี้หนักนะ มันต้องหยุดนะ ท่าที่มันทำอยู่มันต้องเปลี่ยน พอมันทำถูกก็ชมด้วยเสียงเบา แค่นี้มันก็รู้ว่าอ๋ออย่างนี้ผิดอย่างนี้ถูก ผมอธิบายง่ายๆ อย่างนี้เป็นหัวใจของการฝึกหมาเลย

เมื่อเราสอนคำสั่งพื้นฐานให้มันแล้ว ก็ค่อยเพิ่มเติมไปว่าจะพัฒนาความสามารถอะไรให้มัน ซึ่งต้องมองจากสายพันธุ์ของหมาว่าสายพันธุ์นี้มีขีดความสามารถอย่างไร เช่น บางพันธุ์สมองดี บางพันธุ์จมูกดี บางพันธุ์อารักขาดี แล้วพัฒนาไปตามนั้น และต้องดูวัตถุประสงค์ของเจ้าของด้วยว่าต้องการเลี้ยงหมาเพื่ออะไร เลี้ยงเพื่อเป็นเพื่อนเล่นแก้เหงา เลี้ยงเพื่อเฝ้าบ้าน หรือเลี้ยงเพื่ออารักขาเจ้าของ ก็ควรเลือกสุนัขให้ตรงกับวัตถุประสงค์ อย่างหมาพันธุ์เล็กๆ น่ารักๆ จะเลี้ยงไว้อารักขาก็ไม่ได้ ถ้าคุณต้องการหมาไว้เฝ้าบ้าน คุณก็ต้องเลี้ยงสายพันธุ์ที่บึกบึน จิตใจเด็ดเดี่ยว แล้วก็พามาฝึก มาพัฒนาความสามารถให้มัน อย่างนี้เป็นต้น”


ภายในบริเวณศูนย์ฝึกสุนัขนานาชาติภูเก็ต ซึ่งมีพื้นที่ 10 ไร่นั้น ถูกจัดสรรให้เป็นสนามฝึกที่ได้มาตรฐาน มีคอกที่แบ่งเป็นสัดส่วนมีสุขลักษณะที่ดี มีบริเวณให้หมาได้เดินเล่นออกกำลัง บรรยากาศร่มรื่นสะอาดตาแสดงให้เห็นถึงการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี “ที่นี่เราเลี้ยงดูเอาใจใส่หมาอย่างดี คอกต้องสะอาด อากาศถ่ายเท ไม่มีมลภาวะ ขี้หมาต้องเก็บไม่ให้มีกลิ่นเหม็น ถ้าหมาไม่สบายต้องส่งหมอทันที ยกเว้นถ้าไม่สบายเล็กน้อยเราก็มียาดูแลเบื้องต้นได้ เรามีพื้นที่ถึง 10 ไร่ สามารถพาหมาไปเดินเล่นได้ ไม่ใช่ขังอยู่แต่ในกรงอย่างเดียวหมาจะเครียด ข้างหลังก็มีสระน้ำ ถ้าเจ้าของอยากให้หมาเขาว่ายน้ำ เราก็มีสระให้ เราเลี้ยงหมาเหมือนกับเลี้ยงคน ต้องเช็ดตัว เช็ดเท้าด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค กลิ่นเหม็นอย่าให้มี ต้องแปรงฟัน หมาที่นี่ทุกตัวจะมีแปรงสีฟันประจำตัว เช้าขึ้นมาต้องให้มันไปขับถ่ายข้างนอก มีเครื่องออกกำลังกายให้มันได้วิ่ง ดูแลเหมือนคนเลย การเลี้ยงหมานี่จริงๆ ไม่ใช่ง่ายนะ ต้องให้เวลา ต้องเอาใจใส่มาก”

เห็นฝึกสนุก อยู่สบายอย่างนี้ ก็ใช่ว่าพอจบคอร์สแล้ว หมาจะกลับบ้านไปได้ง่ายๆ เพราะเขาต้องมีการสอบวัดผลกันก่อนว่าที่เรียนมานั้นใช้ได้หรือไม่ “หมาทุกตัวที่มาฝึก ก่อนจะออกจากที่นี่จะต้องผ่านการสอบก่อน คุณดูที่กระดานเห็นตัวเลขนั่นไม๊” คุณวิชัยชี้ให้เราดูกระดานที่เขียนชื่อหมากับตัวเลขเป็นเปอร์เซ็นต์เอาไว้ “นั่นเป็นผลสอบของหมา หมาที่นี่จะต้องผ่านการสอบ โดยผมจะเป็นคนสอบเอง จะมีใบคะแนนแบ่งเป็นช่องๆ แต่ละช่องก็มีคำสั่งต่างๆ เช่น สั่งให้ยืนต้องยืน สั่งให้นั่งต้องนั่ง สั่งให้มาต้องมา แล้วก็มีคะแนนให้ ถ้าทำได้เป๊ะๆ ก็ได้คะแนนไป แล้วคะแนนรวมต้องให้ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ 65% ถ้าต่ำกว่านั้นถือว่าหมาสอบตก ถ้าหมาสอบตกครูฝึกมีปัญหา และหมาต้องทำอย่างมีความสุขด้วย ถ้าทำแบบกลัวๆ แสดงว่าครูฝึกมีปัญหา แต่ถ้าทำได้ถึง 85% ผมก็มีรางวัลให้ครูฝึกเหมือนกัน ตรงนี้เราต้องเข้มงวด เพราะหมาต้องเข้าไปอยู่กับครอบครัวเขาฉะนั้นเราต้องทำให้เต็มที่”



ที่ศูนย์ฝึกสุนัขนานาชาติภูเก็ตนี้ นอกจากคุณวิชัยแล้ว ยังมีครูฝึกอีก 5 - 6 คน ซึ่งแต่ละคนผ่านการคัดเลือกและสอนงานโดยคุณวิชัยเอง “ครูฝึกที่นี่ต้องมีความรักหมาก่อนเป็นอันดับแรก ถ้ารักหมาแล้วก็สอนกันง่าย เรียนรู้ได้เร็ว แต่ถ้าคุณไม่มีความรักหมาจะเรียนรู้ยาก คุณต้องไม่รังเกียจมัน ผมชอบที่จะสอนคนขึ้นมาเอง มากกว่าที่จะรับคนที่เป็นอยู่แล้วมาทำงาน เพราะเขามักจะเอาแนวทางของที่อื่นมาสอน แนวทางของผมนี่ผมคิดขึ้นเอง อาศัยเรียนรู้หรือดูจากสารคดีต่างประเทศและประสบการณ์ที่สะสมมา แต่นั่นก็ไม่เท่ากับเราต้องรู้จักพลิกแพลง ผมเป็นคนชอบคิดชอบดัดแปลงหาวิธีที่จะสอนให้หมาทำตามคำสั่งเราได้ ก็จะถ่ายทอดความรู้ให้ครูฝึกทุกคนที่นี่ แล้วเวลาให้ครูฝึกไปฝึกหมาต้องดูด้วยว่าคนนี้เหมาะกับหมาพันธุ์นี้ คนนี้เหมาะกับตัวนี้ แล้วยังต้องดูไปถึงเจ้าของด้วย เรื่องบุคลากรนี่ค่อนข้างเป็นปัญหาเหมือนกันเพราะหาคนที่จะรักและเข้าใจหมาจริงๆ ค่อนข้างยาก หาคนที่มีทักษะ รู้จักพลิกแพลงพัฒนาวิธีการฝึกด้วยตัวเองหายาก เมืองไทยเราคนยังเข้าใจหมาน้อย ที่เมืองนอกอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีเกียรติมาก ฝรั่งเขาให้ความสำคัญและให้เกียรติกับครูฝึกหมามาก เพราะเขารู้ว่าหมามันมีความสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง”

สิ่งสำคัญอีกประการหลังจากที่ส่งหมามาฝึกแล้ว ก็คือตัวเจ้าของหมาเองที่จะต้องมาเรียนรู้วิธีการออกคำสั่งด้วย เพื่อนำกลับไปใช้ให้ได้ผลที่บ้าน “หลังจากที่เราสอนหมาใกล้จบคอร์สแล้วเราจะให้เจ้าของมาเรียนรู้วิธีออกคำสั่งด้วย เช่น การส่งสัญญาณมือ ท่าทาง การใช้เสียง เจ้าของจะใช้เวลาเรียนประมาณ 2 – 3 วันก็สามารถทำได้แล้ว ลูกค้าบางคนก็บอกว่าทำไมดูง่าย เค้ามาสั่ง 2 – 3 วันมันก็ทำได้ แต่อันที่จริงกว่าจะได้อย่างนี้เราต้องใช้เวลาสอนตั้ง 2 เดือน ผมอยากให้เข้าใจว่ากว่าจะได้คำว่านั่ง 1 ท่า ครูฝึกต้องลำบากขนาดไหน 2 เดือนนี่ต้องพูดคำว่านั่งเป็นพันครั้งนะ หมาจึงจะเข้าใจ ฉะนั้นไม่ใช่ว่าพอหมาเรียนจบแล้วคุณจะไปใช้ได้เลย เพราะหมาเคยอยู่ที่บ้านกับเจ้าของก็รูปแบบหนึ่ง มาอยู่ที่โรงเรียนก็รูปแบบหนึ่ง ถ้ากลับบ้านไปแล้วยังใช้รูปแบบเดิมหมามันก็ลืม เจ้าของต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบด้วยถึงจะได้ผล ต้องหมั่นฝึกออกคำสั่ง ฝึกให้มันทำบ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 10 - 15 นาที ให้เวลาเล่นกับมัน แล้วถ้าเจ้าของเขามีหัวที่จะพลิกแพลงพัฒนาคำสั่งเพิ่มเติม ก็สามารถทำได้ สิ่งที่มันเรียนรู้ไปก็จะได้ใช้ให้เกิดประโยชน์”

ไม่เพียงแต่ความสามารถง่ายๆ อย่างนั่ง ยืน หมอบ กลิ้ง คลาน กระโดด เท่านั้น ที่เจ้าสี่ขาสามารถทำตามคำสั่งของคนได้ คุณวิชัยบอกว่าหากฝึกกันดีๆ แล้วหมาเป็นสัตว์ที่มีขีดความสามารถสูง สามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่างสารพัด “หมาเป็นสัตว์ที่มีพรสวรรค์ ธรรมชาติสร้างมันมาให้มีจมูกที่สุดยอด หูสุดยอด มีมันสมอง ผมเคยดูสารคดี เมืองนอกเขาสามารถฝึกให้หมาดมหามะเร็งได้อย่างแม่นยำ แพทย์ยังทึ่งว่ามันทำได้ยังไง มันทำได้ก็จากการฝึก แล้วก็ยังมีการฝึกหมาไว้ดมหายาเสพย์ติด เพราะจมูกมันดีกว่าคนไม่รู้ตั้งกี่เท่า ผู้ร้ายเห็นหมาก็เหงื่อแตกแล้ว นอกจากนั้นยังมีความสามารถในการแสดง หมาของผมเคยพาไปโชว์ ไปแสดงหนังด้วย อย่างเจ้าอูซี่ พันธุ์อเมริกันพิทบูล ได้ไปแสดงหนังฮอลลีวูดเรื่องบริเจ็ท โจนส์ ไดอารี่ มันอยู่ที่การฝึกฝน เจ้าอูซี่นี่มันเข็นรถเข็นได้นะ พาไปช้อปปิ้งก็ได้ มันจะเข็นรถเข็นเดินตามเลย แล้วยังเปิดตู้เย็นได้ รับโทรศัพท์ได้ ที่ผ่านมาผมเคยทดสอบหมาที่ผมฝึกไว้อารักขา โดยให้คนทำทีว่าเข้ามาทำร้ายผม หมามันก็กระโจนเข้ามากัดคนๆ นั้นทันที หรืออย่างเจ้าซัดดัมตัวนี้ เป็นบอดี้การ์ดผม กินกับผม นอนกับผม เฝ้าบ้านให้ผม ตัวนี้ใครมาทำร้ายผมไม่ได้เลยนะ มันกัดทันที แล้วใครก็จับมันไม่ได้ นอกจากผมกับลูกชาย ครอบครัวผมรักหมากันทุกคน บ้านผมเลี้ยงหมาไม่เคยขาด มีหลายพันธุ์ตั้งแต่พุดเดิ้ล ชิสุ โกลเด้นรีทีฟเวอร์ ร็อตไวเลอร์ แล้วก็อเมริกันพิทบูล พันธุ์นี้ผมชอบเป็นพิเศษเพราะมันแข็งแรง บึกบึน จิตใจเด็ดเดี่ยว แต่ละตัวเลี้ยงด้วยความรัก แล้วเขาก็อยู่กับเรานาน”



ทำไมถึงรักหมาขนาดนี้ เป็นคำถามที่คนรักหมาอย่างคุณวิชัยคงตอบได้ไม่ยาก “อยู่กับมันแล้วมีความสุข อธิบายไม่ถูก คนไม่เคยเลี้ยงจะไม่เข้าใจ ระหว่างให้ผมเลิกคบคนกับให้เลิกคบหมา ผมยอมเลิกคบคนนะ ให้ผมมีเพื่อนเป็นหมาดีกว่ามีคนหมาๆ มาเป็นเพื่อน เราอยู่กับมันมันไม่เคยทรยศเราแม้แต่ครั้งเดียวเลย ถึงแม้เวลามันป่วยมันยังทำหน้าที่ บางครั้งมันเจ็บ เราสงสารมันก็เหมือนกับเราเจ็บด้วย มันแฮปปี้เราแฮปปี้ด้วย ฉะนั้นจึงอยากจะฝากถึงคนเลี้ยงหมา ต้องคิดให้ดี ต้องมีเวลาดูแลเอาใจใส่มัน เลี้ยงหมาให้ดีไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนเอาหมามาฝากที่นี่กลัวหมาจะลืมตัวเอง หมามันไม่ลืมเจ้าของหรอก ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแค่ไหน มีแต่เจ้าของจะลืมมัน ชีวิตนี้มันก็ฝากไว้กับเราแล้วทั้งชีวิต บางคนเลี้ยงหมาตามกระแส พอไม่ชอบก็เอาไปทิ้งไปโยน ไปปล่อยวัด อันนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะให้เกิดขึ้นเลย เลี้ยงหมาต้องให้ความรัก ถ้าเรารักมัน แล้วมันก็จะรักเรา”

:: บทความนี้เคยถูกตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ทองหลังพระ" ของ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เมื่อเดือนมีนาคม2550 ::
บทความ โดย ชุติมา กิตติธรกุล

:: หมอแผนโบราณ ผู้สืบสานการแพทย์แผนไทย


หมอเติม ปจันทบุตร หมอแผนโบราณผู้สืบสานการแพทย์แผนไทย


กลิ่นยาสมุนไพรหอมแบบไทยๆ โชยแตะจมูกทันทีเมื่อก้าวเข้ามาสู่คลินิกแพทย์แผนโบราณริมถนนเทพกระษัตรีช่วงตำบลเกาะแก้วแห่งนี้ ไม่ใช่ด้วยความเจ็บป่วยอะไรหรอก ที่ทำให้เรามาถึงที่นี่ หากแต่เพราะมีนัดกับทองหลังพระประจำฉบับนี้ หมอเติม หรือ หมอบุญเติม ปจันทบุตร ชื่อนี้อาจเป็นที่รู้จักคุ้นหูของคนภูเก็ตมาช้านาน ในบทบาทของหมอแผนโบราณที่ตรวจรักษาคนไข้มาร่วม 50 ปี วันนี้ของหมอเติมวัย 75 ยังคงสวมเสื้อสีขาวทำงานตรวจคนไข้ด้วยแนวทางอันเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่สืบสานกันมารุ่นต่อรุ่น ท่ามกลางกระแสอันถาโถมของวิทยาการที่ก้าวล้ำนำสมัย หมอเติมกับการแพทย์แผนไทย ยืนหยัดอยู่ได้อย่างไร การพูดคุยกันในวันนี้มีคำตอบ

คลินิกแพทย์แผนโบราณของหมอเติมนั้น ปัจจุบันเปิดให้บริการถึง 3 สาขา แห่งที่หนึ่งอยู่บนถนนดีบุกซึ่งเป็นคลินิกดั้งเดิมที่เราเห็นกันมานาน แห่งที่สองอยู่บนถนนสุรินทร์ และแห่งที่สามคือที่นี่ บนถนนเทพกระษัตรี ตำบลเกาะแก้ว ซึ่งปัจจุบันหมอเติมจะประจำอยู่ที่นี่เป็นส่วนใหญ่ ส่วนอีก 2 สาขาในเมืองนั้น มีลูกและหลานสาวเป็นหมอประจำช่วยกันดูแลอยู่

หมอเติมเล่าถึงที่มาของความรู้วิชาการแพทย์แผนโบราณของท่านว่า “พ่อเป็นผู้สอนให้ เพราะว่าบ้านผมเป็นหมอแผนโบราณกันมาตั้งแต่ต้นตระกูล ปู่ย่าตายายถ่ายทอดกันมาไม่รู้กี่รุ่นกี่ร้อยปีแล้ว มีลูกสอนลูกมีหลานสอนหลาน มีอุดมการณ์ให้สืบทอดรักษา พ่อผมชื่อหมอเอี่ยม ปจันทบุตร ส่วนแม่ชื่อนางรุ่ง ปจันทบุตร บ้านเดิมอยู่ที่บ้านราไวย์ ตอนผมอายุได้ราว 5 – 6 ปี จึงย้ายครอบครัวมาเปิดร้านที่ถนนดีบุก มาอยู่ในเมืองก็ได้เข้าเรียนโรงเรียนปลูกปัญญา จากนั้นก็เรียนต่อที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย พอเรียนจบผมมีความคิดอยากจะเรียนต่อ แต่ว่าฐานะการเงินของทางบ้านไม่พร้อม พ่อก็อายุมากแล้ว แต่ท่านก็บอกว่าถ้าผมอยากเรียนต่อพ่อจะขายสมบัติส่งให้เรียน แกพูดคำนี่ผมก็เกิดความสงสาร จึงตกลงยกเลิกความคิดที่จะไปเรียนต่อ ที่จริงผมวางแผนไว้แล้วว่าถ้าพ่อไม่ให้เรียนผมจะหนี แต่ปรากฏว่าท่านก็ไม่ได้บังคับ ผมก็เลยใจอ่อน”

แล้วหมอตั้งใจอยากจะไปเรียนต่ออะไร? เราถามแทรกขึ้นมา แล้วก็ได้รับคำตอบที่ผิดคาด “ผมอยากไปเรียนนายร้อย” หมอเติมตอบด้วยรอยยิ้ม “คนละทาง คนละเรื่องกับหมอแผนโบราณเลยนะ ผมทำงานช่วยพ่อภายในร้าน เติบโตคลุกคลีมากับการแพทย์แผนโบราณก็จริงแต่ตอนนั้นผมมองว่าแพทย์แผนโบราณคงจะไปไม่รอด คงจะสู้แพทย์แผนปัจจุบันไม่ได้ ผมเลยคิดว่าเรียนไปทำไปคงจะไม่มีประโยชน์อะไร แต่ก็เพราะความสงสารพ่อจึงยอมตามใจท่าน ตอนนั้นคิดว่าช่วยท่านทำไปพลางๆ ก่อนจนกว่าท่านตาย แล้วเราก็ค่อยตั้งต้นชีวิตใหม่ แต่เมื่อหันหน้าเข้ามาทำงาน จากประสบการณ์ จากการเห็นที่พ่อทำงาน แล้วก็คงมีอะไรดลบันดาลให้เราเป็นไปในทางนี้ หลังจากจบ ม.6 ผมก็ไปขอเข้าสอบแพทย์แผนไทยจากกระทรวงสาธารณสุข ไปสมัครเรียนที่วัดโพธิ์หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แล้วในปี พ.ศ.2500 ก็สอบได้ใบประกาศนียบัตรสาขาเภสัชกรรมแผนโบราณ และปี พ.ศ.2501 ก็สอบได้ประกาศนียบัตรสาขาเวชกรรมแผนโบราณ ก็ได้เริ่มทำงานตรวจรักษาคนไข้ แต่หลังจากผมสอบได้เพียงไม่กี่ปีพ่อก็เสียชีวิตลง”

แม้พ่อซึ่งเป็นครูคนแรกและเป็นผู้ชักนำให้หมอเติมยึดอาชีพหมอแผนโบราณจะสิ้นชีวิตลงแล้ว แต่หมอเติมก็ยังคงยึดมั่นในอาชีพนี้ไม่เปลี่ยนแปลง “หลังจากที่ได้เปิดคลินิกตรวจคนไข้ โดยเริ่มเปิดคลินิกบนถนนกระบี่ ก่อนที่จะย้ายมาที่ถนนดีบุก ผมก็พยายามหาความรู้ต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อมาพัฒนาการทำงานจากสิ่งเดิมๆ ที่พ่อทำอยู่ ใช้ความคิด ใช้มันสมอง และแรงกำลังของวัยหนุ่มอย่างเต็มที่ มีจิตมุ่งหมายในตอนนั้นคือต้องทำให้ดีที่สุด เพราะเพื่อนร่วมชั้นของผมเขาก็ไปสอบบรรจุข้าราการ ไปเรียนนายร้อยกันทั้งนั้น เราคิดว่าต้องอย่าให้ด้อยกว่าเพื่อนเขา ถ้าเรามาทางนี้แล้วก็ต้องทำให้ดีเท่าที่จะดีได้ ทีหลังมันก็เกิดความรักในอาชีพนี้ขึ้นมา”
หมอเติมเล่าถึงกระบวนการในการตรวจรักษาคนไข้ตามแนวทางแพทย์แผนโบราณว่า “หลักการตรวจของแผนโบราณจะไม่เหมือนของแผนปัจจุบัน เราถือหลักการตรวจจากการวินิจฉัยโรค จากการซักถามพูดคุยกับคนไข้ เราต้องสอบถามประวัติของคนไข้ว่าเขาเป็นอะไร อาการเป็นอย่างไรบ้าง คนไข้เขาจะเล่าให้เราฟัง อันไหนที่เราไม่เข้าใจต้องสอบถามลึกลงไป แล้วจึงมาวินิจฉัยว่าคนไข้เป็นโรคอะไร เกิดจากอะไร การวินิจฉัยโรคนี้มีความสำคัญมากในการรักษาแผนโบราณ หมอจะรักษาได้ตรงจุด จ่ายยาที่เหมาะสมหรือไม่ เห็นผลเร็วหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำนี่เอง เพราะเราไม่มีอุปกรณ์เครื่องมือที่จะช่วยในการตรวจ ไม่มีผลเลือด ไม่มีเครื่องเอ็กซเรย์ เราใช้เพียงการจับชีพจร สังเกตสีหน้าท่าทางของคนไข้ ต้องสังเกตหมดคือ ตาดู หูฟัง มือสัมผัส คือหลักของหมอแผนโบราณ ตาดูคือต้องสังเกตลักษณะภายนอกของคนไข้ ดูสีหน้า ดวงตา ดูผิวพรรณ หูฟังคือฟังลักษณะการเต้นของชีพจร ฟังเสียงคนไข้ มือสัมผัส เช่นสัมผัสดูว่าคนไข้ตัวร้อนไม่ร้อน ไข้แค่ไหน สำหรับโรคที่แพทย์แผนโบราณสามารถรักษาได้นั้นเป็นโรคที่ไม่มีความซับซ้อน เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติภายในร่างกาย ไม่ใช่โรคที่เกิดจากสารพิษหรือการติดเชื้อ แต่ก็มียาที่สามารถช่วยบรรเทาอาการเหล่านั้นได้ จากนั้นเราต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่ารายนี้ควรจะรักษาแบบไหน ควรจะกินยาหรือไม่ต้องกินยา โดยยาที่ใช้ก็เป็นยาสมุนไพรซึ่งมาจากธรรมชาติ อันไหนที่เรารักษากับยาไม่ได้เราก็ใช้วิธีอื่น เช่น การออกกำลังกาย จิตวิทยา แนะนำเขาสั่งสอนเขา พูดในทางที่ให้เขาผ่อนคลาย สมมุติว่าคนนี้อ่อนแอไม่แข็งแรง เป็นหวัดแพ้อากาศบ่อย เราก็แนะนำให้เขาไปออกกำลังกาย คนนี้เป็นโรคเกี่ยวกับความเครียด คิดมาก ปัญหามาก เราก็รับฟังและให้คำแนะนำเขาเท่าที่จะสามารถให้ได้ ผมคิดว่าหมอต้องรู้หลายอย่าง ไม่ใช่เพียงแต่รู้เรื่องยาอย่างเดียวแล้วจะมารักษาโรคได้ เราต้องศึกษาให้รอบด้าน ต้องมีจิตวิทยากับคนไข้ เมื่อเขาเดือดร้อนมา บางคนอยากจะเล่าอยากจะพูด แต่เล่ากับใครไม่ได้ ก็ต้องมาเล่ากับหมอ ผมว่าหมอสมัยนี้ที่ไม่ได้รับฟังคนไข้นั้นไม่ถูกต้อง โรคไหนรักษาได้เราก็รักษา โรคไหนที่รักษาไม่ได้เราก็แนะนำให้เขารักษาวิธีอื่น ต้องซื่อสัตย์กับคนไข้ พูดความจริงไม่ปิดบัง ไม่ใช่รักษาไม่ได้แล้วดันทุรังรักษาไปเพราะอยากได้เงินแบบนั้นไม่ได้ เท่าที่ผมตรวจรักษาคนไข้มา ผมกล้าพูดได้เต็มปากว่ายังไม่เคยออกใบมรณะบัตรให้ใคร และบัญชีลูกหนี้เจ้าหนี้ผมก็ไม่มี เพราะว่าคนไข้ที่ไม่มีเงินเราก็ไม่เอา สมมุติว่าค่ายา 20 บาท คนไข้มีเงินเพียง 10 บาท เราก็เอาแค่ 10 บาท แล้วก็จะไม่มีการลงบัญชี ไม่จดจำไว้เลย ถ้าครั้งหน้าเขามาเราก็จะไม่ทวง ให้ก็ได้ไม่ให้ก็ได้ ตรงนี้ผมว่าสำคัญ ผมปฏิบัติอย่างนี้มานานแล้ว ตระกูลผมก็ปฏิบัติอย่างนี้ คือเป็นการช่วยเหลือกัน ผมอยากจะให้หมอไทยทำตรงนี้ ควรจะช่วยเหลือคนที่ยากไร้ยากจน จิตใจเราต้องมีศีลธรรม มีคุณธรรมในการที่จะรักษาคนไข้ เราต้องรักคนไข้เหมือนกับญาติพี่น้องของเรา ไม่ใช่เรามองคนไข้เป็นเงินเป็นทอง เขาเข้ามาในร้านแล้วก็ต้องหวังเอาเงินจากเขา ข้อนี้พ่อผมสอนมาตลอด เป็นหลักอย่างหนึ่งที่หมอแผนโบราณทุกคนควรจะยึดถือ นอกเหนือจากวิชาความรู้ที่เล่าเรียนกันมา และด้วยจิตเมตตานี้อาจจะส่งผลให้เราอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ ผมคิดอย่างนั้นนะ”

ถึงกระนั้น ที่ผ่านมาการแพทย์แผนโบราณก็ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก หมอเติมบอกเล่าถึงความนิยมการแพทย์แผนโบราณตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่า “ต้องยอมรับว่าการแพทย์แผนโบราณไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่นัก และส่วนใหญ่คนที่นิยมมาตรวจรักษากับเราก็มักเป็นคนที่มีฐานะไม่ค่อยดี เขาอาจจะสู้ราคาค่ารักษากับแผนปัจจุบันไม่ได้ จึงหันมาพึ่งวิธีแผนโบราณซึ่งค่าใช้จ่ายอาจจะถูกกว่า บางคนกลัวว่าการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันอาจเกิดสารตกค้างและผลข้างเคียงจึงสนใจการรักษาแผนโบราณซึ่งเป็นวิธีตามธรรมชาติ หรือบางคนผิดหวังจากการรักษาแผนปัจจุบันมาแล้วก็มองแผนโบราณเป็นทางออกสุดท้าย บางคนจนหนทางแล้วจึงหันมาหาเรา ซึ่งเขาจะให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างเต็มที่ แต่บางคนรักษาแบบเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ให้กินยาก็ไม่กินตามหมอสั่ง อันนี้จะไม่เกิดผลดี เป็นการเสียเวลาและเสียเงินเปล่า หมออยากบอกไว้เลยว่าคนที่จะมารักษากับหมอต้องมีความเชื่อต้องให้ความร่วมมือแล้วการรักษาจึงจะเกิดผลดี”

แม้จะยอมรับว่าที่ผ่านมาการแพทย์แผนโบราณจะเป็นที่นิยมไม่มากนัก แต่ก็น่าดีใจที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ กระแสการแพทย์ทางเลือก การแพทย์แผนไทยกลับได้รับความนิยมแพร่หลายขึ้น หมอเติมบอกถึงสาเหตุที่การแพทย์แผนโบราณกลับส่องแสงสว่างขึ้นมาว่า “ที่ผ่านมาแพทย์แผนปัจจุบันเป็นที่นิยมส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ส่วนการแพทย์แผนโบราณนั้นรัฐบาลไม่ค่อยให้การสนับสนุน ถึงขั้นคุมกำเนิดหมอแผนโบราณเลยก็ว่าได้ เป็นความลำบากที่เราต้องประสบและต้องอดทนเรื่อยมา กฎหมายเกี่ยวกับการแพทย์แผนโบราณยังเป็นกฎหมายเก่าแม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม ทำให้หมอแผนโบราณมีข้อจำกัดมากมายในการทำงาน แต่มาช่วงหลังๆ ราว 10 กว่าปีนี้ รัฐบาลได้หันมาให้การสนับสนุนแพทย์แผนโบราณมากขึ้น เนื่องจากพบปัญหาที่ประเทศเราต้องเสียดุลการค้าต่างประเทศ และพบว่าการแพทย์แผนไทยเรานี้เป็นการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศโดยตรงเลย เป็นแนวทางช่วยเหลือคนยากคนจนในด้านสุขภาพอนามัยโดยไม่จำเป็นต้องใช้ของแพง และเกิดจากการที่ประชาชนเล็งเห็นคุณค่าของการแพทย์แผนไทยว่ามีผลที่ดี มีความน่าเชื่อถือ จึงมีการถ่ายทอดความรู้ในวงกว้าง มีคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจศึกษาเรื่องนี้มากขึ้น จนถึงกับมีการเปิดโรงเรียนสอน มีการเปิดโรงพยาบาลเฉพาะ เหล่านี้ก็ทำให้การแพทย์แผนไทยได้ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมา ก่อนจะล้มหายตายจากไป”

ในส่วนของการถ่ายทอดความรู้ด้านแพทย์แผนไทยนั้น หมอเติมก็ได้เป็นตัวจักรสำคัญในการรวมกลุ่มจัดตั้ง “ชมรมแพทย์แผนโบราณและสมุนไพร” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2525 ที่วัดนาคา เพื่อสอนวิชาแพทย์แผนไทยให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาเรียน โดยหมอเติมเป็นประธานชมรมคนแรก และได้เป็นครูสอนวิชาแพทย์แผนโบราณด้วยตัวเอง ปัจจุบันชมรมได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตทำให้มีการทำงานที่มีมาตรฐานเป็นแบบแผนขึ้น และพัฒนาเป็น “สมาคมแพทย์แผนไทยจังหวัดภูเก็ต” ซึ่งยังคงเผยแพร่ความรู้ด้านนี้แก่ผู้ที่สนใจเช่นเดิม “ในช่วงแรกเราก่อตั้งสมาคมขึ้นมาโดยมีสมาชิกไม่กี่คน ค่าใช้จ่ายอะไรต่างๆ บางครั้งก็ต้องควักกระเป๋ากันเอง เราเปิดสอนให้ความรู้เรื่องแพทย์แผนโบราณ แต่เดิมนั้นความรู้นี้จะถ่ายทอดกันแต่ภายในครอบครัว ไม่สอนให้คนนอก แต่ผมเล็งเห็นว่าเราน่าจะถ่ายทอดความรู้นี้ให้เป็นที่กว้างขวาง จะได้ช่วยกันสืบสาน ผมจึงได้เป็นครูสอนที่ชมรมด้วยตัวเอง ถ่ายทอดความรู้ทั้งหมดโดยไม่ปิดบัง ส่วนค่าเล่าเรียนนั้นก็มีเพียงกระปุกใบหนึ่งตั้งไว้ ใครมีเท่าไหร่ก็มาหยอดไว้ ไม่มีก็ไม่ต้องหยอดไม่ได้บังคับ ปัจจุบันสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกให้ใช้ห้องประชุมเพื่อให้สมาคมฯ ทำการเรียนการสอนได้สะดวกสบายขึ้น ผู้ที่มาเรียนก็มีคนรุ่นใหม่ๆ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่มีคนสนใจการแพทย์แผนโบราณมากขึ้น”

และคนรุ่นใหม่หนึ่งในนั้นก็หมายรวมถึงลูกหลานของหมอเติมที่หันมาศึกษาการแพทย์แผนไทยอย่างจริงจัง และยึดอาชีพนี้ในการเลี้ยงชีพด้วยความภูมิใจ “ลูกหลานของผมทุกคนผมได้ถ่ายทอดความรู้ให้อย่างเต็มที่ ตอนนี้เขาก็ได้ช่วยกันดูแลคลินิกสาขาในเมืองอยู่ คลินิกที่ถนนดีบุกมีลูกสะใภ้ซึ่งจบการแพทย์แผนไทยสาขาเภสัชกรรมไทย เวชกรรมไทย และผดุงครรภ์ไทย ดูแลอยู่ ส่วนคลินิกที่ถนนสุรินทร์มีหลานสาวดูแลอยู่ เขาจบการแพทย์แผนไทยสาขาเภสัชกรรมไทย เวชกรรมไทย และศึกษาการผลิตยาในรูปแบบยาน้ำ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาตรีสาขาการแพทย์แผนไทย จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หลานสาวผมคนนี้ตอนเขาตัดสินใจเลือกวิชาที่จะเรียนต่อ ผมก็เรียกเขามาชี้แนะให้เขาเลือกเรียนแพทย์แผนไทย เพราะเป็นงานที่เราเป็นนายตัวเอง ไม่ต้องไปเป็นลูกน้องใคร ตื่นเช้าคนไข้ก็มาให้เรารักษาถึงบ้าน เขาเอาเงินมาให้เราแล้วก็ยังยกมือไหว้เราเสียอีก เป็นอาชีพที่มีเกียรติ หลานก็เชื่อฟัง แต่ที่ผมภูมิใจที่สุดคือลูกชาย เมื่อก่อนเขาทำงานค้าขาย เมื่อไม่ค่อยประสบความสำเร็จเขาก็เข้ามาหาผม ผมได้ให้ข้อคิดว่า งานของพ่อนั้นทำได้มา 100 บาท ก็ยังได้เก็บซัก 80 บาท แต่งานของลูก ทำได้ 10,000 บาท แต่ไม่เหลือเก็บเลย เขาจึงหันมาศึกษาเพิ่มเติมด้านการแพทย์แผนไทย ตอนนี้ก็ได้มาช่วยงานกัน มีรายได้มากกว่าตอนที่เขาทำการค้าเสียอีก”

การทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของหมอแผนโบราณอย่างหมอเติมในยุคสมัยที่วิทยาการทางการแพทย์แผนปัจจุบันก้าวล้ำนำหน้าไปทุกวัน เปรียบไปก็เหมือนการเดินอยู่กลางถนนที่เต็มไปด้วยยานยนต์ที่ทันสมัย แต่หมอเติมก็ยืนยันว่าแม้เขาจะเดิน แต่ก็เป็นการเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่เดินอยู่กับที่หรือเดินถอยหลัง หมอเติมบอกกล่าวถึงความรู้สึกที่ได้ยึดอาชีพนี้ในการเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัวไปพร้อมกับการได้ช่วยเหลือผู้อื่นว่า “ผมมีความภูมิใจนะ ภูมิใจแล้วก็ดีใจที่เราเป็นหมอแผนโบราณ ผมพูดกับเพื่อนๆ อยู่บ่อยๆ ว่าถ้าผมไปเรียนนายร้อยออกมาเป็นตำรวจอย่างเพื่อนรุ่นเดียวกัน บางทีตอนนี้ผมอาจจะทำอะไรไม่ได้แล้ว ต้องนอนแบมือขอเงินลูกแล้ว แต่ตอนนี้ผมยังไม่เกษียณ แม้จะอายุ 75 แล้ว ผมดีใจที่ผมยังหาเงินได้ ยังแข็งแรง และยังได้ถ่ายทอดความรู้สืบทอดลูกสืบทอดหลาน ผมภูมิใจที่ยังได้ใส่เสื้อตัวนี้ มีความสุขที่ยังได้ตรวจคนไข้ เป็นความภูมิใจในสิ่งที่เราทำ”

:: บทความนี้เคยถูกตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ทองหลังพระ" ของ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เมื่อเดือนเมษายน 2550 ::
บทความ โดย ชุติมา กิตติธรกุล

:: ครูนักบริหาร


อาจารย์สดศรี ตันสุธัญลักษณ์ ผอ.โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต

ทองหลังพระหลายๆ ฉบับที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าหลายครั้ง เราได้พาคุณผู้อ่านไปพูดคุยกับ “ครู” หลายๆ ท่านที่มีผลงานแตกต่างกันออกไป บางท่านเป็นครูภูมิปัญญา บางท่านเป็นครูวัฒนธรรม แต่สำหรับเวทีทองหลังพระฉบับนี้จะเปิดโอกาสให้คุณผู้อ่านได้เห็นการทำงานของครูอีกท่านหนึ่ง ผู้มีผลงานเป็นผู้บริหารจัดการด้านการศึกษา ในยุคสมัยที่หลักสูตรการเรียนการสอนถูกพลิกโฉมไปมากมายจากอดีต เราได้รับเกียรติจาก ผอ.สดศรี ตันสุธัญลักษณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต



ความฝันอยากเป็นครูของผอ.สดศรีนั้น เกิดจากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสใกล้ชิด “ครูดี” ที่เป็นตัวอย่างในวัยเด็ก บวกกับความรักในการศึกษาที่ถูกปลูกฝังจากครอบครัว “ด้วยความที่พ่อแม่มีลูกถึง 9 คน ทำให้ครอบครัวค่อนข้างลำบาก แต่พ่อกับแม่ก็เห็นความสำคัญของการศึกษา ท่านส่งให้ลูกๆ ได้เรียนหนังสือ ดิฉันเองเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนรัตนศิริศึกษา และโรงเรียนขจรเกียรติศึกษา จนจบ ป.7 แล้วก็สอบเข้าโรงเรียนสตรีภูเก็ต ตั้งแต่ มศ.1 จนถึง มศ.5 จะร่วมกิจกรรมกับโรงเรียนตลอด ทุกเรื่องทุกงาน วันเสาร์อาทิตย์ หลังจากที่ช่วยงานบ้านแล้วก็จะมาที่โรงเรียนมาช่วยงานคุณครู ทำให้มีโอกาสเรียนรู้การทำงานของคุณครูในสมัยก่อน จึงเกิดความประทับใจและอยากจะเป็นครู ตอนจบ มศ.3 ได้ไปสมัครเรียนครู แต่สอบไม่ได้ ก็เลยเรียน มศ.4 – 5 ต่อ แล้วที่สุดก็สอบ ปป. ได้และได้รับคัดเลือกให้เรียนต่อจนจบ ปกศ.สูง จบปริญญาตรีที่วิทยาลัยการศึกษาพระนคร”เมื่อจบการศึกษา ผอ.สดศรี ครูจบใหม่ในวันนั้น มุ่งตรงกลับบ้านด้วยความตั้งใจที่จะมาสอบบรรจุเป็นครูที่บ้านเกิด เพราะความผูกพันที่มีจากวัยเด็ก “พอจบปุ๊บดิฉันก็ตรงกลับบ้านทันทีเพื่อที่จะมาสอบรรจุเป็นครูที่ภูเก็ต ตอนนั้นสอบได้เอกคณิตศาสตร์ก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกโรงเรียน แล้วจากการที่เราคลุกคลีกับครูหลายๆ ท่านที่โรงเรียนสตรีภูเก็ต เมื่อเรียนจบท่านก็อยากให้มาร่วมงานกัน อาจารย์สุภางค์ เขียวหวาน อดีต ผอ.โรงเรียนสตรีภูเก็ต ซึ่งขณะนั้นท่านรับตำแหน่งฝ่ายวิชาการอยู่ก็ขึ้นมารับด้วยตัวท่านเองเลย และบอกให้เลือกบรรจุที่โรงเรียนสตรีภูเก็ต ดิฉันก็ตั้งใจว่า ในเมื่อเราเป็นศิษย์เก่าเราก็อยากจะกลับมาทำงานที่โรงเรียน สมัยนั้นท่าน ผอ.เย็นจิตต์ ณ ตะกั่วทุ่ง ท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนอยู่ ส่วนท่าน ผอ.สว่าง ปานมั่น ดูแลฝ่ายวิชาการ ดิฉันมาถึงก็ได้สอนในชั้น มศ.5 เลย จึงมีลูกศิษย์ในวัยไล่เลี่ยกัน อายุห่างกันเพียง 4 – 5 ปี เริ่มงานตอนนั้นราวปี พ.ศ.2516 หลังจากนั้นสัก 2 – 3 ปี ผอ.สว่างท่านก็ส่งให้ไปอบรมเพิ่มเติมเรื่องการวัดผล เพราะเริ่มมีการเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอน และได้กลับมาทำงานฝ่ายวัดผล ในเวลาต่อมาก็ได้รับคัดเลือกให้ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงในการทำงาน”


ช่วงเวลาของการทำงานที่ได้ใกล้ชิดกับครูระดับผู้ใหญ่หลายๆ ท่านนั้น ผอ.สดศรีเล่าว่าเป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้และพัฒนาตนเองในการทำงานบริหารการศึกษาเป็นอย่างมาก “ดิฉันรู้สึกว่าเราโชคดีที่ได้เรียนรู้จากครูที่มีความสามารถหลายๆ ท่าน ครูสมัยก่อนนี่ต้องถือว่าเป็นครูจริงๆ ท่านจะไม่สอนโดยวิธีการบอกกล่าว แต่ท่านจะสอนโดยลักษณะการทำงาน เช่นเมื่อเราทำงานเอกสารไปส่งและถามท่านว่าใช้ได้ไหม ท่านก็จะแนะนำว่า ถ้าเราเป็นผู้รับเอกสารชิ้นนี้ เรามองเห็นลักษณะอย่างนี้ เราพึงพอใจไหม พอเรากลับมานึกดู อืมใช่เราก็ไม่พึงพอใจ แล้วท่านก็จะบอกว่าการที่จะแก้ไขหรือไม่ก็ให้พิจารณาด้วยตัวเอง เราก็จะได้เรียนรู้งานจากตรงนั้น อย่างนี้เป็นต้น สิ่งเหล่านี้นับว่าได้รับการปลูกฝังมามาก โดยเฉพาะจากท่าน ผอ.สว่าง ปานมั่น เพราะว่าดิฉันได้ทำงานเคียงคู่กับท่านมาพอสมควร ผอ.สว่าง ปานมั่นนั้นต้องถือว่าท่านเป็นเยี่ยมยุทธ์ของครูเลยทีเดียว ครูดีในสมัยก่อน ไม่ต้องมีตัวรางวัลอะไรบ่งบอกเลย แต่เราจะรู้เองว่าครูดีคืออะไร ดิฉันจึงพยายามเรียนรู้รูปแบบการทำงานของท่าน และก็เป็นจุดหนึ่งที่ผลักดันให้เราได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารโรงเรียน”

ผอ.สดศรี เริ่มต้นบทบาทของการเป็นผู้บริหารสถานศึกษาครั้งแรก ในโรงเรียนตะกั่วทุ่งงานทวีวิทยาคม จังหวัดพังงา บริหารงานที่นั่นอยู่ถึง 5 ปี 10 เดือน จึงได้ย้ายไปที่โรงเรียนหาดสำราญวิทยาคม จังหวัดตรัง แล้วจึงย้ายกลับมาที่จังหวัดภูเก็ตอีกครั้ง ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต ในปี พ.ศ.2546 ผอ.สดศรีได้เล่าถึงความเป็นมาของโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ ว่า

“โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต เดิมชื่อโรงเรียนภูเก็ตพิทยาคม เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ต่อมาในปี พ.ศ.2539 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำโครงการจัดตั้งโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ เพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงมีต่อการศึกษา และเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน และเล็งเห็นว่าโรงเรียนภูเก็ตพิทยาคม เป็นโรงเรียนที่มีสภาพเหมาะสมจึงได้เปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนภูเก็ตพิทยาคม มาเป็น โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2539 และเปิดโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์อีก 12 แห่งทั่วประเทศตามเขตการศึกษา โดยมีปรัชญาของโรงเรียนร่วมกัน นั่นคือ “รักศักดิ์ศรี มีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานงานพระราชดำริ” ตามโครงการมีเป้าหมายที่จะรับนักเรียนแบบสหศึกษาระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งประเภทประจำและไปกลับ โดยมุ่งหวังให้เป็นโรงเรียนที่มีลักษณะสมบูรณ์ มีความพร้อมทั้งในด้านอาคารเรียน และอาคารประกอบ ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ และเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้เป็นโรงเรียนที่พึงประสงค์ของสังคม และสามารถดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ”


สำหรับผอ.สดศรี ที่เข้ามารับตำแหน่งในระยะเวลาที่โรงเรียนก่อตั้งในระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นช่วงเวลาของการก่อร่างสร้างรูปให้โรงเรียนๆ หนึ่งยืนหยัดเป็นสถานศึกษาที่มีคุณภาพของสังคม ผอ.สดศรีเล่าถึงการบริหารงานโรงเรียนในยุคแรกๆ ว่า “ต้องถือว่าเป็นโชคดีที่ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนท่านก่อนก็เป็นคนภูเก็ต ความเป็นคนภูเก็ตนี้ทำให้ท่านทำงานด้วยความรักของท้องถิ่น ท่านได้วางรากฐานของโรงเรียนไว้ค่อนข้างดีและมั่นคงแล้ว ทั้งในด้านของอาคารสถานที่ และด้านอื่นๆ ในส่วนที่ดิฉันมารับหน้าที่ต่อก็ใช้ความเป็นผู้หญิงเข้ามาเสริมในรายละเอียด มาเพิ่มเติมในเรื่องบุคลการ และเสริมศักยภาพในด้านวิชาการ จังหวัดภูเก็ตนี้ต้องยอมรับว่าพ่อแม่ผู้ปกครองมีความพร้อมสูงในการสนับสนุนด้านการศึกษาของบุตรหลาน ดิฉันในฐานะผู้บริหารสถานศึกษาเพียงแต่มาพัฒนาศักยภาพด้านวิชาการ และทำอย่างไรให้เด็กอยู่ในโรงเรียนแล้วมีความสุข มีความรู้ เมื่อจบแล้วสามารถศึกษาต่อ และประกอบอาชีพได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญด้านอื่นๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้โรงเรียนเรามีความเข้มแข็งขึ้นและก้าวไปได้เร็วในทุกๆ เรื่อง นั่นคือผู้ปกครองที่ให้ความร่วมมือสนับสนุนด้านการศึกษา และบุคลากรครูของโรงเรียนเรา ซึ่งแต่ละท่านสั่งสมความรู้และประสบการณ์มาอย่างเต็มที่ ฉะนั้นเมื่อได้รับการกระตุ้นเรื่องใดก็สามารถร่วมมือกันผลักดันผลงานออกมาได้ ทำให้การขับเคลื่อนโรงเรียนเป็นไปได้ด้วยดี โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ เราเพิ่งจะเข้าสู่ปีที่ 10 แต่ปัจจุบันโรงเรียนได้รับการยอมรับจากสังคมรอบข้างค่อนข้างสูง เหตุผลเพราะว่าเราใช้ลักษณะของการประสานและดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เน้นการเปิดใจระหว่างครูกับผู้ปกครองให้มาก อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น เพราะเราถือว่าความคิดเห็นของนักเรียนเป็นบรรทัดฐานในการพัฒนา นักเรียนชอบอะไร สนใจอยากเรียนรู้อะไร หากโรงเรียนยังขาดสิ่งนั้น ขอให้นักเรียนนำเสนอมา ยกตัวอย่างเช่น มีนักเรียนคนหนึ่งเขาสนใจกิจกรรมหมากล้อม จึงเข้ามาปรึกษาว่าอยากจะเปิดชุมนุมหมากล้อมขึ้นในโรงเรียน โดยส่วนตัวดิฉันเองก็ไม่รู้จักว่าหมากล้อมเล่นอย่างไร แต่เมื่อนักเรียนเข้ามาขอคำปรึกษา เราก็เปิดโอกาสให้เขาหากว่าเขามีความพร้อม แล้วพวกครูก็พร้อมจะเรียนรู้ไปด้วยกัน ปัจจุบันนี้ชุมนุมหมากล้อมของโรงเรียนเรากลายเป็นจุดเริ่มต้นชมรมหมากล้อมในจังหวัดภูเก็ต กีฬาหมากล้อมก็กลายเป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่แข่งขันกันในกีฬาเยาวชนด้วย แล้วนักเรียนที่เป็นแกนนำเรื่องนี้ก็ได้ขยายฐานความสนใจเรื่องหมากล้อมไปยังโรงเรียนอื่นๆ ทั้งระดับประถมและมัธยม สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่เราไม่ปิดกั้นนักเรียนในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านดนตรีและกีฬา ผู้บริหารจะต้องเปิดใจกว้าง และประสานสัมพันธ์กับผู้ปกครองอยู่ตลอดเวลา ต้องทันต่อกระแสสังคม ต้องเข้าใจว่าเด็กสมัยนี้สนใจอะไร ต้องการอะไร

ในด้านวิชาการ ขณะนี้โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ ได้ดำเนินการโครงการ 3 ภาษา เป็นการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษและภาษาจีนเป็นสื่อการเรียนการสอนวิชาต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ พละศึกษา คือใช้ภาษาในการสอน ในการสื่อสารภายในห้องเรียน แล้ววัดผลจากวิชาดังกล่าว เด็กจะเกิดการเรียนรู้ เกิดทักษะในการฟัง และจะเริ่มพูดได้ นำไปสู่การพัฒนาทักษะในการอ่านและเขียนต่อไป โดยโครงการพิเศษนี้จะเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ปกครองที่มีความพร้อม เป็นทางเลือกทางการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาที่ต้องเปิดทางเลือกทางการศึกษาให้หลากหลาย ภายใต้การสนับสนุนของผู้ปกครอง สำหรับโครงการ 3 ภาษานี้ โรงเรียนจะเปิด 2 ห้องเรียนในปีการศึกษานี้ และตอนนี้ก็เริ่มมีความเข้มแข็งสามารถเปิดสอนในชั้น ม.4 ได้แล้ว”

นอกจากการประสานสัมพันธ์อันดีระหว่างครู นักเรียนและผู้ปกครอง อันเป็นแนวทางเพื่อสร้างความเข้มแข็งของโรงเรียนให้เกิดขึ้นแล้ว การสร้างความมีส่วนร่วมกับสังคม ก็เป็นแนวทางที่ผอ.สดศรีให้ความสำคัญในการบริหารโรงเรียน “การที่โรงเรียนเราตั้งขึ้นมาในจังหวัดภูเก็ตนั้น นอกเหนือจากเพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในด้านการศึกษาแล้ว ก็ถือว่าเราได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาปริมาณสถานศึกษาที่ไม่พอเพียงกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นของจังหวัดภูเก็ต ในช่วงปีแรกๆ ของการก่อตั้งโรงเรียน เราอาจยังไม่เป็นที่รู้จัก ยังไม่เป็นที่มั่นใจของผู้ปกครอง แต่ส่วนหนึ่งด้วยชื่อของโรงเรียนก็สามารถการันตีให้ผู้ปกครองเกิดความเชื่อมั่นได้ และเมื่อผู้ปกครองได้เข้ามาสัมผัสได้เห็นการปฏิบัติงานของครูที่ปฏิบัติต่อเด็กในเรื่องการเรียนการสอน ความศรัทธาก็เริ่มเกิดขึ้น บวกกับโรงเรียนพยายามเข้าสู่ชุมชน มีส่วนร่วมกับสังคม จะเห็นว่าโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ เราอยู่ในการสนับสนุนของ 3 องค์กร เราตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครภูเก็ต แต่ขึ้นตรงกับ อบต.วิชิต และได้รับการดูแลจากทาง อบจ.ด้วย ฉะนั้น 3 องค์กรส่วนท้องถิ่นเหล่านี้เป็นองค์กรที่เกื้อหนุนโรงเรียนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะ อบต.วิชิตที่สนับสนุนทั้งงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และบุคลากร เทศบาลฯ จะสนับสนุนเราในเรื่องของแรงงานและเครื่องจักร แนวคิดการจัดกิจกรรมต่างๆ ส่วน อบจ. จะช่วยเหลือเราได้ทุกเรื่องเพราะว่าเป็นองค์กรระดับจังหวัด ฉะนั้นเราถือว่า 3 องค์กรนี้เป็นองค์กรหลักที่สนับสนุนโรงเรียน เราจึงพยายามจะนำนักเรียนของเราออกไปมีส่วนร่วมกับองค์กรทั้ง 3 ไม่ว่าองค์กรจะจัดกิจกรรมอะไร เราจะนำนักเรียนไปแสดงความสามารถ หรือในขณะเดียวกัน โรงเรียนเราจัดกิจกรรมอะไรเราจะดึงองค์กรเหล่านี้มามีส่วนร่วม เช่น ดึงเด็กในเขตพื้นที่เข้ามาร่วมกิจกรรม ในส่วนนี้โรงเรียนก็ได้แสดงความสามารถ แสดงศักยภาพของเราให้เป็นที่ประจักษ์ในสังคมด้วย ทั้งในส่วนของวงโยธวาทิต วงดนตรีไทย วงดนตรีสากล หรือนาฏศิลป์ การแสดง เมื่อมีการแข่งขันอะไรเราจะพยายามส่งเด็กของเราเข้าสู่เวทีแข่งขัน เพราะเราถือว่าเวทีเหล่านี้จะทำให้ผู้ปกครองมองเห็น ชุมชนยอมรับ การแข่งขันจะชนะหรือไม่ไม่เป็นไร แต่ต้องทำให้เต็มที่ และต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ ที่ผ่านมานักเรียนของเราได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันในด้านต่างๆ มากมายเป็นที่น่าภาคภูมิใจ ทั้งรางวัลชนะเลิศในด้านภาษา ในด้านกีฬา ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านเอนิเมชั่น ด้านศิลปวัฒนธรรม เรียกว่าเราพัฒนาทักษะของนักเรียนในทุกๆ ด้าน รางวัลและกิจกรรมการมีส่วนร่วมต่างๆ เหล่านี้ก็ทำให้โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของสังคมได้ในระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อความพยายามในการพัฒนาการศึกษา พัฒนาโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ ในด้านต่างๆ ผนวกกัน ทำให้โรงเรียนมีความเข้มแข็ง มีความพร้อม มีผลงานเข้าตาจนได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบ ในโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝันของกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย”

ผอ.สดศรี ยังได้กล่าวถึงหลักในการทำงานบริหารจัดการการศึกษาของท่านว่า “หลักในการทำงานของดิฉันคือ เข้าถึงคน เข้าถึงงาน ไม่อำพรางความรู้ สู้ทุกรูปแบบ ไม่แปลกแยกชุมชน ตื่นตนอยู่เสมอ และชื่นชมให้กำลังใจ สำหรับการเข้าถึงคน คือต้องให้ความเข้าใจเพื่อนร่วม มอบหมายงานให้ตรงกับความสามารถ เข้าถึงงานคือมีความเข้าใจในงาน ในขณะเดียวกันคือไม่อำพรางความรู้ของเรา เราต้องหาความรู้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ สู้ทุกรูปแบบ ไม่แปลกแยกชุมชน คือสู้ทุกงานไม่ว่าจะเป็นเชิงวิชาการ หรือว่างานชุมชน ตื่นตนอยู่เสมอก็คือเราต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และต้องชื่นชมให้กำลังใจกับเพื่อนร่วมงาน”

ในฐานะของผู้ที่ทำงานคลุกคลีกับวงการการศึกษามาเป็นเวลานาน ผอ.สดศรีทิ้งท้ายด้วยการแสดงความคิดเห็นต่อระบบการศึกษาของจังหวัดภูเก็ตว่า “จังหวัดภูเก็ตนี้เป็นจังหวัดที่เปิดกว้างทางการศึกษา ผู้ปกครองสนับสนุนบุตรหลานเรื่องการศึกษามาเป็นเวลานานแล้ว และเมื่อจังหวัดเราเติบโตเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก โอกาสทางการศึกษาจึงยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เพราะเด็กมองเห็นแนวทางอาชีพที่จะรองรับเมื่อจบการศึกษาแล้ว เรามีมหาวิทยาลัยถึง 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และยังมีวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่มีความเข้มแข็ง เมื่อเด็กจบจากมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะมีทางเลือกอย่างหลากหลาย อีกทั้งยังมีระบบการแนะแนวที่ถือว่าเข้มแข็ง ชุมชนก็ให้การสนับสนุน ฉะนั้นตรงนี้เด็กในจังหวัดภูเก็ตก็ถือว่าโชคดีมีโอกาสเพราะทุกคนมีความเข้าใจเรื่องการศึกษา ว่าการศึกษาไม่เพียงแค่การเรียนรู้ แต่ต้องใช้การศึกษา ใช้การเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิผลด้วย ต้องถือว่าการศึกษาของจังหวัดภูเก็ตมีความเข้มแข็ง และมีโอกาสเติบโตไปได้อีกไกลทีเดียว”

:: บทความนี้เคยถูกตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ทองหลังพระ" ของ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เมื่อเดือนมีนาคม2550 ::
บทความ โดย ชุติมา กิตติธรกุล

:: บาติกลายไทย


ชำนาญ ยอดแก้ว บาติกลายไทย

หากจะเอ่ยถึงเสน่ห์ของผ้าบาติกภูเก็ต ใครๆ คงนึกถึงสีสันและลวดลายใต้ท้องทะเลลึก นกนานาพันธุ์ และดอกไม้หลากรูปแบบ ที่เราเห็นกันชินตาทั่วๆ ไป แต่คงไม่มีใครนึกว่าเส้นสายลวดลายไทยอันวิจิตรที่สืบทอดเป็นมรดกของชาติจะมาปรากฏบนผืนผ้าด้วยเทคนิควิธีการทำบาติก อาจด้วยเพราะความละเอียดลออที่หลายคนมองว่าเป็นอุปสรรคของงานบาติก อาจเพราะมุมมองที่เห็นว่าลายไทยไม่ใช่สิ่งใกล้ตัว หรืออาจเพราะการยึดติดในรูปปลา นก ดอกไม้ของผ้าบาติกที่มีอยู่ทั่วไป ต้องยอมรับว่าเราเองก็ไม่เคยนึกได้เช่นกันว่าผ้าบาติกจะมีลวดลายอะไรมากไปกว่าที่เห็นอยู่ จนได้มาพบกับชายหนุ่มคนนี้ คุณชำนาญ ยอดแก้ว ในวันที่เขากำลังสร้างสรรค์ผลงานบาติกในรูปแบบที่แปลกและแตกต่างออกไป “บาติกลายไทย” นอกเหนือจากผลงานที่งดงามฉีกแนวแล้ว ความมุ่งมั่นในแววตาขณะเขาบรรจงลากเส้นต่อลวดลายที่ซับซ้อน ตลอดจนแนวคิดที่มาของการสร้างงานที่แตกต่าง คือความน่าสนใจของชายคนนี้

เรามีนัดกับคุณชำนาญ หรือโกตุ้ม ในสถานที่ที่คุ้นเคย เรามีโอกาสได้มาที่นี่ครั้งหนึ่งแล้วเพื่อสัมภาษณ์คุณจำรัส ภูมิภูถาวร หรือแป๊ะสุ่น เกษตรกรผู้เป็นต้นแบบของความพอเพียง และกลับมาที่นี่อีกครั้งเพื่อคุยกับโกตุ้ม ผู้ซึ่งเรียกแป๊ะสุ่นด้วยความเคารพว่า “ป๋า” เขาขยายความถึงความสัมพันธ์กับชายต่างวัยผู้นี้ และความเป็นมาของตัวเองว่า “ลุงของผมเป็นน้องเขยของแป๊ะสุ่น เดิมทีผมเป็นคนจังหวัดพัทลุง พอจบ ม.3 ก็ย้ายมาอยู่ภูเก็ตตั้งใจว่าจะมาเรียนต่อ แต่ปรากฏว่าเอกสารการเข้าเรียนไม่เรียบร้อย ก็เลยต้องอยู่ว่าง 1 ปี ผมออกจากบ้านมาตัวคนเดียวก็ได้ป๋าหรือแป๊ะสุ่นให้ความช่วยเหลือ พอผมอายุ 15 ปี ก็ได้ไปเรียนต่อ ม.4 ที่นครศรีธรรมราช ที่โรงเรียนชะอวด หลังจากนั้นชีวิตก็ไปเรื่อยๆ เคยไปลงเรียนรามฯ แต่ว่าเรียนไม่ได้ ก็กลับมาจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต คณะศิลปศาสตร์ สาขาการพัฒนาชุมชน จบเมื่อปี 2542 นี้เอง ส่วนการทำงานเมื่อก่อนนั้น กลางวันผมรับเหมาทำไฟฟ้า ส่วนกลางคืนไปเล่นดนตรีตามร้านอาหาร แต่พอเรียนจบที่ราชภัฏฯ ภูเก็ตก็สอบเข้าทำงานได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ทำอยู่ 2 – 3 ปี มันก็เกิดท้อ ก็เลยมาปรึกษาป๋าว่าอยากจะออกจากงานที่ทำอยู่ มาทำงานที่เป็นส่วนตัว ป๋าก็สนับสนุนให้ออกมาช่วยงานที่บ้าน เพราะงานของป๋าก็หลายอย่างล้นมืออยู่แล้ว และอย่างไรเสียอยู่ที่บ้านนี้ก็คงไม่อดตาย ผมก็เลยได้ออกมาช่วยแบ่งเบาภาระ โดยเฉพาะในส่วนของเอกสารต่างๆ ป๋าท่านให้ความรักช่วยเหลือแนะนำเหมือนเราเป็นลูกเป็นหลานคนหนึ่ง ท่านเองก็มีเพียงลูกสาวไม่มีลูกชาย เราจึงเหมือนเป็นลูกชายคนหนึ่งของครอบครัว ส่วนตัวผมเองนั้นก็เรียกท่านว่าป๋า ด้วยความรักและเคารพเช่นกัน”

ส่วนจุดเริ่มต้นในการทำงานบาติกนั้น เขาเล่าว่า “เนื่องจากว่าที่นี่เรามีการรวมกลุ่มเกษตรกรส่งเสริมอาชีพต่างๆ รวมทั้งมีการทำผ้าบาติกด้วย ที่บ้านนี้จึงเป็นแหล่งผลิตที่ชาวบ้านละแวกนี้จะมารวมกลุ่มกันทำผ้าบาติก มีวิทยากรมาสอน มาให้ความรู้เทคนิคการทำผ้าบาติกเพิ่มเติมอยู่บ่อยๆ ผมเองก็มีความสนใจก็ได้เข้าไปเรียนกับเขาบ้าง แต่เราไม่มีความรู้พื้นฐานในการทำผ้าบาติก หรือพื้นฐานทางศิลปะเลย ทีนี้ผมเห็นว่าผ้าบาติกที่เขาทำกันอยู่ก็จะเป็นลายทั่วๆ ไปที่เห็นกันเป็นประจำ ผมก็เกิดความคิดว่าทำไมเราไม่ทำผ้าบาติกลายไทยดูบ้าง ความคิดนี้มันเกิดขึ้นจากการที่เรามีความชื่นชอบ ชื่นชมในความสวยงามของลายไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นไทย เวลาไปเห็นตามที่ไหนๆ ผมจะชอบดู ยืนดูอยู่เป็นนาน พอเห็นเขาทำผ้าบาติกกันก็เกิดความคิดว่าเออนะ ถ้าเกิดว่าลวดลายพวกนั้นมาอยู่บนผืนผ้ามันน่าจะเป็นไปได้ มันน่าจะมีคุณค่ามากขึ้น เมื่อเกิดความคิดเช่นนี้ก็ไปบอกกับป๋าว่าเราน่าจะทำผ้าบาติกลายไทย มันน่าจะเป็นไปได้นะ ป๋าก็ไม่ขัดแย้งอะไร แต่ครั้นจะให้ไปลองทำร่วมกับในกลุ่ม ตรงนั้นเขาก็ทำเป็นอาชีพอยู่ ป๋าก็เลยจัดหาอุปกรณ์ให้ผมชุดนึงเลย ให้ไปหัดทำอยู่คนเดียวที่ท้ายสวน”



ด้วยไอเดียที่ไม่เหมือนใคร เมื่อเขาคิดต่างจากคนส่วนมาก คำวิจารณ์ต่างๆ นานาต้องมีตามมาอย่างแน่นอน กว่าจะผลักดันความคิดในหัวสมองให้ออกมาเป็นผลงานซึ่งเป็นที่ยอมรับได้นั้น โกตุ้มเล่าว่าเขาต้องเผชิญกับคำสบประมาทคำแล้วคำเล่า จากคนรอบข้าง “ก่อนหน้านั้นผมก็ได้เข้าไปฝึกหัดอยู่ในกลุ่ม แต่เนื่องจากเรายังทำไม่เป็นต้องไปตามหลังคนที่เขาเป็นอยู่แล้ว เราก็เลยค่อนข้างจะเหมือนเป็นตัวถ่วงของกลุ่มที่เขาเรียนกัน แล้วยิ่งเอาความคิดที่จะทำผ้าบาติกลายไทยไปเสนอ เรายิ่งถูกมองเป็นตัวประหลาดเลย ผมเคยถามคนที่มาสอนว่าเราจะทำลายไทยแบบนี้ได้ไหม เขาตัดบทด้วยการบอกว่าผ้าบาติกต้องทำลายทะเล ลายดอกไม้ ไม่ใช่ลายแบบนี้ ลายแบบนี้เขียนเทียนไม่ได้ เราก็เลยเกิดทิฐิมานะขึ้นมาว่าจะต้องทำให้ได้ พอเริ่มวาดรูป ผมก็วาดรูปม้ามีเขา มีกนกลายไทยตามความชอบของผม พอเอามาให้เพื่อนๆ ที่เขาเรียนกันอยู่ดู เขาก็มองว่ามันเป็นตัวประหลาด แล้วเราก็เป็นคนประหลาด เขามองว่ามันพิสดารเกินไป งานแบบนี้ไม่ใช่งานบาติก มันต้องเป็นงานสีน้ำมัน สีอะคลิลิก อะไรแบบนั้น นั่นคือความรู้สึกของเขา เราก็มีความรู้สึกว่าเราเป็นส่วนเกินของกลุ่ม ก็เลยแอบมาฝึกของเราเอง แอบเขียนอยู่คนเดียวจากคนที่เขียนเทียนไม่เป็นเลย อาศัยเห็นเขาทำแล้วเราก็แอบมาทำบ้าง ครูพักลักจำทดลองทำด้วยตัวเอง กว่าจะได้ผลงานสำเร็จออกมามีคำทับถมดูถูกเยอะแยะสารพัด เช่นว่า “จะไปถึงดวงดาวหรือ” “บ้าไปแล้วหรือทำลายแบบนี้” “แปลกประหลาด” ที่หนักที่สุดก็คือ “แบบนี้ไม่ใช่ผ้าบาติก” หรือไม่ก็ “ทำไปทำไมผ้าแบบนี้ ทำขายใคร ใครจะซื้อ ทำไปก็เปลืองผ้า เปลืองสี เสียเวลา” คำพูดพวกนี้จะได้ยินอยู่ตลอดเวลา”

แม้จะรู้ว่าเป็นใครที่ได้ยินคำถากถางทำลายกำลังใจสารพัดเช่นนี้ คงต้องรู้สึกเสียใจ ท้อและอาจถอยไปแล้ว แต่เราก็ยังอยากรู้ว่าโกตุ้มรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยินคำสบประมาทเช่นนี้ เขาเล่าถึงความรู้สึกในวันนั้นว่า “ก็ยอมรับว่าผมเป็นคนอ่อนไหวมาก ถูกหนักๆ เข้าโต้ตอบใครไม่ได้จะร้องเอาก็มี มันแค้นนะ แต่ว่าทุกอย่างก็มีป๋าเป็นคนให้กำลังใจอยู่ ป๋าจะพยายามถ่วงหินเอาไว้ เตือนสติเราว่าต้องทำให้ได้ ป๋าสอนเสมอว่าการที่เราจะตอบโต้ใครนั้น เราอย่าโต้ตอบด้วยคำพูด อย่าโต้ตอบด้วยกำลัง แต่ให้โต้ตอบด้วยผลงาน ต้องพยายามทำให้เขาเห็น ช่วงแรกๆ นี่เรียกว่าเขียนผ้าทิ้งไปเป็นม้วนๆ เลย คือเขียนออกมาแล้วงานหยาบบ้าง ใช้ไม่ได้บ้าง ใช้เวลาร่วม 2 ปีเห็นจะได้ทำมาเรื่อยๆ ใช้เวลากลางคืนเขียนถึงตีสองตีสามคือถ้างานไม่เสร็จผมก็จะไม่นอน อันไหนใช้ได้ก็พับเก็บไว้บ้างโดยที่ไม่เคยคาดหวังว่าทำออกมาแล้วจะขายได้ จนมาช่วงปลายปี 2547 ก็ได้ทำเสื้อตัวแรกให้ป๋าใส่ ให้แม่ซึ่งเป็นภรรยาของป๋าใส่ แล้วก็ทำใส่เอง แล้วเวลาใส่ไปเดินตามงานต่างๆ มีคนเห็นเขาก็เข้ามาถามแล้วก็สั่งทำ ก็เริ่มทำเสื้อบาติกลายไทยขาย แล้วลูกค้านอกจากได้เสื้อที่มีลวดลายสวยงามแล้ว เรายังให้ข้อมูลเกี่ยวกับลายเหล่านั้น เช่นประวัติความเป็นมา เรื่องราวของลายนั้นๆ แนบไปเป็นความรู้ให้ด้วย”

และเนื่องด้วยลวดลายไทยนั้นเป็นศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ เป็นศิลปะที่มีแบบแผน ในการทำงานของโกตุ้มจึงต้องศึกษาหาความรู้และข้อมูลต่างๆ เพื่อจะได้ถ่ายทอดความงดงามของศิลปะลายไทยได้อย่างถูกต้องตามแบบแผน “ตั้งแต่เริ่มแรกเลย พอคิดจะทำผ้าบาติกลายไทย ก็คุยกันกับป๋า ปรึกษากันวาเราต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม เพราะเท่าที่มีอยู่จากแหล่งเรียนรู้ในจังหวัดจากการหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตคงไม่เพียงพอ ก็เลยตกลงขึ้นกรุงเทพฯ กันเพื่อไปหาข้อมูล ก็ได้ป๋าอีกนี่แหละที่ไปเป็นเพื่อน ไปหาหนังสือค้นคว้าจากหอสมุดแห่งชาติ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เกี่ยวกับเรื่องลายไทย เรื่องตำนานชาดก เรื่องป่าหิมพานต์สัตว์หิมพานต์ต่างๆ ไปนั่งอ่านกันเป็นวันๆ อันไหนที่จดได้ก็จด อันไหนที่จดไม่ได้ ถ่ายรูป ถ่ายเอกสารมาไม่ได้ ก็ต้องจำมา ไปดูไปเที่ยวตามพระราชวังต่างๆ แล้วก็หาซื้อหนังสือมาประกอบ ต้องหาข้อมูลเพื่อเอามาใช้ในการทำงานของเราในการวาดภาพ ต้องจินตนาการถึงภาพป่าหิมพานต์ว่าเป็นอย่างไร สัตว์หิมพานต์ต่างๆ มีรูปร่างลักษณะท่าทางเป็นอย่างไร แล้วก็ถ่ายทอดออกมาตามแบบตามลวดลายที่ถูกต้อง”

ไม่เพียงแค่งานบาติกลายไทยบนเสื้อเชิ้ตเท่านั้นที่เป็นผลงานของโกตุ้ม เรายังเห็นผลงานบาติกภาพสัตว์หิมพานต์แปลกตาขนาดใหญ่หลายๆ ภาพ ทั้งที่ยังเป็นผืนผ้าขึงตึงรอการลงสีให้เสร็จสวยงาม และที่ใส่กรอบวางไว้เรียบร้อยแล้ว “หลังจากทำเป็นเสื้อแล้วป๋าก็เป็นคนบอกผมว่าอย่าอยู่แต่กับบ้าน ถ้าเราทำงานอยู่แต่ที่บ้านก็เหมือนกับเราอยู่ในกะลา ต้องพยายามออกไปดูร้านอื่น ไปเที่ยวร้านอื่น ไปซื้อของเขามาดูบ้าง ผมก็ได้ไปเห็นเขาทำภาพบาติกใส่กรอบ ก็พบว่าลายเดียวกันนี้แหละพอเป็นเสื้อก็ขายได้ราคาหนึ่ง แต่พอใส่กรอบแล้วมันสามารถเพิ่มมูลค่าของงานได้หลายเท่าตัวเลย ก็มีความคิดว่าเราน่าจะลองทำดูบ้าง พอมาทำก็รู้สึกว่างานใส่กรอบเป็นภาพติดฝาผนังมันมีคุณค่ากว่าทำบนเสื้อ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องราคานะ นี่คือเรื่องความรู้สึกว่ามันมีคุณค่ามากกว่า ก็เลยมาเน้นทำภาพใส่กรอบ ถ้ามีเวลาว่างไม่มีเสื้อที่ลูกค้าสั่งมาผมจะทำงานใส่กรอบเก็บเอาไว้ ภาพที่วาดก็มีทั้งสัตว์ในป่าหิมพานต์ เช่น พยัคฆเวนไตยที่มีหัวเป็นเสือ ลำตัวจากเอวลงมาเป็นครุฑ มีหางเป็นหงส์ คชปักษาซึ่งมีหัวเป็นช้างตัวเป็นนก โลโตซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานชาดกจีนเป็นสัตว์ที่ผสมกันระหว่างสิงโตที่เป็นเจ้าป่ากับมังกรที่เป็นจ้าวสมุทร และต้นไม้ในวรรณคดีต่างๆ” โกตุ้มเล่าถึงผลงานอันวิจิตรแต่ละชิ้นของเขาพร้อมเรื่องราวความเป็นมาอย่างผู้ที่ศึกษาอย่างจริงจัง ก่อนเล่าถึงภาพแรกที่ขายได้ด้วยความภูมิใจว่า

“พอเริ่มวาดใส่กรอบตั้งไว้ก็ตั้งราคาไว้ที่ภาพละ 2,500 บาท คือคิดจากต้นทุนค่าแรง ค่าอุปกรณ์และค่ากรอบเท่านั้น ก็มีคนมาที่บ้านเริ่มมาเห็นงานเราเขาก็สนใจถามซื้อ ปรากฏว่างานชิ้นแรกที่ขายได้เป็นภาพม้าไกรสรคาวีซึ่งเป็นม้าทรงของพระอิศวร ตอนนั้นดีใจมาก เงินที่ได้มาก็เอาไปแบ่งให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนเลย เพราะรู้สึกเป็นน้ำพักน้ำแรงของเราที่ได้ทุกๆ คนช่วยเป็นกำลังใจให้ตลอดมา แล้วหลังจากนั้นก็ขายงานได้บ้างไม่ได้บ้าง พอดีมีพี่ที่รู้จักคนหนึ่งเขาเป็นศิลปินได้มาดูงานของเรา เขาบอกว่าให้ตั้งราคาสูงกว่านี้ เพราะงานพวกนี้เป็นงานศิลปะ มันเกิดจากฝีมือ เกิดจากจินตนาการของเรา ตั้งราคา 2,500 อย่างนี้ขายไม่ได้หรอก ลองตั้ง ซัก 3 – 4 หมื่นดูสิแล้วจะขายได้ ผมก็เลย เอาวะ! ลองตั้งดู แต่ก็ไม่กล้าตั้งสูง ซัก 15,000 บางรูปที่ขนาดใหญ่ รายละเอียดเยอะ ก็ซัก 20,000 - 25,000 มีโอกาสได้ไปออกงานต่างๆ อย่างถนนวัฒนธรรม ผมขนภาพไปตั้งขายก็ขายได้ มีคนสนใจงานของเรามาถามมาชมผมก็รู้สึกดีใจแล้ว แล้วที่รู้สึกดีใจยิ่งขึ้นไปอีกก็คือคนที่เขาเคยดูถูกเราว่างานแบบนี้จะทำไปทำไม เปลืองผ้าเปลืองสี ปรากฏว่าถึงเวลานี้เขากลับมาตามให้เราไปช่วยสอน ก็ทำให้รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมาก”

แต่ความภูมิใจของโกตุ้มไม่ได้หยุดที่เพียงทำงานออกมาเป็นผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับสามารถลบคำสบประมาทของใครต่อใครได้เพียงเท่านั้น หากแต่เขายังได้รับโอกาสที่น่าภาคภูมิใจยิ่ง นั่นคือการได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในฐานะศิลปินภาพบาติกลายไทย เมื่อวันที่ 9 – 13 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา ณ สวนอัมพร ในงานของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เขาเล่าถึงโอกาสที่น่าภาคภูมิใจอย่างที่สุดครั้งนี้ว่า “ก่อนหน้าที่จะได้รับการติดต่อไปแสดงงานที่สวนอัมพรนั้น มีกลุ่มสตรีชาวมุสลิมมาขอซื้อผลงานของผมเพื่อไปทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เป็นภาพโลโตที่ผมเขียนใส่กรอบเอาไว้แล้ว ก็เลยทำให้หลายๆ ท่านในสำนักพระราชวังมีโอกาสได้เห็นผลงานตรงนั้นและมีความสนใจในงานผ้าบาติกลายไทย ประกอบกับทางกรมส่งเสริมสหกรณ์เขาก็มีการจัดงานขึ้นที่สวนอัมพร ผมเองก็ทำงานสังกัดอยู่ในกลุ่มสหกรณ์ด้วยคือเป็นวิทยากรของกรมฯ อยู่ เขาก็เลยให้โอกาสติดต่อให้เอาผลงานไปโชว์ที่สวนอัมพร และที่สำคัญคือสมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จเป็นประธานเปิดงาน เสด็จชมงาน และจะทรงทดลองวาดผ้าบาติกด้วย หลังจากปรึกษาทางบ้านผมก็ตอบตกลงทันที แล้วจึงเดินทางไปในนามกลุ่มพาราบาติกของจังหวัดภูเก็ต ในวันงานสมเด็จพระเทพฯ ทรงสนพระทัยบูธผ้าบาติกเป็นอย่างมาก ทรงรับฟังผมถวายรายงานถึงวิธีการทำผ้าบาติก ที่มาและความหมายของภาพโลโตที่นำไปแสดง แล้วก็ทรงลองวาดภาพลงบนผืนผ้าด้วยพระองค์เอง ตอนแรกทรงนึกไม่ออกว่าจะวาดรูปอะไร พอดีทรงหันไปเห็นบูธข้างๆ เขาทำปลาตะเพียนสานจากจังหวัดอยุธยา ก็ทรงยิ้มเหมือนนึกออกว่าจะทรงวาดรูปอะไร แล้วก็ทรงตักเทียนวาดภาพปลาตะเพียนโดยไม่ต้องร่างเลย ทรงประทับในบูธผ้าบาติกจากจังหวัดภูเก็ตของเรากว่าหนึ่งชั่วโมงเลยทีเดียวแล้วจึงเสด็จไปบูธอื่นๆ ตลอดระยะเวลาที่ทรงประทับในบูธมีหลายๆ คำที่ทรงรับสั่งแล้วสร้างความปลาบปลื้มให้ตัวผมเป็นอย่างมาก เช่น ตอนที่พระองค์ตรัสถามผมว่า “คนฝีมือดีๆ อย่างนี้มีเยอะหรือเปล่า ทำกันหลายคนไหม” ผมรู้สึกว่าพระองค์พระราชทานคำชมแก่เราว่ามีฝีมือดี รู้สึกว่าน่าภูมิใจมาก และผมยังได้ถวายรายงานเรื่องที่ผมและครอบครัวได้ทำกิจกรรมสอนผ้าบาติกให้เด็กๆ ในชุมชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และเป็นการสืบทอดการทำผ้าบาติกให้คนรุ่นใหม่ แต่ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร พระองค์ก็ทรงตรัสว่า “อย่างไรก็ต้องทำต่อนะ อย่าเลิกนะ” โอกาสที่ได้เข้าเฝ้าฯ ในครั้งนี้เป็นกำลังใจและเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งกับสิ่งที่เราพยายามทุ่มเททำมา”


ระยะทางพิสูจน์ม้า การเวลาพิสูจน์คน ความสำเร็จได้พิสูจน์ความมุ่งมั่นของชายคนนี้แล้วตลอดระยะเวลาที่เขาพากเพียรทำตามสิ่งที่มุ่งหวังมา หากเขาท้อไปกับอุปสรรค ถอยไปกับคำสบประมาท คงไม่มีโอกาสค้นพบแนวทางของตัวเองซึ่งเป็นที่ยอมรับ มาถึงวันนี้แล้วหากถามว่าเขาอยากจะเอ่ยคำขอบคุณแก่ใครบ้าง ที่มีส่วนผลักดันเขาขึ้นมา โกตุ้มตอบได้ทันทีว่า “คนแรกที่ลืมไม่ได้เลย อยู่ในใจตลอดก็คือป๋า ที่ให้ทั้งโอกาส ให้ทั้งกำลังใจ รองลงมาก็คือครอบครัวทั้งแม่ พี่และน้องซึ่งเราต้องรับฟังกันและกัน ถ้าพวกเขาไม่ให้ความสนับสนุน ผมก็คงมาไม่ถึงจุดนี้ได้ และที่ต้องขอบคุณอีกอย่างหนึ่งก็คือร้านผ้าบาติกต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ตที่เขาอาจจะไม่รู้ตัวว่าพวกเขาครูผมนะ ที่สร้างผลงานให้ผมได้เห็นได้ดูได้จดจำสิ่งที่ดีๆ มา หลายๆ ท่านให้คำแนะนำที่ดี ถ้าไม่มีร้านทั้งหลายผมก็คงไม่สามารถพัฒนาฝีมือได้ ส่วนคนที่เคยสบประมาทผมเอาไว้ผมก็ต้องขอบคุณพวกเข้าด้วย เพราะถ้าไม่มีคำสบประมาทในวันนั้นเราอาจจะไม่ฮึดถึงขนาดนี้ เรื่องคำสบประมาทอะไรต่างๆ ผมไม่ได้ติดใจแล้ว ที่เราทำได้ยอมรับว่าภูมิใจแต่ที่ภูมิใจมากกว่านั้นคือเราสามารถเอาชนะตัวเองได้ เพราะผมเป็นคนที่วู่วามใจร้อน มาทำงานอย่างนี้ได้เพื่อนๆ หลายคนประหลาดใจกันทั้งนั้น เส้นที่เยอะ ลวดลายที่ซับซ้อนต้องอาศัยใจที่มุ่งมั่น วันไหนที่ใจกับมือไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันวันนั้นเราก็ทำงานไม่ได้ เหมือนกับเราได้ฝึกตัวเองไปด้วย ทั้งเรื่องสมาธิ และความมั่นคงในจิตใจ อย่างน้อยงานชิ้นหนึ่งที่เราทำถึงจะขายได้หรือไม่ได้ แต่สิ่งที่เราได้มากกว่าเงินก็คือเรื่องของจิตใจ เรื่องของความสุขในการทำงาน เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าเราสามารถเอาชนะตัวเราเองได้”

:: บทความนี้เคยถูกตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ทองหลังพระ" ของ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เมื่อเดือนเมษายน 2550 ::
บทความ โดย ชุติมา กิตติธรกุล

:: เกษตรกร ผู้ยึดมั่นในความพอเพียง


คุณจำรัส ภูมิถาวร ตัวอย่างเกษตรกร ผู้ยึดมั่นในความพอเพียง

บรรยากาศร่มรื่นของบ้านสวนที่เงียบสงบในซอยแม่กลิ่น แถบบ้านกู้กู ซึ่งไม่ไกลจากตัวเมือง กับรอยยิ้มแรกที่ต้อนรับจากชายวัยกว่า 60 ผู้สวมเสื้อบาติกกับกางเกงเลดูสบายแต่ทะมัดทะแมงนั่งรอเราอยู่ตามการนัดหมาย ทำให้บรรยากาศการพูดคุยกับทองหลังพระฉบับนี้เป็นไปอย่างสบายๆ คุณจำรัส ภูมิภูภาวร หรือแป๊ะสุ่น เกษตรกรผู้คลุกคลีกับวิถีเกษตรกรรมมากว่าครึ่งชีวิต เราเชื่อแน่ว่าเรื่องราวของเกษตรกรผู้จบ ป.4 แต่สามารถถ่ายทอดความรู้ เป็นครูสร้างอาชีพให้คนทำมาหากินมาแล้วมากมาย เกษตรกรผู้ยึดมั่นในวิถีของตนจนสามารถเป็นแบบอย่างในความพอเพียงท่านนี้มีความน่าสนใจ และน่าจะให้ข้อคิดสะกิดใจใครหลายคนที่กำลังวิ่งวนหาจุดยืนของตัวเอง

เส้นทางชีวิตเกษตรกรของแป๊ะสุ่นเป็นมาอย่างไรนั้น ท่านเล่าว่าในวัยเด็กท่านจบเรียนจบชั้น ป.4 จากโรงเรียนปลูกปัญญา หลังจากนั้นก็ไม่ได้เรียนต่อ เพราะว่าครอบครัวยากจน จึงออกมาฝึกงานทำงานรับจ้างที่โรงกลึงหลวงอนุภาษและบุตร สมัยนั้นได้ค่าแรงวันละ 3 บาท ทำงานตั้งแต่อายุ 13 จนถึงอายุ 24 ย่างเข้า 25 ก็เริ่มเบื่อหน่ายการเป็นลูกจ้าง เปลี่ยนอาชีพอยู่หลายอย่าง ทดลองหาอาชีพที่ตัวเองต้องการ สุดท้ายก็ตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางสายเกษตรกรรม “ตอนนั้นแป๊ะมีความคิดว่าอายุเราก็มากขึ้น ถ้ามัวแต่เป็นลูกจ้างไม่จับงานอะไรซักอย่างก็คงไม่ได้แล้ว ก็เลยเข้ามาอยู่สวน ยึดอาชีพเกษตรกรนี่แหละ ทั้งที่ตอนนั้นไม่มีพื้นฐานทางเกษตรเลย ก็ทำไปศึกษาไป เสียบ้างได้บ้าง ล้มลุกคลุกคลานมากับการเกษตร เริ่มต้นเข้าสวนถางป่า ปลูกกล้วย พอปลูกกล้วยเห็นใบกล้วยแห้งมีมากก็เลยมาเพาะเห็ดฟาง และเห็ดต่างๆ ทั้งเห็ดนางฟ้า เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดหูหนู เพาะจากใบกล้วยแห้งในสวนของเราเอง ฐานะก็เริ่มฟื้น ตั้งหลักตั้งฐานได้ด้วยการด้วยการเกษตร เพาะเห็ดอยู่ 10 ปี เกิดสุขภาพไม่ดีหมอบอกว่าเกิดจากคลุกคลีกับเชื้อรามากเกินไป ก็ต้องเลิกเพาะเห็ด หันมาปลูกผักสวนครัว เรียกว่าปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก แล้วเราก็เริ่มมองเห็นว่าดอกหน้าวัวพันธุ์เปลวเทียนภูเก็ตส่งออกจากภูเก็ตจนหมด แป๊ะก็เลยคิดอนุรักษ์พันธุ์ดอกหน้าวัวนี้เอาไว้ ตอนนี้ก็มีหลายพันต้นแล้ว นอกจากปลูกผัก เนื่องจากเรามีที่ทางใกล้ๆทะเล ก็ไม่ปล่อยทิ้งว่างเปล่า เลยทำบ่อไว้ให้กุ้งให้ปูเข้าไปอยู่ แล้วค่อยไปจับมันมากิน เหลือก็ส่งขาย ผักผลไม้ในสวนก็เช่นกัน นอกจากเก็บขาย เราก็เก็บกินกันในบ้าน ไม่ต้องไปซื้อที่อื่น ปัจจุบันทำแป๊ะการเกษตรมาก็ร่วม 31 ปีแล้วก็ยึดแนวทางอย่างนี้มาตลอด”

ระหว่างการพูดคุยกันนั้น เราแลเห็นเครื่องจักสาน ทั้งหมวก ฌะ หรือ ตะกร้าแบบภูเก็ต กันหม้อ หรือเสวียนหม้อ กระเป๋า ทั้งตั้งทั้งแขวนเรียงรายอยู่ ผลงานเหล่านี้ล้วนเป็นฝีมือของแป๊ะสุ่น เป็นอีกหนึ่งความสามารถที่ทั้งขายได้ และถ่ายทอดเป็นความรู้ให้ผู้อื่นได้อีกด้วย “ที่เริ่มทำเรื่องจักสานนี้ก็เพราะมีความคิดว่าปัจจุบันสิ่งเก่าๆ ของภูเก็ตมันสูญหายไปมาก โดยเฉพาะเรื่องการจักสาน ถ้าเราไม่หยิบขึ้นมาทำก็คงไม่มีใครทำ คนสมัยก่อนของใช้ภายในบ้านพวกนี้เขาทำเองหมดไม่มีซื้อ แต่เดี๋ยวนี้เครื่องจักสานพวกนี้ถูกของใช้พลาสติกตีตลาดเสียหมดก็เริ่มสูญหายไป ทีนี้แป๊ะเคยเห็นเขาทำสมัยเด็กๆ ไม่เคยเรียนจริงๆ จังๆ หรอกนะ อาศัยไปดูเขาทำ แล้วมาลองทำดู ผิดบ้างถูกบ้าง เอามาปรับปรุงประยุกต์จนได้มาตรฐาน อย่าง ฌะ หรือตะกร้าของภูเก็ตนี่เดี๋ยวนี้หายากแล้ว หรือกันหม้อ ที่คนสมัยก่อนเอาไว้รองตั้งหม้อในครัว ทำมาจากไม้ก้านมะพร้าว หรืออย่างหมวกนี่เป็นหมวกชาวนาภูเก็ต อันนี้ไม่เหมือนที่อื่นเลย” แป๊ะสุ่นชี้ให้เราดูหมวกปีกกว้าง 6 เหลี่ยมยอดแหลมที่แขวนอยู่ หน้าตาแปลกกว่าหมวกชาวนาแบบอื่นๆ ที่เราเคยเห็น นอกจากผลงานที่แขวนเรียงรายอยู่ แป๊ะสุ่นก็ยังหยิบผลงานอื่นๆ มาโชว์ มีทั้งแจกันใหญ่เล็ก กระเป๋าหิ้วแบบโบราณ กุบยาเส้น กระปุก ที่ใส่ของเบ็ดเตล็ดขนาดลดหลั่นกันไป หลากชนิดหลายแบบทีเดียว “ของพวกนี้ทำมาจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในสวนเราทั้งนั้น ทั้งใบเตยเขา ตอก ก้านมะพร้าว ไม้ไผ่ หรือแม้แต่เชือกกล้วย เนื่องจากเรามีต้นกล้วยมาก พอมันออกลูกแล้วก็ทำประโยชน์อะไรไม่ได้ เราก็เอาต้นมาฉีกเป็นเส้นๆ ตากแดดให้แห้ง อบน้ำยากันปลวก แล้วเอามาสานทำผลิตภัณฑ์พวกนี้ สามารถขายได้ เป็นที่ต้องการของตลาด และเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ทำรายได้ให้ครอบครัว”

ฝีมือการจักสานของแป๊ะสุ่นนั้นไม่เพียงสร้างรายได้เท่านั้น แต่แป๊ะสุ่นยังมีโอกาสได้ถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ “นอกจากเครื่องจักสานแล้ว แป๊ะก็ได้รื้อฟื้นของเล่นเก่าๆ ของเด็กที่เคยเล่นมาก่อน ที่ทำจากเปลือกลูกยาง ลูกยาง ใบมะพร้าว ได้รื้อฟื้นขึ้นมาและมีโอกาสได้ไปแสดงในงานย้อนอดีตเมืองภูเก็ต แล้วก็ได้ไปสอนเด็กตามโรงเรียนต่างๆ ให้สานนก สานปลา สานอะไรเล่น โรงเรียนต่างๆ ที่สนใจเขาก็จะเชิญมา นอกนั้นก็ได้ไปสอนให้พวกแม่บ้านบ้างเผื่อเขาสนใจจะได้ทำเป็นอาชีพสร้างรายได้”



ไม่เพียงเรื่องการจักสานเท่านั้นที่แป๊ะสุ่นมีโอกาสได้ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้อื่น หากแต่วิชาความรู้ในการทำมาหากิน โดยเฉพาะด้านการเกษตรนั้น แป๊ะสุ่นผู้คลุกคลีกับการเกษตรมากว่า 30 ปี ก็ได้มีความคิดที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคมโดยการรวมกลุ่มเกษตรกรขึ้น ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เกิดเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งจนปัจจุบันกลุ่มของแป๊ะสุ่นมีสมาชิกเกษตรกรร่วม 100 คนแล้ว

“เมื่อก่อนเรายังลำบากอยู่ เราก็ต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน พอเราคล่องตัวขึ้น ก็คิดว่าน่าจะทำอะไรเพื่อตอบแทนสังคม ทำประโยชน์ให้กับสังคมบ้าง ก็คือการให้ความรู้ ให้อาชีพกับคนอื่นๆ เริ่มแรกคือเนื่องจากประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา แป๊ะได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษายุวเกษตรกร ยุวนี่หมายความว่าอายุตั้งแต่ 15 – 25 ปี ทีนี้ในเมื่อเราอยู่มานานจน 30 ปี บางคนอายุมากขึ้น เลยเปลี่ยนเป็นกลุ่มเกษตรกร ภายในกลุ่มเราเน้นการส่งเสริมอาชีพ เน้นให้ทุกคนมีอาชีพ นอกจากนี้เราก็ได้ให้การช่วยเหลือด้านที่พักอาศัยแก่นักศึกษาที่มีฐานะยากจน ปีละ 2 คน เราไม่ได้ให้เป็นเงิน เราให้ที่อยู่ให้ที่กิน ตอนนี้ก็เรียนจบกันไปแล้วประมาณ 50 – 60 คน”
มีวัตถุประสงค์และแนวทางที่ชัดเจนอย่างนี้แล้วชื่อกลุ่มเกษตรกรของแป๊ะสุ่นมีชื่ออย่างเป็นทางการว่าอย่างไร? “นั่นไง!” แป๊ะสุ่นชี้ไปที่ป้ายอันโตที่แขวนอยู่หน้าบ้าน “กลุ่มกู้กูร่วมใจ” ก่อนอธิบายถึงที่มาของชื่อนี้ว่า “คือจริงๆ แล้วกลุ่มของเราเปิดกว้าง ไม่ว่าใครก็มาเป็นสมาชิกได้ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นคนภูเก็ต หรือว่าเป็นคนบ้านกู้กู คนต่างจังหวัดเราก็รับ แต่ที่ได้ตั้งชื่อกู้กูนั้นก็เพราะว่าบ้านกู้กูเป็นที่ตั้งกลุ่ม ผมเองจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่คนบ้านกู้กูตั้งแต่เกิด แต่ว่ามาอยู่ที่นี่นานแล้วก็ถือว่าเป็นคนกู้กู จึงอยากรักษาชื่อกู้กูเอาไว้ ส่วนการรวมกลุ่มนั้นเริ่มแรกเราต้องทำให้เขาเห็นผลก่อน ทำให้เขาเห็นว่าอันนี้ทำได้ มีผลดี มีตลาดรองรับ แล้วทุกคนก็จะเข้ามา อาจจะติดต่อผ่านหน่วยงานมา ติดต่อให้ไปช่วยสอนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แล้วเราก็เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน กลุ่มจึงเกิดขึ้นด้วยลักษณะอย่างนี้ แล้วอีกทางหนึ่งกลุ่มเกิดขึ้นภายในหมู่บ้านด้วย บางครั้งชาวบ้านก็มาปรึกษาเรื่องอาชีพ เราก็ต้องถามเขากลับว่าตัวเขาชอบอะไร พอรู้ตัวเองแล้วก็ให้รวมกลุ่มกันเข้าหลายๆ คน แล้วเราก็ไปของบประมาณบางส่วนจากราชการมาให้ กลุ่มของเราจะไม่มีการเรียกเก็บเงินอะไรทั้งสิ้น ค่าเปอร์เซ็นต์ต่างๆ ไม่มี เพราะคิดว่านั่นจะทำให้เกิดความคลางแคลงใจเกิดความแตกแยกของกลุ่มในภายหน้า กลุ่มของแป๊ะนี้เป็นกลุ่มแบบธรรมชาติ เราอยู่กันด้วยใจมากกว่า ช่วยเหลือให้คำปรึกษาแนะนำดูแลกัน ช่วยหาตลาดให้ อย่างเรื่องตลาดของเรามีกว้างมาก เพราะปัจจุบันแป๊ะก็เป็นอุปนายกสมาคมผู้นำอาชีพก้าวหน้าภาคใต้ ดูแลพื้นที่ 7 จังหวัดตอนบน จากชุมพรลงมา แล้วก็มีเครือข่ายทั่วประเทศ ตรงจุดนี้เราสามารถจะกระจายสินค้าออกไปได้ อย่างตอนนี้แป๊ะก็เซ็นสัญญาซื้อข้าวสารกับทางจังหวัดศรีสะเกษ แล้วเราก็ส่งอาหารทะเลแปรรูปไปให้เขาเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนด้วย”



ปัจจุบันนี้กลุ่มเกษตรกรกู้กูร่วมใจเติบโตและแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยมากมายหลายสาขา “ตอนนี้ภายในกลุ่มเราสามารถแบ่งย่อยออกเป็นกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มประมง กลุ่มปศุสัตว์ กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งแป๊ะก็เป็นรองประธานชมรมไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดภูเก็ตด้วย สำหรับผู้ที่สนใจ แป๊ะก็สามารถแนะนำได้ว่าต่อไปตลาดจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีพันธุ์เราก็ช่วยสั่งพันธุ์ ช่วยหาแหล่งซื้อแหล่งขายให้ หรืออย่างการปลูกผักไร้ดิน หรือไฮโดรโปนิก ที่ตอนนี้แป๊ะทำอยู่ก็ได้ผ่านการอบรมจากเกษตรจังหวัด ทดลองปลูกมา 2 ปีแล้ว โดยไปขอการสนับสนุนจากทางเกษตรฯ เขาให้โรงเพาะเลี้ยงมา 3 หลัง ตรงนี้แป๊ะไม่ได้คิดทำเพื่ออาชีพของตัวเอง แต่อยากทำเพื่อให้ทุกคนมาเรียนรู้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อจะได้ขยายต่อ นี่มีโครงการจะขยายให้ทั่วทั้งหมู่บ้าน แล้วเราก็จะสามารถกุมตลาดได้ อาจจะเข้าไปติดต่อห้างว่าเราจะส่งผักนี้ให้ตลอดทั้งปี ถ้าทำคนเดียวมันไม่ทัน เราก็ต้องทำหลายๆ เจ้าหมุนเวียนกันส่ง นอกจากนั้น ตอนนี้กลุ่มที่ตั้งเพิ่มขึ้นก็คือกลุ่มสมุนไพร โดยจะมีการจดบันทึกสมุนไพรพื้นบ้านชนิดต่างๆ เอาไว้ ใครมีความรู้เรื่องอะไรก็ให้มาถ่ายทอดและรวบรวมขึ้นทะเบียนไว้กับทางเกษตรฯ เพื่อจะจัดทำเป็นตำราต่อไป เพราะเราไม่ต้องการให้สมุนไพรและความรู้เหล่านี้สูญหายไป นอกจากนั้นก็มี กลุ่มจักสาน กลุ่มผ้าบาติก ซึ่งทางพัฒนาชุมชนได้เข้ามาเปิดโครงการส่งเสริมอาชีพเมื่อหลายปีก่อน แล้วเราก็ทำต่อกันมา พัฒนาฝีมือ ปรับปรุงลาย เราคิดว่าผ้าบาติกไม่จำเป็นต้องเป็นลายปลาอย่างเดียว จึงได้คิดทำผ้าบาติกลายไทยขึ้นมา ซึ่งตอนนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของทางกลุ่มเรา โดยทาง อบต.รัษฎาก็เข้ามาช่วยเหลือเงินทุนหมุนเวียนบ้าง ส่วนตลาดของกลุ่มบาติกนี้เราไม่มีหน้าร้าน แต่เราใช้วิธีการผลิตส่งหน่วยงานต่างๆ ที่สั่งมา เช่น อบต. หรือพัฒนาชุมชน ซึ่งเขาจะขายให้ทางอินเตอร์เน็ต เรียกได้ว่ามีตลาดรองรับ มีอนาคต ทุกวันนี้ขาดก็เพียงบุคลากร เพราะของทุกอย่างที่เราทำ ทั้งผัก ทั้งไม้ดอก ทั้งอาหารทะเล แทบจะไม่พอขายกับตลาดอยู่แล้ว”



ด้วยภาพความเข้มแข็งของกลุ่มฯ บวกกับภูมิปัญญาและความตั้งใจจริงที่จะถ่ายทอดความรู้ให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่นของแป๊ะสุ่น จึงทำให้มีผู้สนใจเข้ามาขอความรู้และศึกษาดูงานมากขึ้นๆ ทุกวัน บ้านของแป๊ะสุ่นจึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ผู้เข้ามาจะได้รับความรู้มากมายกลับไป “ก็ด้วยความตั้งใจว่าเราจะทำเพื่อชุมชน การทำงานของแป๊ะจึงทำแบบเป็นการสาธิต สอนคนอื่นไปด้วย ไม่ได้ทำเพื่อเราคนเดียว แล้วเราจะไม่หวงตลาด ไม่หวงความรู้ ทุกคนที่เขาต้องการมาเรียนกับเรา เราสอนหมด ที่บ้านนี้เลยกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ข้างหลังนี้จะเป็นสวน ปลูกผักสวนครัว แล้วก็อนุรักษ์หน้าวัวพันธุ์เปลวเทียนภูเก็ต ปลูกผักไร้ดิน และอีกหลายๆ อย่าง เขาก็สามารถมาเรียนรู้วิธีการทำสวนผสมว่าทำอย่างไร แล้วก็เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการจักสาน การทำผ้าบาติก และเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ที่นี่เราก็ใช้ปุ๋ยชีวภาพเป็นหลัก ปุ๋ยเคมีอาจจะมีบ้างบางตัวที่จำเป็นจริงๆ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ใช้ ที่นี่ก็เลยสามารถให้ความรู้เรื่องการทำปุ๋ยชีวภาพได้ แป๊ะผ่านการอบรมจากกรมพัฒนาที่ดินเป็นหมอดินอาสาจังหวัดสามารถให้คำปรึกษาเรื่องดินเรื่องปุ๋ยได้ด้วย อย่างบางคนอาจจะไม่เข้าใจว่าดินของเราปลูกอะไรได้บ้าง ก็สามารถเอาดินมาให้ที่นี่ตรวจได้ก่อนจะไปปลูกพืช จะได้รู้ว่าดินของเราขาดอาหารอะไร ไม่ต้องใส่ปุ๋ยสะเปะสะปะ เราจะให้คำปรึกษา ช่วยวิเคราะห์ดินให้ นอกจากนี้ ปัจจุบันเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกำลังเป็นที่สนใจ ที่นี่จึงเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย อย่างในปีนี้แป๊ะก็ได้รับโล่ห์ของจังหวัดเป็นบุคคลส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก็เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของเรามาตลอด”

พูดถึงรางวัล แป๊ะสุ่นเป็นบุคคลที่ได้รับรางวัลต่างๆ จากผลงานที่ทำมากมายจนเต็มตู้ และรางวัลหนึ่งที่น่าประทับใจยิ่งก็คือ รางวัลพ่อดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2549 ซึ่งเพิ่งได้รับไปเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา เป็นเครื่องยืนยันว่าด้านครอบครัว แป๊ะสุ่นก็ประสบความสำเร็จและเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นได้ แป๊ะสุ่นเล่าถึงครอบครัว และรางวัลที่ได้รับว่า “แป๊ะแต่งงานมาประมาณ 32 ปีแล้ว มีลูกสาว 2 คน ส่งเสริมให้เขามีการศึกษาทุกคน คนโตจบปริญญาตรีมีครอบครัวไปแล้ว คนเล็กจบปริญญาโท ตอนนี้ช่วยเหลือดูแลงานบัญชีภายในบ้านอยู่ การเลี้ยงดูลูก แป๊ะจะใช้วิธีทำตัวเป็นตัวอย่างให้ลูก การพูดคุยสั่งสอนก็มีบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการประหยัด มัธยัสถ์ แป๊ะไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยวเตร่นอกบ้าน ลูกๆ เขาก็เห็นเป็นแบบอย่าง รางวัลที่ได้รับนี้ก็รู้สึกภาคภูมิใจนะ ชีวิตหนึ่งก็ไม่เคยคิดว่าเราจะได้เป็นพ่อดีเด่น แต่ว่าแป๊ะคิดว่ารางวัลที่ได้มาไม่ใช่ความสามารถของแป๊ะคนเดียว เป็นความสามารถของครอบครัวด้วย ถ้าแม่บ้าน หรือว่าลูกเราไม่เป็นคนดีอยู่ในคุณธรรม เราก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ภูมิใจกับรางวัล และภูมิใจกันทั้งครอบครัว”

คุณธรรมอีกประการที่เรารู้สึกชื่นชมจากการที่ได้พูดคุยกับแป๊ะสุ่น ก็คือการเป็นผู้ใฝ่ศึกษา รักการเรียนไม่มีสิ้นสุด แม้ตัวเองจะจบการศึกษาชั้น ป.4 ผ่านวันเลยวัยของการเรียนรู้มานานแล้วก็ตาม แป๊ะสุ่นเล่าให้เราฟังด้วยความภูมิใจว่า ท่านเพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมปลาย จากการศึกษานอกโรงเรียน เมื่อปี 2545 ที่ผ่านมา และหากมีโอกาสในอนาคตอันใกล้นี้จะเรียนต่อให้จบระดับปริญญาตรีแน่นอน “เรื่องเรียนหนังสือแป๊ะมีความใฝ่ฝันอยากจะเรียนมาตลอด แต่ว่าฐานะทางครอบครัวยากจน ต่อมาเราก็มีภาระครอบครัว ก็ต้องส่งให้ลูกเรียนก่อน แล้วพอลูกเรียนจบตัวเองจึงเรียนบ้าง มีเวลาก็ไปเรียน กศน.จนจบ ม.ปลาย เมื่ออายุ 60 ปีแล้ว ความใฝ่ฝันต่อไปคิดว่าซักปีสองปีอยากจะเข้าราชภัฎฯ ต่อ ให้จบปริญญาตรี แป๊ะคิดว่าความรู้นี้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครมาฉกฉวยจากเราได้ มีแต่เราจะให้เขาได้อย่างเดียว เมื่อก่อนแป๊ะมองพรรคพวกเพื่อนฝูงเขาเรียนจบ คนนั้นเป็นนายธนาคาร คนนั้นเป็นอาจารย์ใหญ่ คนนั้นเป็นนายอำเภอ แต่เรานี้ จบ ป.4 เป็นตาสีตาสาไม่รู้อะไร ก็เคยคิดน้อยเนื้อต่ำใจตัวเอง แต่เราก็พยายามขวนขวายเรียนรู้ ไม่หยุดนิ่ง จนสามารถให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นได้ ถ้าเปรียบเทียบกับตัวเองจากวัยเด็ก เราเดินมาถึงตรงนี้ได้ถือว่าเต็มร้อยแล้ว”

ก่อนลาจากในวันนั้น เราขอให้แป๊ะสุ่นทิ้งท้ายด้วยข้อคิดเรื่องการเป็นอยู่อย่างพอเพียง เพราะเห็นว่าท่านเป็นต้นแบบที่ชัดเจนอย่างยิ่งในเรื่องการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “หากพูดถึงคำว่าพอเพียง เราต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าเราต้องการแค่ไหน เพราะคำว่าพอเพียงของคนเราไม่เท่ากัน เราต้องรู้ว่าความพอเพียงของเราอยู่ตรงไหน แล้วเราก็มุ่งไปถึงจุดนั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะหยุดนิ่ง เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ ต้องเรียนรู้ให้ทันโลก และแป๊ะอยากจะฝากข้อคิดว่า ตอนนี้ใครก็ตามที่ไปไหนไม่ถูก งงแล้ว มึนแล้ว ขอให้หยุดนิ่ง แล้วมองไปข้างหลัง ว่ามีอะไรบ้าง ปู่ย่าตายายเราเคยทำอะไรไว้บ้าง แล้วหยิบเอาตัวนั้นออกมา เหมือนแปะสุ่นครั้งหนึ่งก็เคยวนอยู่ในอ่าง คือเรามองแต่ที่สูง มองเงินร้อยล้านพันล้าน นั่นเป็นการคิดที่ผิด ขอให้หันกลับไปมองอดีตของตัวเอง แล้วหยิบจับสิ่งที่ปู่ย่าตายายของเราเคยทำมา โดยเฉพาะการเกษตรและการใช้ชีวิตแบบพอเพียง แล้วเราจะอยู่รอดได้แน่นอน”

:: บทความนี้เคยถูกตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ทองหลังพระ" ของ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เมื่อเดือนมีนาคม2550 ::
บทความ โดย ชุติมา กิตติธรกุล

เรื่องดีๆ ล่าสุด