โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต สนับสนุนให้เกิดเรื่องราวดีๆ ขึ้นในชุมชน ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่น กิจกรรมสาธารณะ ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ และทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม รวมทั้งการส่งเสริมกาเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ให้กับเจ้าหน้าที่, การดูแลสุขภาพ และในบล็อก StoryDD แห่งนี้ ได้รวบรวมบทความในโครงการส่งเสริมนักเขียนท้องถิ่น ให้สร้างผลงานเขียนเชิดชูบุคคล หรือหน่วยงานที่ทำความดี ให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจกับผู้อ่าน เพื่อร่วมสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนต่อไป

๑๔ ส.ค. ๒๕๕๐

:: บาติกลายไทย


ชำนาญ ยอดแก้ว บาติกลายไทย

หากจะเอ่ยถึงเสน่ห์ของผ้าบาติกภูเก็ต ใครๆ คงนึกถึงสีสันและลวดลายใต้ท้องทะเลลึก นกนานาพันธุ์ และดอกไม้หลากรูปแบบ ที่เราเห็นกันชินตาทั่วๆ ไป แต่คงไม่มีใครนึกว่าเส้นสายลวดลายไทยอันวิจิตรที่สืบทอดเป็นมรดกของชาติจะมาปรากฏบนผืนผ้าด้วยเทคนิควิธีการทำบาติก อาจด้วยเพราะความละเอียดลออที่หลายคนมองว่าเป็นอุปสรรคของงานบาติก อาจเพราะมุมมองที่เห็นว่าลายไทยไม่ใช่สิ่งใกล้ตัว หรืออาจเพราะการยึดติดในรูปปลา นก ดอกไม้ของผ้าบาติกที่มีอยู่ทั่วไป ต้องยอมรับว่าเราเองก็ไม่เคยนึกได้เช่นกันว่าผ้าบาติกจะมีลวดลายอะไรมากไปกว่าที่เห็นอยู่ จนได้มาพบกับชายหนุ่มคนนี้ คุณชำนาญ ยอดแก้ว ในวันที่เขากำลังสร้างสรรค์ผลงานบาติกในรูปแบบที่แปลกและแตกต่างออกไป “บาติกลายไทย” นอกเหนือจากผลงานที่งดงามฉีกแนวแล้ว ความมุ่งมั่นในแววตาขณะเขาบรรจงลากเส้นต่อลวดลายที่ซับซ้อน ตลอดจนแนวคิดที่มาของการสร้างงานที่แตกต่าง คือความน่าสนใจของชายคนนี้

เรามีนัดกับคุณชำนาญ หรือโกตุ้ม ในสถานที่ที่คุ้นเคย เรามีโอกาสได้มาที่นี่ครั้งหนึ่งแล้วเพื่อสัมภาษณ์คุณจำรัส ภูมิภูถาวร หรือแป๊ะสุ่น เกษตรกรผู้เป็นต้นแบบของความพอเพียง และกลับมาที่นี่อีกครั้งเพื่อคุยกับโกตุ้ม ผู้ซึ่งเรียกแป๊ะสุ่นด้วยความเคารพว่า “ป๋า” เขาขยายความถึงความสัมพันธ์กับชายต่างวัยผู้นี้ และความเป็นมาของตัวเองว่า “ลุงของผมเป็นน้องเขยของแป๊ะสุ่น เดิมทีผมเป็นคนจังหวัดพัทลุง พอจบ ม.3 ก็ย้ายมาอยู่ภูเก็ตตั้งใจว่าจะมาเรียนต่อ แต่ปรากฏว่าเอกสารการเข้าเรียนไม่เรียบร้อย ก็เลยต้องอยู่ว่าง 1 ปี ผมออกจากบ้านมาตัวคนเดียวก็ได้ป๋าหรือแป๊ะสุ่นให้ความช่วยเหลือ พอผมอายุ 15 ปี ก็ได้ไปเรียนต่อ ม.4 ที่นครศรีธรรมราช ที่โรงเรียนชะอวด หลังจากนั้นชีวิตก็ไปเรื่อยๆ เคยไปลงเรียนรามฯ แต่ว่าเรียนไม่ได้ ก็กลับมาจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต คณะศิลปศาสตร์ สาขาการพัฒนาชุมชน จบเมื่อปี 2542 นี้เอง ส่วนการทำงานเมื่อก่อนนั้น กลางวันผมรับเหมาทำไฟฟ้า ส่วนกลางคืนไปเล่นดนตรีตามร้านอาหาร แต่พอเรียนจบที่ราชภัฏฯ ภูเก็ตก็สอบเข้าทำงานได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ทำอยู่ 2 – 3 ปี มันก็เกิดท้อ ก็เลยมาปรึกษาป๋าว่าอยากจะออกจากงานที่ทำอยู่ มาทำงานที่เป็นส่วนตัว ป๋าก็สนับสนุนให้ออกมาช่วยงานที่บ้าน เพราะงานของป๋าก็หลายอย่างล้นมืออยู่แล้ว และอย่างไรเสียอยู่ที่บ้านนี้ก็คงไม่อดตาย ผมก็เลยได้ออกมาช่วยแบ่งเบาภาระ โดยเฉพาะในส่วนของเอกสารต่างๆ ป๋าท่านให้ความรักช่วยเหลือแนะนำเหมือนเราเป็นลูกเป็นหลานคนหนึ่ง ท่านเองก็มีเพียงลูกสาวไม่มีลูกชาย เราจึงเหมือนเป็นลูกชายคนหนึ่งของครอบครัว ส่วนตัวผมเองนั้นก็เรียกท่านว่าป๋า ด้วยความรักและเคารพเช่นกัน”

ส่วนจุดเริ่มต้นในการทำงานบาติกนั้น เขาเล่าว่า “เนื่องจากว่าที่นี่เรามีการรวมกลุ่มเกษตรกรส่งเสริมอาชีพต่างๆ รวมทั้งมีการทำผ้าบาติกด้วย ที่บ้านนี้จึงเป็นแหล่งผลิตที่ชาวบ้านละแวกนี้จะมารวมกลุ่มกันทำผ้าบาติก มีวิทยากรมาสอน มาให้ความรู้เทคนิคการทำผ้าบาติกเพิ่มเติมอยู่บ่อยๆ ผมเองก็มีความสนใจก็ได้เข้าไปเรียนกับเขาบ้าง แต่เราไม่มีความรู้พื้นฐานในการทำผ้าบาติก หรือพื้นฐานทางศิลปะเลย ทีนี้ผมเห็นว่าผ้าบาติกที่เขาทำกันอยู่ก็จะเป็นลายทั่วๆ ไปที่เห็นกันเป็นประจำ ผมก็เกิดความคิดว่าทำไมเราไม่ทำผ้าบาติกลายไทยดูบ้าง ความคิดนี้มันเกิดขึ้นจากการที่เรามีความชื่นชอบ ชื่นชมในความสวยงามของลายไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นไทย เวลาไปเห็นตามที่ไหนๆ ผมจะชอบดู ยืนดูอยู่เป็นนาน พอเห็นเขาทำผ้าบาติกกันก็เกิดความคิดว่าเออนะ ถ้าเกิดว่าลวดลายพวกนั้นมาอยู่บนผืนผ้ามันน่าจะเป็นไปได้ มันน่าจะมีคุณค่ามากขึ้น เมื่อเกิดความคิดเช่นนี้ก็ไปบอกกับป๋าว่าเราน่าจะทำผ้าบาติกลายไทย มันน่าจะเป็นไปได้นะ ป๋าก็ไม่ขัดแย้งอะไร แต่ครั้นจะให้ไปลองทำร่วมกับในกลุ่ม ตรงนั้นเขาก็ทำเป็นอาชีพอยู่ ป๋าก็เลยจัดหาอุปกรณ์ให้ผมชุดนึงเลย ให้ไปหัดทำอยู่คนเดียวที่ท้ายสวน”



ด้วยไอเดียที่ไม่เหมือนใคร เมื่อเขาคิดต่างจากคนส่วนมาก คำวิจารณ์ต่างๆ นานาต้องมีตามมาอย่างแน่นอน กว่าจะผลักดันความคิดในหัวสมองให้ออกมาเป็นผลงานซึ่งเป็นที่ยอมรับได้นั้น โกตุ้มเล่าว่าเขาต้องเผชิญกับคำสบประมาทคำแล้วคำเล่า จากคนรอบข้าง “ก่อนหน้านั้นผมก็ได้เข้าไปฝึกหัดอยู่ในกลุ่ม แต่เนื่องจากเรายังทำไม่เป็นต้องไปตามหลังคนที่เขาเป็นอยู่แล้ว เราก็เลยค่อนข้างจะเหมือนเป็นตัวถ่วงของกลุ่มที่เขาเรียนกัน แล้วยิ่งเอาความคิดที่จะทำผ้าบาติกลายไทยไปเสนอ เรายิ่งถูกมองเป็นตัวประหลาดเลย ผมเคยถามคนที่มาสอนว่าเราจะทำลายไทยแบบนี้ได้ไหม เขาตัดบทด้วยการบอกว่าผ้าบาติกต้องทำลายทะเล ลายดอกไม้ ไม่ใช่ลายแบบนี้ ลายแบบนี้เขียนเทียนไม่ได้ เราก็เลยเกิดทิฐิมานะขึ้นมาว่าจะต้องทำให้ได้ พอเริ่มวาดรูป ผมก็วาดรูปม้ามีเขา มีกนกลายไทยตามความชอบของผม พอเอามาให้เพื่อนๆ ที่เขาเรียนกันอยู่ดู เขาก็มองว่ามันเป็นตัวประหลาด แล้วเราก็เป็นคนประหลาด เขามองว่ามันพิสดารเกินไป งานแบบนี้ไม่ใช่งานบาติก มันต้องเป็นงานสีน้ำมัน สีอะคลิลิก อะไรแบบนั้น นั่นคือความรู้สึกของเขา เราก็มีความรู้สึกว่าเราเป็นส่วนเกินของกลุ่ม ก็เลยแอบมาฝึกของเราเอง แอบเขียนอยู่คนเดียวจากคนที่เขียนเทียนไม่เป็นเลย อาศัยเห็นเขาทำแล้วเราก็แอบมาทำบ้าง ครูพักลักจำทดลองทำด้วยตัวเอง กว่าจะได้ผลงานสำเร็จออกมามีคำทับถมดูถูกเยอะแยะสารพัด เช่นว่า “จะไปถึงดวงดาวหรือ” “บ้าไปแล้วหรือทำลายแบบนี้” “แปลกประหลาด” ที่หนักที่สุดก็คือ “แบบนี้ไม่ใช่ผ้าบาติก” หรือไม่ก็ “ทำไปทำไมผ้าแบบนี้ ทำขายใคร ใครจะซื้อ ทำไปก็เปลืองผ้า เปลืองสี เสียเวลา” คำพูดพวกนี้จะได้ยินอยู่ตลอดเวลา”

แม้จะรู้ว่าเป็นใครที่ได้ยินคำถากถางทำลายกำลังใจสารพัดเช่นนี้ คงต้องรู้สึกเสียใจ ท้อและอาจถอยไปแล้ว แต่เราก็ยังอยากรู้ว่าโกตุ้มรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยินคำสบประมาทเช่นนี้ เขาเล่าถึงความรู้สึกในวันนั้นว่า “ก็ยอมรับว่าผมเป็นคนอ่อนไหวมาก ถูกหนักๆ เข้าโต้ตอบใครไม่ได้จะร้องเอาก็มี มันแค้นนะ แต่ว่าทุกอย่างก็มีป๋าเป็นคนให้กำลังใจอยู่ ป๋าจะพยายามถ่วงหินเอาไว้ เตือนสติเราว่าต้องทำให้ได้ ป๋าสอนเสมอว่าการที่เราจะตอบโต้ใครนั้น เราอย่าโต้ตอบด้วยคำพูด อย่าโต้ตอบด้วยกำลัง แต่ให้โต้ตอบด้วยผลงาน ต้องพยายามทำให้เขาเห็น ช่วงแรกๆ นี่เรียกว่าเขียนผ้าทิ้งไปเป็นม้วนๆ เลย คือเขียนออกมาแล้วงานหยาบบ้าง ใช้ไม่ได้บ้าง ใช้เวลาร่วม 2 ปีเห็นจะได้ทำมาเรื่อยๆ ใช้เวลากลางคืนเขียนถึงตีสองตีสามคือถ้างานไม่เสร็จผมก็จะไม่นอน อันไหนใช้ได้ก็พับเก็บไว้บ้างโดยที่ไม่เคยคาดหวังว่าทำออกมาแล้วจะขายได้ จนมาช่วงปลายปี 2547 ก็ได้ทำเสื้อตัวแรกให้ป๋าใส่ ให้แม่ซึ่งเป็นภรรยาของป๋าใส่ แล้วก็ทำใส่เอง แล้วเวลาใส่ไปเดินตามงานต่างๆ มีคนเห็นเขาก็เข้ามาถามแล้วก็สั่งทำ ก็เริ่มทำเสื้อบาติกลายไทยขาย แล้วลูกค้านอกจากได้เสื้อที่มีลวดลายสวยงามแล้ว เรายังให้ข้อมูลเกี่ยวกับลายเหล่านั้น เช่นประวัติความเป็นมา เรื่องราวของลายนั้นๆ แนบไปเป็นความรู้ให้ด้วย”

และเนื่องด้วยลวดลายไทยนั้นเป็นศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ เป็นศิลปะที่มีแบบแผน ในการทำงานของโกตุ้มจึงต้องศึกษาหาความรู้และข้อมูลต่างๆ เพื่อจะได้ถ่ายทอดความงดงามของศิลปะลายไทยได้อย่างถูกต้องตามแบบแผน “ตั้งแต่เริ่มแรกเลย พอคิดจะทำผ้าบาติกลายไทย ก็คุยกันกับป๋า ปรึกษากันวาเราต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม เพราะเท่าที่มีอยู่จากแหล่งเรียนรู้ในจังหวัดจากการหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตคงไม่เพียงพอ ก็เลยตกลงขึ้นกรุงเทพฯ กันเพื่อไปหาข้อมูล ก็ได้ป๋าอีกนี่แหละที่ไปเป็นเพื่อน ไปหาหนังสือค้นคว้าจากหอสมุดแห่งชาติ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เกี่ยวกับเรื่องลายไทย เรื่องตำนานชาดก เรื่องป่าหิมพานต์สัตว์หิมพานต์ต่างๆ ไปนั่งอ่านกันเป็นวันๆ อันไหนที่จดได้ก็จด อันไหนที่จดไม่ได้ ถ่ายรูป ถ่ายเอกสารมาไม่ได้ ก็ต้องจำมา ไปดูไปเที่ยวตามพระราชวังต่างๆ แล้วก็หาซื้อหนังสือมาประกอบ ต้องหาข้อมูลเพื่อเอามาใช้ในการทำงานของเราในการวาดภาพ ต้องจินตนาการถึงภาพป่าหิมพานต์ว่าเป็นอย่างไร สัตว์หิมพานต์ต่างๆ มีรูปร่างลักษณะท่าทางเป็นอย่างไร แล้วก็ถ่ายทอดออกมาตามแบบตามลวดลายที่ถูกต้อง”

ไม่เพียงแค่งานบาติกลายไทยบนเสื้อเชิ้ตเท่านั้นที่เป็นผลงานของโกตุ้ม เรายังเห็นผลงานบาติกภาพสัตว์หิมพานต์แปลกตาขนาดใหญ่หลายๆ ภาพ ทั้งที่ยังเป็นผืนผ้าขึงตึงรอการลงสีให้เสร็จสวยงาม และที่ใส่กรอบวางไว้เรียบร้อยแล้ว “หลังจากทำเป็นเสื้อแล้วป๋าก็เป็นคนบอกผมว่าอย่าอยู่แต่กับบ้าน ถ้าเราทำงานอยู่แต่ที่บ้านก็เหมือนกับเราอยู่ในกะลา ต้องพยายามออกไปดูร้านอื่น ไปเที่ยวร้านอื่น ไปซื้อของเขามาดูบ้าง ผมก็ได้ไปเห็นเขาทำภาพบาติกใส่กรอบ ก็พบว่าลายเดียวกันนี้แหละพอเป็นเสื้อก็ขายได้ราคาหนึ่ง แต่พอใส่กรอบแล้วมันสามารถเพิ่มมูลค่าของงานได้หลายเท่าตัวเลย ก็มีความคิดว่าเราน่าจะลองทำดูบ้าง พอมาทำก็รู้สึกว่างานใส่กรอบเป็นภาพติดฝาผนังมันมีคุณค่ากว่าทำบนเสื้อ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องราคานะ นี่คือเรื่องความรู้สึกว่ามันมีคุณค่ามากกว่า ก็เลยมาเน้นทำภาพใส่กรอบ ถ้ามีเวลาว่างไม่มีเสื้อที่ลูกค้าสั่งมาผมจะทำงานใส่กรอบเก็บเอาไว้ ภาพที่วาดก็มีทั้งสัตว์ในป่าหิมพานต์ เช่น พยัคฆเวนไตยที่มีหัวเป็นเสือ ลำตัวจากเอวลงมาเป็นครุฑ มีหางเป็นหงส์ คชปักษาซึ่งมีหัวเป็นช้างตัวเป็นนก โลโตซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานชาดกจีนเป็นสัตว์ที่ผสมกันระหว่างสิงโตที่เป็นเจ้าป่ากับมังกรที่เป็นจ้าวสมุทร และต้นไม้ในวรรณคดีต่างๆ” โกตุ้มเล่าถึงผลงานอันวิจิตรแต่ละชิ้นของเขาพร้อมเรื่องราวความเป็นมาอย่างผู้ที่ศึกษาอย่างจริงจัง ก่อนเล่าถึงภาพแรกที่ขายได้ด้วยความภูมิใจว่า

“พอเริ่มวาดใส่กรอบตั้งไว้ก็ตั้งราคาไว้ที่ภาพละ 2,500 บาท คือคิดจากต้นทุนค่าแรง ค่าอุปกรณ์และค่ากรอบเท่านั้น ก็มีคนมาที่บ้านเริ่มมาเห็นงานเราเขาก็สนใจถามซื้อ ปรากฏว่างานชิ้นแรกที่ขายได้เป็นภาพม้าไกรสรคาวีซึ่งเป็นม้าทรงของพระอิศวร ตอนนั้นดีใจมาก เงินที่ได้มาก็เอาไปแบ่งให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนเลย เพราะรู้สึกเป็นน้ำพักน้ำแรงของเราที่ได้ทุกๆ คนช่วยเป็นกำลังใจให้ตลอดมา แล้วหลังจากนั้นก็ขายงานได้บ้างไม่ได้บ้าง พอดีมีพี่ที่รู้จักคนหนึ่งเขาเป็นศิลปินได้มาดูงานของเรา เขาบอกว่าให้ตั้งราคาสูงกว่านี้ เพราะงานพวกนี้เป็นงานศิลปะ มันเกิดจากฝีมือ เกิดจากจินตนาการของเรา ตั้งราคา 2,500 อย่างนี้ขายไม่ได้หรอก ลองตั้ง ซัก 3 – 4 หมื่นดูสิแล้วจะขายได้ ผมก็เลย เอาวะ! ลองตั้งดู แต่ก็ไม่กล้าตั้งสูง ซัก 15,000 บางรูปที่ขนาดใหญ่ รายละเอียดเยอะ ก็ซัก 20,000 - 25,000 มีโอกาสได้ไปออกงานต่างๆ อย่างถนนวัฒนธรรม ผมขนภาพไปตั้งขายก็ขายได้ มีคนสนใจงานของเรามาถามมาชมผมก็รู้สึกดีใจแล้ว แล้วที่รู้สึกดีใจยิ่งขึ้นไปอีกก็คือคนที่เขาเคยดูถูกเราว่างานแบบนี้จะทำไปทำไม เปลืองผ้าเปลืองสี ปรากฏว่าถึงเวลานี้เขากลับมาตามให้เราไปช่วยสอน ก็ทำให้รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมาก”

แต่ความภูมิใจของโกตุ้มไม่ได้หยุดที่เพียงทำงานออกมาเป็นผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับสามารถลบคำสบประมาทของใครต่อใครได้เพียงเท่านั้น หากแต่เขายังได้รับโอกาสที่น่าภาคภูมิใจยิ่ง นั่นคือการได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในฐานะศิลปินภาพบาติกลายไทย เมื่อวันที่ 9 – 13 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา ณ สวนอัมพร ในงานของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เขาเล่าถึงโอกาสที่น่าภาคภูมิใจอย่างที่สุดครั้งนี้ว่า “ก่อนหน้าที่จะได้รับการติดต่อไปแสดงงานที่สวนอัมพรนั้น มีกลุ่มสตรีชาวมุสลิมมาขอซื้อผลงานของผมเพื่อไปทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เป็นภาพโลโตที่ผมเขียนใส่กรอบเอาไว้แล้ว ก็เลยทำให้หลายๆ ท่านในสำนักพระราชวังมีโอกาสได้เห็นผลงานตรงนั้นและมีความสนใจในงานผ้าบาติกลายไทย ประกอบกับทางกรมส่งเสริมสหกรณ์เขาก็มีการจัดงานขึ้นที่สวนอัมพร ผมเองก็ทำงานสังกัดอยู่ในกลุ่มสหกรณ์ด้วยคือเป็นวิทยากรของกรมฯ อยู่ เขาก็เลยให้โอกาสติดต่อให้เอาผลงานไปโชว์ที่สวนอัมพร และที่สำคัญคือสมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จเป็นประธานเปิดงาน เสด็จชมงาน และจะทรงทดลองวาดผ้าบาติกด้วย หลังจากปรึกษาทางบ้านผมก็ตอบตกลงทันที แล้วจึงเดินทางไปในนามกลุ่มพาราบาติกของจังหวัดภูเก็ต ในวันงานสมเด็จพระเทพฯ ทรงสนพระทัยบูธผ้าบาติกเป็นอย่างมาก ทรงรับฟังผมถวายรายงานถึงวิธีการทำผ้าบาติก ที่มาและความหมายของภาพโลโตที่นำไปแสดง แล้วก็ทรงลองวาดภาพลงบนผืนผ้าด้วยพระองค์เอง ตอนแรกทรงนึกไม่ออกว่าจะวาดรูปอะไร พอดีทรงหันไปเห็นบูธข้างๆ เขาทำปลาตะเพียนสานจากจังหวัดอยุธยา ก็ทรงยิ้มเหมือนนึกออกว่าจะทรงวาดรูปอะไร แล้วก็ทรงตักเทียนวาดภาพปลาตะเพียนโดยไม่ต้องร่างเลย ทรงประทับในบูธผ้าบาติกจากจังหวัดภูเก็ตของเรากว่าหนึ่งชั่วโมงเลยทีเดียวแล้วจึงเสด็จไปบูธอื่นๆ ตลอดระยะเวลาที่ทรงประทับในบูธมีหลายๆ คำที่ทรงรับสั่งแล้วสร้างความปลาบปลื้มให้ตัวผมเป็นอย่างมาก เช่น ตอนที่พระองค์ตรัสถามผมว่า “คนฝีมือดีๆ อย่างนี้มีเยอะหรือเปล่า ทำกันหลายคนไหม” ผมรู้สึกว่าพระองค์พระราชทานคำชมแก่เราว่ามีฝีมือดี รู้สึกว่าน่าภูมิใจมาก และผมยังได้ถวายรายงานเรื่องที่ผมและครอบครัวได้ทำกิจกรรมสอนผ้าบาติกให้เด็กๆ ในชุมชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และเป็นการสืบทอดการทำผ้าบาติกให้คนรุ่นใหม่ แต่ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร พระองค์ก็ทรงตรัสว่า “อย่างไรก็ต้องทำต่อนะ อย่าเลิกนะ” โอกาสที่ได้เข้าเฝ้าฯ ในครั้งนี้เป็นกำลังใจและเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งกับสิ่งที่เราพยายามทุ่มเททำมา”


ระยะทางพิสูจน์ม้า การเวลาพิสูจน์คน ความสำเร็จได้พิสูจน์ความมุ่งมั่นของชายคนนี้แล้วตลอดระยะเวลาที่เขาพากเพียรทำตามสิ่งที่มุ่งหวังมา หากเขาท้อไปกับอุปสรรค ถอยไปกับคำสบประมาท คงไม่มีโอกาสค้นพบแนวทางของตัวเองซึ่งเป็นที่ยอมรับ มาถึงวันนี้แล้วหากถามว่าเขาอยากจะเอ่ยคำขอบคุณแก่ใครบ้าง ที่มีส่วนผลักดันเขาขึ้นมา โกตุ้มตอบได้ทันทีว่า “คนแรกที่ลืมไม่ได้เลย อยู่ในใจตลอดก็คือป๋า ที่ให้ทั้งโอกาส ให้ทั้งกำลังใจ รองลงมาก็คือครอบครัวทั้งแม่ พี่และน้องซึ่งเราต้องรับฟังกันและกัน ถ้าพวกเขาไม่ให้ความสนับสนุน ผมก็คงมาไม่ถึงจุดนี้ได้ และที่ต้องขอบคุณอีกอย่างหนึ่งก็คือร้านผ้าบาติกต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ตที่เขาอาจจะไม่รู้ตัวว่าพวกเขาครูผมนะ ที่สร้างผลงานให้ผมได้เห็นได้ดูได้จดจำสิ่งที่ดีๆ มา หลายๆ ท่านให้คำแนะนำที่ดี ถ้าไม่มีร้านทั้งหลายผมก็คงไม่สามารถพัฒนาฝีมือได้ ส่วนคนที่เคยสบประมาทผมเอาไว้ผมก็ต้องขอบคุณพวกเข้าด้วย เพราะถ้าไม่มีคำสบประมาทในวันนั้นเราอาจจะไม่ฮึดถึงขนาดนี้ เรื่องคำสบประมาทอะไรต่างๆ ผมไม่ได้ติดใจแล้ว ที่เราทำได้ยอมรับว่าภูมิใจแต่ที่ภูมิใจมากกว่านั้นคือเราสามารถเอาชนะตัวเองได้ เพราะผมเป็นคนที่วู่วามใจร้อน มาทำงานอย่างนี้ได้เพื่อนๆ หลายคนประหลาดใจกันทั้งนั้น เส้นที่เยอะ ลวดลายที่ซับซ้อนต้องอาศัยใจที่มุ่งมั่น วันไหนที่ใจกับมือไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันวันนั้นเราก็ทำงานไม่ได้ เหมือนกับเราได้ฝึกตัวเองไปด้วย ทั้งเรื่องสมาธิ และความมั่นคงในจิตใจ อย่างน้อยงานชิ้นหนึ่งที่เราทำถึงจะขายได้หรือไม่ได้ แต่สิ่งที่เราได้มากกว่าเงินก็คือเรื่องของจิตใจ เรื่องของความสุขในการทำงาน เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าเราสามารถเอาชนะตัวเราเองได้”

:: บทความนี้เคยถูกตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ทองหลังพระ" ของ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เมื่อเดือนเมษายน 2550 ::
บทความ โดย ชุติมา กิตติธรกุล

๒ ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ข้อมูลนี้ดีมากเลยค่ะ

Unknown กล่าวว่า...

ค่ะ

เรื่องดีๆ ล่าสุด