โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต สนับสนุนให้เกิดเรื่องราวดีๆ ขึ้นในชุมชน ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่น กิจกรรมสาธารณะ ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ และทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม รวมทั้งการส่งเสริมกาเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ให้กับเจ้าหน้าที่, การดูแลสุขภาพ และในบล็อก StoryDD แห่งนี้ ได้รวบรวมบทความในโครงการส่งเสริมนักเขียนท้องถิ่น ให้สร้างผลงานเขียนเชิดชูบุคคล หรือหน่วยงานที่ทำความดี ให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจกับผู้อ่าน เพื่อร่วมสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนต่อไป

๑๔ ส.ค. ๒๕๕๐

:: เกษตรกร ผู้ยึดมั่นในความพอเพียง


คุณจำรัส ภูมิถาวร ตัวอย่างเกษตรกร ผู้ยึดมั่นในความพอเพียง

บรรยากาศร่มรื่นของบ้านสวนที่เงียบสงบในซอยแม่กลิ่น แถบบ้านกู้กู ซึ่งไม่ไกลจากตัวเมือง กับรอยยิ้มแรกที่ต้อนรับจากชายวัยกว่า 60 ผู้สวมเสื้อบาติกกับกางเกงเลดูสบายแต่ทะมัดทะแมงนั่งรอเราอยู่ตามการนัดหมาย ทำให้บรรยากาศการพูดคุยกับทองหลังพระฉบับนี้เป็นไปอย่างสบายๆ คุณจำรัส ภูมิภูภาวร หรือแป๊ะสุ่น เกษตรกรผู้คลุกคลีกับวิถีเกษตรกรรมมากว่าครึ่งชีวิต เราเชื่อแน่ว่าเรื่องราวของเกษตรกรผู้จบ ป.4 แต่สามารถถ่ายทอดความรู้ เป็นครูสร้างอาชีพให้คนทำมาหากินมาแล้วมากมาย เกษตรกรผู้ยึดมั่นในวิถีของตนจนสามารถเป็นแบบอย่างในความพอเพียงท่านนี้มีความน่าสนใจ และน่าจะให้ข้อคิดสะกิดใจใครหลายคนที่กำลังวิ่งวนหาจุดยืนของตัวเอง

เส้นทางชีวิตเกษตรกรของแป๊ะสุ่นเป็นมาอย่างไรนั้น ท่านเล่าว่าในวัยเด็กท่านจบเรียนจบชั้น ป.4 จากโรงเรียนปลูกปัญญา หลังจากนั้นก็ไม่ได้เรียนต่อ เพราะว่าครอบครัวยากจน จึงออกมาฝึกงานทำงานรับจ้างที่โรงกลึงหลวงอนุภาษและบุตร สมัยนั้นได้ค่าแรงวันละ 3 บาท ทำงานตั้งแต่อายุ 13 จนถึงอายุ 24 ย่างเข้า 25 ก็เริ่มเบื่อหน่ายการเป็นลูกจ้าง เปลี่ยนอาชีพอยู่หลายอย่าง ทดลองหาอาชีพที่ตัวเองต้องการ สุดท้ายก็ตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางสายเกษตรกรรม “ตอนนั้นแป๊ะมีความคิดว่าอายุเราก็มากขึ้น ถ้ามัวแต่เป็นลูกจ้างไม่จับงานอะไรซักอย่างก็คงไม่ได้แล้ว ก็เลยเข้ามาอยู่สวน ยึดอาชีพเกษตรกรนี่แหละ ทั้งที่ตอนนั้นไม่มีพื้นฐานทางเกษตรเลย ก็ทำไปศึกษาไป เสียบ้างได้บ้าง ล้มลุกคลุกคลานมากับการเกษตร เริ่มต้นเข้าสวนถางป่า ปลูกกล้วย พอปลูกกล้วยเห็นใบกล้วยแห้งมีมากก็เลยมาเพาะเห็ดฟาง และเห็ดต่างๆ ทั้งเห็ดนางฟ้า เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดหูหนู เพาะจากใบกล้วยแห้งในสวนของเราเอง ฐานะก็เริ่มฟื้น ตั้งหลักตั้งฐานได้ด้วยการด้วยการเกษตร เพาะเห็ดอยู่ 10 ปี เกิดสุขภาพไม่ดีหมอบอกว่าเกิดจากคลุกคลีกับเชื้อรามากเกินไป ก็ต้องเลิกเพาะเห็ด หันมาปลูกผักสวนครัว เรียกว่าปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก แล้วเราก็เริ่มมองเห็นว่าดอกหน้าวัวพันธุ์เปลวเทียนภูเก็ตส่งออกจากภูเก็ตจนหมด แป๊ะก็เลยคิดอนุรักษ์พันธุ์ดอกหน้าวัวนี้เอาไว้ ตอนนี้ก็มีหลายพันต้นแล้ว นอกจากปลูกผัก เนื่องจากเรามีที่ทางใกล้ๆทะเล ก็ไม่ปล่อยทิ้งว่างเปล่า เลยทำบ่อไว้ให้กุ้งให้ปูเข้าไปอยู่ แล้วค่อยไปจับมันมากิน เหลือก็ส่งขาย ผักผลไม้ในสวนก็เช่นกัน นอกจากเก็บขาย เราก็เก็บกินกันในบ้าน ไม่ต้องไปซื้อที่อื่น ปัจจุบันทำแป๊ะการเกษตรมาก็ร่วม 31 ปีแล้วก็ยึดแนวทางอย่างนี้มาตลอด”

ระหว่างการพูดคุยกันนั้น เราแลเห็นเครื่องจักสาน ทั้งหมวก ฌะ หรือ ตะกร้าแบบภูเก็ต กันหม้อ หรือเสวียนหม้อ กระเป๋า ทั้งตั้งทั้งแขวนเรียงรายอยู่ ผลงานเหล่านี้ล้วนเป็นฝีมือของแป๊ะสุ่น เป็นอีกหนึ่งความสามารถที่ทั้งขายได้ และถ่ายทอดเป็นความรู้ให้ผู้อื่นได้อีกด้วย “ที่เริ่มทำเรื่องจักสานนี้ก็เพราะมีความคิดว่าปัจจุบันสิ่งเก่าๆ ของภูเก็ตมันสูญหายไปมาก โดยเฉพาะเรื่องการจักสาน ถ้าเราไม่หยิบขึ้นมาทำก็คงไม่มีใครทำ คนสมัยก่อนของใช้ภายในบ้านพวกนี้เขาทำเองหมดไม่มีซื้อ แต่เดี๋ยวนี้เครื่องจักสานพวกนี้ถูกของใช้พลาสติกตีตลาดเสียหมดก็เริ่มสูญหายไป ทีนี้แป๊ะเคยเห็นเขาทำสมัยเด็กๆ ไม่เคยเรียนจริงๆ จังๆ หรอกนะ อาศัยไปดูเขาทำ แล้วมาลองทำดู ผิดบ้างถูกบ้าง เอามาปรับปรุงประยุกต์จนได้มาตรฐาน อย่าง ฌะ หรือตะกร้าของภูเก็ตนี่เดี๋ยวนี้หายากแล้ว หรือกันหม้อ ที่คนสมัยก่อนเอาไว้รองตั้งหม้อในครัว ทำมาจากไม้ก้านมะพร้าว หรืออย่างหมวกนี่เป็นหมวกชาวนาภูเก็ต อันนี้ไม่เหมือนที่อื่นเลย” แป๊ะสุ่นชี้ให้เราดูหมวกปีกกว้าง 6 เหลี่ยมยอดแหลมที่แขวนอยู่ หน้าตาแปลกกว่าหมวกชาวนาแบบอื่นๆ ที่เราเคยเห็น นอกจากผลงานที่แขวนเรียงรายอยู่ แป๊ะสุ่นก็ยังหยิบผลงานอื่นๆ มาโชว์ มีทั้งแจกันใหญ่เล็ก กระเป๋าหิ้วแบบโบราณ กุบยาเส้น กระปุก ที่ใส่ของเบ็ดเตล็ดขนาดลดหลั่นกันไป หลากชนิดหลายแบบทีเดียว “ของพวกนี้ทำมาจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในสวนเราทั้งนั้น ทั้งใบเตยเขา ตอก ก้านมะพร้าว ไม้ไผ่ หรือแม้แต่เชือกกล้วย เนื่องจากเรามีต้นกล้วยมาก พอมันออกลูกแล้วก็ทำประโยชน์อะไรไม่ได้ เราก็เอาต้นมาฉีกเป็นเส้นๆ ตากแดดให้แห้ง อบน้ำยากันปลวก แล้วเอามาสานทำผลิตภัณฑ์พวกนี้ สามารถขายได้ เป็นที่ต้องการของตลาด และเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ทำรายได้ให้ครอบครัว”

ฝีมือการจักสานของแป๊ะสุ่นนั้นไม่เพียงสร้างรายได้เท่านั้น แต่แป๊ะสุ่นยังมีโอกาสได้ถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ “นอกจากเครื่องจักสานแล้ว แป๊ะก็ได้รื้อฟื้นของเล่นเก่าๆ ของเด็กที่เคยเล่นมาก่อน ที่ทำจากเปลือกลูกยาง ลูกยาง ใบมะพร้าว ได้รื้อฟื้นขึ้นมาและมีโอกาสได้ไปแสดงในงานย้อนอดีตเมืองภูเก็ต แล้วก็ได้ไปสอนเด็กตามโรงเรียนต่างๆ ให้สานนก สานปลา สานอะไรเล่น โรงเรียนต่างๆ ที่สนใจเขาก็จะเชิญมา นอกนั้นก็ได้ไปสอนให้พวกแม่บ้านบ้างเผื่อเขาสนใจจะได้ทำเป็นอาชีพสร้างรายได้”



ไม่เพียงเรื่องการจักสานเท่านั้นที่แป๊ะสุ่นมีโอกาสได้ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้อื่น หากแต่วิชาความรู้ในการทำมาหากิน โดยเฉพาะด้านการเกษตรนั้น แป๊ะสุ่นผู้คลุกคลีกับการเกษตรมากว่า 30 ปี ก็ได้มีความคิดที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคมโดยการรวมกลุ่มเกษตรกรขึ้น ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เกิดเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งจนปัจจุบันกลุ่มของแป๊ะสุ่นมีสมาชิกเกษตรกรร่วม 100 คนแล้ว

“เมื่อก่อนเรายังลำบากอยู่ เราก็ต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน พอเราคล่องตัวขึ้น ก็คิดว่าน่าจะทำอะไรเพื่อตอบแทนสังคม ทำประโยชน์ให้กับสังคมบ้าง ก็คือการให้ความรู้ ให้อาชีพกับคนอื่นๆ เริ่มแรกคือเนื่องจากประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา แป๊ะได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษายุวเกษตรกร ยุวนี่หมายความว่าอายุตั้งแต่ 15 – 25 ปี ทีนี้ในเมื่อเราอยู่มานานจน 30 ปี บางคนอายุมากขึ้น เลยเปลี่ยนเป็นกลุ่มเกษตรกร ภายในกลุ่มเราเน้นการส่งเสริมอาชีพ เน้นให้ทุกคนมีอาชีพ นอกจากนี้เราก็ได้ให้การช่วยเหลือด้านที่พักอาศัยแก่นักศึกษาที่มีฐานะยากจน ปีละ 2 คน เราไม่ได้ให้เป็นเงิน เราให้ที่อยู่ให้ที่กิน ตอนนี้ก็เรียนจบกันไปแล้วประมาณ 50 – 60 คน”
มีวัตถุประสงค์และแนวทางที่ชัดเจนอย่างนี้แล้วชื่อกลุ่มเกษตรกรของแป๊ะสุ่นมีชื่ออย่างเป็นทางการว่าอย่างไร? “นั่นไง!” แป๊ะสุ่นชี้ไปที่ป้ายอันโตที่แขวนอยู่หน้าบ้าน “กลุ่มกู้กูร่วมใจ” ก่อนอธิบายถึงที่มาของชื่อนี้ว่า “คือจริงๆ แล้วกลุ่มของเราเปิดกว้าง ไม่ว่าใครก็มาเป็นสมาชิกได้ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นคนภูเก็ต หรือว่าเป็นคนบ้านกู้กู คนต่างจังหวัดเราก็รับ แต่ที่ได้ตั้งชื่อกู้กูนั้นก็เพราะว่าบ้านกู้กูเป็นที่ตั้งกลุ่ม ผมเองจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่คนบ้านกู้กูตั้งแต่เกิด แต่ว่ามาอยู่ที่นี่นานแล้วก็ถือว่าเป็นคนกู้กู จึงอยากรักษาชื่อกู้กูเอาไว้ ส่วนการรวมกลุ่มนั้นเริ่มแรกเราต้องทำให้เขาเห็นผลก่อน ทำให้เขาเห็นว่าอันนี้ทำได้ มีผลดี มีตลาดรองรับ แล้วทุกคนก็จะเข้ามา อาจจะติดต่อผ่านหน่วยงานมา ติดต่อให้ไปช่วยสอนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แล้วเราก็เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน กลุ่มจึงเกิดขึ้นด้วยลักษณะอย่างนี้ แล้วอีกทางหนึ่งกลุ่มเกิดขึ้นภายในหมู่บ้านด้วย บางครั้งชาวบ้านก็มาปรึกษาเรื่องอาชีพ เราก็ต้องถามเขากลับว่าตัวเขาชอบอะไร พอรู้ตัวเองแล้วก็ให้รวมกลุ่มกันเข้าหลายๆ คน แล้วเราก็ไปของบประมาณบางส่วนจากราชการมาให้ กลุ่มของเราจะไม่มีการเรียกเก็บเงินอะไรทั้งสิ้น ค่าเปอร์เซ็นต์ต่างๆ ไม่มี เพราะคิดว่านั่นจะทำให้เกิดความคลางแคลงใจเกิดความแตกแยกของกลุ่มในภายหน้า กลุ่มของแป๊ะนี้เป็นกลุ่มแบบธรรมชาติ เราอยู่กันด้วยใจมากกว่า ช่วยเหลือให้คำปรึกษาแนะนำดูแลกัน ช่วยหาตลาดให้ อย่างเรื่องตลาดของเรามีกว้างมาก เพราะปัจจุบันแป๊ะก็เป็นอุปนายกสมาคมผู้นำอาชีพก้าวหน้าภาคใต้ ดูแลพื้นที่ 7 จังหวัดตอนบน จากชุมพรลงมา แล้วก็มีเครือข่ายทั่วประเทศ ตรงจุดนี้เราสามารถจะกระจายสินค้าออกไปได้ อย่างตอนนี้แป๊ะก็เซ็นสัญญาซื้อข้าวสารกับทางจังหวัดศรีสะเกษ แล้วเราก็ส่งอาหารทะเลแปรรูปไปให้เขาเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนด้วย”



ปัจจุบันนี้กลุ่มเกษตรกรกู้กูร่วมใจเติบโตและแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยมากมายหลายสาขา “ตอนนี้ภายในกลุ่มเราสามารถแบ่งย่อยออกเป็นกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มประมง กลุ่มปศุสัตว์ กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งแป๊ะก็เป็นรองประธานชมรมไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดภูเก็ตด้วย สำหรับผู้ที่สนใจ แป๊ะก็สามารถแนะนำได้ว่าต่อไปตลาดจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีพันธุ์เราก็ช่วยสั่งพันธุ์ ช่วยหาแหล่งซื้อแหล่งขายให้ หรืออย่างการปลูกผักไร้ดิน หรือไฮโดรโปนิก ที่ตอนนี้แป๊ะทำอยู่ก็ได้ผ่านการอบรมจากเกษตรจังหวัด ทดลองปลูกมา 2 ปีแล้ว โดยไปขอการสนับสนุนจากทางเกษตรฯ เขาให้โรงเพาะเลี้ยงมา 3 หลัง ตรงนี้แป๊ะไม่ได้คิดทำเพื่ออาชีพของตัวเอง แต่อยากทำเพื่อให้ทุกคนมาเรียนรู้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อจะได้ขยายต่อ นี่มีโครงการจะขยายให้ทั่วทั้งหมู่บ้าน แล้วเราก็จะสามารถกุมตลาดได้ อาจจะเข้าไปติดต่อห้างว่าเราจะส่งผักนี้ให้ตลอดทั้งปี ถ้าทำคนเดียวมันไม่ทัน เราก็ต้องทำหลายๆ เจ้าหมุนเวียนกันส่ง นอกจากนั้น ตอนนี้กลุ่มที่ตั้งเพิ่มขึ้นก็คือกลุ่มสมุนไพร โดยจะมีการจดบันทึกสมุนไพรพื้นบ้านชนิดต่างๆ เอาไว้ ใครมีความรู้เรื่องอะไรก็ให้มาถ่ายทอดและรวบรวมขึ้นทะเบียนไว้กับทางเกษตรฯ เพื่อจะจัดทำเป็นตำราต่อไป เพราะเราไม่ต้องการให้สมุนไพรและความรู้เหล่านี้สูญหายไป นอกจากนั้นก็มี กลุ่มจักสาน กลุ่มผ้าบาติก ซึ่งทางพัฒนาชุมชนได้เข้ามาเปิดโครงการส่งเสริมอาชีพเมื่อหลายปีก่อน แล้วเราก็ทำต่อกันมา พัฒนาฝีมือ ปรับปรุงลาย เราคิดว่าผ้าบาติกไม่จำเป็นต้องเป็นลายปลาอย่างเดียว จึงได้คิดทำผ้าบาติกลายไทยขึ้นมา ซึ่งตอนนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของทางกลุ่มเรา โดยทาง อบต.รัษฎาก็เข้ามาช่วยเหลือเงินทุนหมุนเวียนบ้าง ส่วนตลาดของกลุ่มบาติกนี้เราไม่มีหน้าร้าน แต่เราใช้วิธีการผลิตส่งหน่วยงานต่างๆ ที่สั่งมา เช่น อบต. หรือพัฒนาชุมชน ซึ่งเขาจะขายให้ทางอินเตอร์เน็ต เรียกได้ว่ามีตลาดรองรับ มีอนาคต ทุกวันนี้ขาดก็เพียงบุคลากร เพราะของทุกอย่างที่เราทำ ทั้งผัก ทั้งไม้ดอก ทั้งอาหารทะเล แทบจะไม่พอขายกับตลาดอยู่แล้ว”



ด้วยภาพความเข้มแข็งของกลุ่มฯ บวกกับภูมิปัญญาและความตั้งใจจริงที่จะถ่ายทอดความรู้ให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่นของแป๊ะสุ่น จึงทำให้มีผู้สนใจเข้ามาขอความรู้และศึกษาดูงานมากขึ้นๆ ทุกวัน บ้านของแป๊ะสุ่นจึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ผู้เข้ามาจะได้รับความรู้มากมายกลับไป “ก็ด้วยความตั้งใจว่าเราจะทำเพื่อชุมชน การทำงานของแป๊ะจึงทำแบบเป็นการสาธิต สอนคนอื่นไปด้วย ไม่ได้ทำเพื่อเราคนเดียว แล้วเราจะไม่หวงตลาด ไม่หวงความรู้ ทุกคนที่เขาต้องการมาเรียนกับเรา เราสอนหมด ที่บ้านนี้เลยกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ข้างหลังนี้จะเป็นสวน ปลูกผักสวนครัว แล้วก็อนุรักษ์หน้าวัวพันธุ์เปลวเทียนภูเก็ต ปลูกผักไร้ดิน และอีกหลายๆ อย่าง เขาก็สามารถมาเรียนรู้วิธีการทำสวนผสมว่าทำอย่างไร แล้วก็เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการจักสาน การทำผ้าบาติก และเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ที่นี่เราก็ใช้ปุ๋ยชีวภาพเป็นหลัก ปุ๋ยเคมีอาจจะมีบ้างบางตัวที่จำเป็นจริงๆ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ใช้ ที่นี่ก็เลยสามารถให้ความรู้เรื่องการทำปุ๋ยชีวภาพได้ แป๊ะผ่านการอบรมจากกรมพัฒนาที่ดินเป็นหมอดินอาสาจังหวัดสามารถให้คำปรึกษาเรื่องดินเรื่องปุ๋ยได้ด้วย อย่างบางคนอาจจะไม่เข้าใจว่าดินของเราปลูกอะไรได้บ้าง ก็สามารถเอาดินมาให้ที่นี่ตรวจได้ก่อนจะไปปลูกพืช จะได้รู้ว่าดินของเราขาดอาหารอะไร ไม่ต้องใส่ปุ๋ยสะเปะสะปะ เราจะให้คำปรึกษา ช่วยวิเคราะห์ดินให้ นอกจากนี้ ปัจจุบันเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกำลังเป็นที่สนใจ ที่นี่จึงเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย อย่างในปีนี้แป๊ะก็ได้รับโล่ห์ของจังหวัดเป็นบุคคลส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก็เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของเรามาตลอด”

พูดถึงรางวัล แป๊ะสุ่นเป็นบุคคลที่ได้รับรางวัลต่างๆ จากผลงานที่ทำมากมายจนเต็มตู้ และรางวัลหนึ่งที่น่าประทับใจยิ่งก็คือ รางวัลพ่อดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2549 ซึ่งเพิ่งได้รับไปเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา เป็นเครื่องยืนยันว่าด้านครอบครัว แป๊ะสุ่นก็ประสบความสำเร็จและเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นได้ แป๊ะสุ่นเล่าถึงครอบครัว และรางวัลที่ได้รับว่า “แป๊ะแต่งงานมาประมาณ 32 ปีแล้ว มีลูกสาว 2 คน ส่งเสริมให้เขามีการศึกษาทุกคน คนโตจบปริญญาตรีมีครอบครัวไปแล้ว คนเล็กจบปริญญาโท ตอนนี้ช่วยเหลือดูแลงานบัญชีภายในบ้านอยู่ การเลี้ยงดูลูก แป๊ะจะใช้วิธีทำตัวเป็นตัวอย่างให้ลูก การพูดคุยสั่งสอนก็มีบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการประหยัด มัธยัสถ์ แป๊ะไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยวเตร่นอกบ้าน ลูกๆ เขาก็เห็นเป็นแบบอย่าง รางวัลที่ได้รับนี้ก็รู้สึกภาคภูมิใจนะ ชีวิตหนึ่งก็ไม่เคยคิดว่าเราจะได้เป็นพ่อดีเด่น แต่ว่าแป๊ะคิดว่ารางวัลที่ได้มาไม่ใช่ความสามารถของแป๊ะคนเดียว เป็นความสามารถของครอบครัวด้วย ถ้าแม่บ้าน หรือว่าลูกเราไม่เป็นคนดีอยู่ในคุณธรรม เราก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ภูมิใจกับรางวัล และภูมิใจกันทั้งครอบครัว”

คุณธรรมอีกประการที่เรารู้สึกชื่นชมจากการที่ได้พูดคุยกับแป๊ะสุ่น ก็คือการเป็นผู้ใฝ่ศึกษา รักการเรียนไม่มีสิ้นสุด แม้ตัวเองจะจบการศึกษาชั้น ป.4 ผ่านวันเลยวัยของการเรียนรู้มานานแล้วก็ตาม แป๊ะสุ่นเล่าให้เราฟังด้วยความภูมิใจว่า ท่านเพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมปลาย จากการศึกษานอกโรงเรียน เมื่อปี 2545 ที่ผ่านมา และหากมีโอกาสในอนาคตอันใกล้นี้จะเรียนต่อให้จบระดับปริญญาตรีแน่นอน “เรื่องเรียนหนังสือแป๊ะมีความใฝ่ฝันอยากจะเรียนมาตลอด แต่ว่าฐานะทางครอบครัวยากจน ต่อมาเราก็มีภาระครอบครัว ก็ต้องส่งให้ลูกเรียนก่อน แล้วพอลูกเรียนจบตัวเองจึงเรียนบ้าง มีเวลาก็ไปเรียน กศน.จนจบ ม.ปลาย เมื่ออายุ 60 ปีแล้ว ความใฝ่ฝันต่อไปคิดว่าซักปีสองปีอยากจะเข้าราชภัฎฯ ต่อ ให้จบปริญญาตรี แป๊ะคิดว่าความรู้นี้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครมาฉกฉวยจากเราได้ มีแต่เราจะให้เขาได้อย่างเดียว เมื่อก่อนแป๊ะมองพรรคพวกเพื่อนฝูงเขาเรียนจบ คนนั้นเป็นนายธนาคาร คนนั้นเป็นอาจารย์ใหญ่ คนนั้นเป็นนายอำเภอ แต่เรานี้ จบ ป.4 เป็นตาสีตาสาไม่รู้อะไร ก็เคยคิดน้อยเนื้อต่ำใจตัวเอง แต่เราก็พยายามขวนขวายเรียนรู้ ไม่หยุดนิ่ง จนสามารถให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นได้ ถ้าเปรียบเทียบกับตัวเองจากวัยเด็ก เราเดินมาถึงตรงนี้ได้ถือว่าเต็มร้อยแล้ว”

ก่อนลาจากในวันนั้น เราขอให้แป๊ะสุ่นทิ้งท้ายด้วยข้อคิดเรื่องการเป็นอยู่อย่างพอเพียง เพราะเห็นว่าท่านเป็นต้นแบบที่ชัดเจนอย่างยิ่งในเรื่องการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “หากพูดถึงคำว่าพอเพียง เราต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าเราต้องการแค่ไหน เพราะคำว่าพอเพียงของคนเราไม่เท่ากัน เราต้องรู้ว่าความพอเพียงของเราอยู่ตรงไหน แล้วเราก็มุ่งไปถึงจุดนั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะหยุดนิ่ง เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ ต้องเรียนรู้ให้ทันโลก และแป๊ะอยากจะฝากข้อคิดว่า ตอนนี้ใครก็ตามที่ไปไหนไม่ถูก งงแล้ว มึนแล้ว ขอให้หยุดนิ่ง แล้วมองไปข้างหลัง ว่ามีอะไรบ้าง ปู่ย่าตายายเราเคยทำอะไรไว้บ้าง แล้วหยิบเอาตัวนั้นออกมา เหมือนแปะสุ่นครั้งหนึ่งก็เคยวนอยู่ในอ่าง คือเรามองแต่ที่สูง มองเงินร้อยล้านพันล้าน นั่นเป็นการคิดที่ผิด ขอให้หันกลับไปมองอดีตของตัวเอง แล้วหยิบจับสิ่งที่ปู่ย่าตายายของเราเคยทำมา โดยเฉพาะการเกษตรและการใช้ชีวิตแบบพอเพียง แล้วเราจะอยู่รอดได้แน่นอน”

:: บทความนี้เคยถูกตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ทองหลังพระ" ของ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เมื่อเดือนมีนาคม2550 ::
บทความ โดย ชุติมา กิตติธรกุล

๒ ความคิดเห็น:

วรวรรณ กล่าวว่า...

จะติดต่อ แป๊ะสุ่นได้ยังไงคะ ?

วรวรรณ กล่าวว่า...

จะติดต่อ แป๊ะสุ่นได้ยังไงคะ ?

เรื่องดีๆ ล่าสุด