โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต สนับสนุนให้เกิดเรื่องราวดีๆ ขึ้นในชุมชน ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่น กิจกรรมสาธารณะ ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ และทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม รวมทั้งการส่งเสริมกาเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ให้กับเจ้าหน้าที่, การดูแลสุขภาพ และในบล็อก StoryDD แห่งนี้ ได้รวบรวมบทความในโครงการส่งเสริมนักเขียนท้องถิ่น ให้สร้างผลงานเขียนเชิดชูบุคคล หรือหน่วยงานที่ทำความดี ให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจกับผู้อ่าน เพื่อร่วมสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนต่อไป

๒๓ พ.ย. ๒๕๕๐

:: ครูจีระศักดิ์ ท่อทิพย์


ครูจีระศักดิ์ ท่อทิพย์

ต้องยอมรับว่าการเดินทางบนถนนสายป่าคลอก - บางโรงนั้นให้ความรู้สึกที่แตกต่างไปจากการเดินทางบนถนนสายหลักอื่นๆ ในจังหวัดภูเก็ต ที่นับวันจะถูกความเจริญเข้ายึดกินทุกพื้นที่ ถึงแม้ว่าต้นๆ สายของถนนเส้นนี้จะเริ่มมีหมู่บ้านจัดสรรหลากแบบหลายสไตล์ มีโครงการมารีน่ามาเกาะกินพื้นที่ชายฝั่ง มีโครงการบ้านฝรั่งราคาหลายสิบล้านไต่อยู่บนแนวแหลมบ้างแล้วก็ตาม หากแต่เพียงเดินทางเข้าไปอีกเกือบสิบกิโล ความร่มรื่นของต้นไม้ และความรื่นรมย์ของวิถีชีวิตแบบชาวบ้านที่มองเห็นได้ง่ายตลอดเส้นทางบ้านบางโรง ก็พอทำให้เราหายใจสะดวกขึ้นได้ไม่ยาก และเส้นทางสู่บ้านบางโรงนี้ก็พาเราไปพบกับทองหลังพระคนล่าสุด คุณจีระศักดิ์ ท่อทิพย์ ชายวัย 43 ชาวบางโรงผู้กางพระคัมภีร์อัลกุรอ่านพลิกฟื้นสภาพแวดล้อมของบ้านบางโรงชุมชนเล็กๆ ชายฝั่งให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ พลิกฟื้นความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ลื่นไถลไปกับกระแสทุนให้ลุกขึ้นมาตั้งตัวได้ ผูกผสานพลังชุมชนให้ยังคงความเป็นบ้านบางโรงที่เข้มแข็ง ท่ามกลางกระแสทุนที่ถาโถม

“ผมเกิดที่นี่ โตที่นี่ ที่ชุมชนบ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก จังหวัดภูเก็ต เรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านป่าคลอก จากนั้นก็ไปเรียนโรงเรียนมุสลิมวิทยาจังหวัดภูเก็ต จบโรงเรียนมุสลิมฯ ก็เรียน กศน.จนจบ ม.6 และมีโอกาสได้เรียนที่สถาบันราชภัฎภูเก็ต แต่เนื่องจากช่วงหลังได้มาทำงานชุมชนมากขึ้น จึงได้ดร็อปการเรียนเอาไว้ก่อน สำหรับการทำงานในชุมชนนอกจากมีตำแหน่งเป็นคอเต็บ หรือรองโต๊ะอิหม่าม ของมัสยิดนูรัลญันนะฮ์ หรือมัสยิดบ้านบางโรงแล้ว ก็ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต สมัยที่ผ่านมาก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานโรงเรียนบ้านบางโรง แล้วก็เป็นเลขานุการมูลนิธิมุสลิมวิทยาจังหวัดภูเก็ต ได้รับคัดเลือกเป็นครูภูมิปัญญาไทยด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในอดีตก็เคยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเยาวชนดีเด่นของจังหวัดภูเก็ตให้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นครับ” ครูจีระศักดิ์ พยายามนึกไล่ถึงบทบาทหน้าที่การทำงานของตนเอง เพื่อแนะนำให้เราได้รู้จักเขาอย่างคร่าวๆ แบบรวดเดียวจบ ก่อนจะแนะนำให้เราได้รู้จักบ้านบางโรง ชุมชนบ้านเกิดของเขาบ้างว่า

“วิถีชีวิตของชาวบ้านบางโรงในอดีตนั้น เป็นชุมชนที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ในช่วงที่ชาวบ้านตัดยางกรีดยางไม่ได้ ก็จะออกทะเลไปหาปูหาปลา เป็นชีวิตที่มีการแบ่งปันกัน เมื่อมีพิธีกรรมทางศาสนา ก็มารวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรม มีความเอื้ออาทรต่อกัน และเป็นอยู่อย่างพอเพียง ผมเองตอนเป็นเด็กประถม แทบไม่ต้องขอเงินค่าขนมจากพ่อแม่ แค่ออกไปตกปลาหาปูเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้เงินค่าขนมแล้ว” ครูจีระศักดิ์สะท้อนภาพบางโรงในวันวานให้เราได้เห็น



“แต่หลังจากไปเรียนหนังสือที่อื่นกลับมา ก็ได้พบเห็นว่าบางโรงของเราเปลี่ยนไป จากเดิมที่ชาวบ้านจะหากินอยู่บริเวณลำคลอง หาปูหาปลา หาหญ้าทะเลตามป่าชายเลน มีชีวิตที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติตามวิถีชาวบ้าน แต่หลังจากที่รัฐได้ให้สัมปทานป่าชายเลนเมื่อปี พ.ศ.2513 เป็นต้นมา จนกระทั่งปี พ.ศ.2539 ที่รัฐปิดป่า ปรากฏว่าป่าชายเลนถูกทำลายไปเกือบหมด พอป่าชายเลนหมดทุกสิ่งทุกอย่างก็เริ่มหมดไปจากลำคลอง ระบบนิเวศน์เริ่มเปลี่ยนจากที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ไหนแต่ไรมานอกจากชาวบ้านจะมีอาชีพทำสวนแล้ว ก็ยังทำประมงชายฝั่ง ทำประมงขนาดเล็ก เมื่อทรัพยากรหมดไปบางคนก็จำต้องเปลี่ยนอาชีพ ไปเป็นลูกจ้างนายทุนในการเผาไม้เพื่อทำถ่านบ้าง ไปค้าขายบ้าง แต่บางคนก็ขาดทักษะในการค้าขาย ประกอบกับเจอช่วงวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี 2540 ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน บางคนก็เอาที่ดินเรือกสวนไร่นาของตัวเองไปขาย ไปจำนองกับนายทุน นานเข้าที่ดินก็ตกเป็นของนายทุนไปโดยปริยาย โครงสร้างของชุมชนที่เคยเป็นอยู่อย่างพอเพียง พึ่งพิงธรรมชาติ ก็เปลี่ยนไปเนื่องจากการเข้ามาของระบบทุนและความเจริญ” ครูจีระศักดิ์เล่าถึงสภาพปัญหาคร่าวๆ ที่ชาวบ้านบางโรงต้องประสบเมื่อหลายปีก่อน และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาแก้ปัญหาในชุมชนอย่างจริงจัง

“การได้มีโอกาสไปเรียนหนังสือ ไปศึกษาดูงานต่างประเทศ มีโอกาสได้สัมผัสกับการทำงานของภาครัฐ รวมทั้งจากการที่เราได้ศึกษาศาสนา ได้สอนเด็กและเยาวชน มีการจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกร จัดตั้งกลุ่มเยาวชนขึ้น จึงได้นำความรู้และประสบการณ์เหล่านั้นมาใช้ในการทำงานชุมชน โดยพยายามให้เกิดการการพัฒนาแบบองค์รวม ทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ”

ด้วยเป็นผู้ยึดถือในหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดเสมอมา อีกทั้งด้วยบทบาทของคอเต็บผู้มีโอกาสเทศนาสั่งสอนชาวบ้าน ครูจีระศักดิ์จึงยึดเอาหลักศาสนา กางพระคัมภีร์อัลกุรอ่านนำทางชาวบ้านสู่การฟื้นฟูชุมชนอันเป็นบ้านเกิดที่รัก

“เนื่องด้วยวิถีชีวิตของชาวมุสลิม ในช่วงระยะ 7 วันจะมีโอกาสได้พบปะกัน โดยการมาละหมาดทุกวันที่มัสยิด ผมเองได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้านโดยการขึ้นไปเทศนาประจำทุกวันศุกร์ ตั้งแต่ช่วงแรกที่ยังไม่ได้เป็นคอเต็บ เพราะบรรดาผู้นำศาสนาในช่วงนั้นเปิดโอกาสให้ผมได้ขึ้นไปเทศนา แต่การพูดคุยของผมอาจจะแตกต่างกว่าคนอื่นๆ คือผมจะพูดคุยกับชาวบ้านในเรื่องวิกฤติสิ่งแวดล้อมของชุมชน เรื่องความเป็นอยู่อย่างพอเพียง ความเอื้ออาทรต่อกัน เป็นการปลูกจิตสำนึกโดยพยายามผูกโยงกับหลักศาสนา เพราะหลักศาสนาอิสลามนั้นไม่ได้เจาะจงเฉพาะเรื่องของการละหมาด 5 เวลา เรื่องของการถือศีลอด และหลักปฏิบัติต่างๆ เพียงเท่านั้น แต่หลักศาสนาอิสลามยังสอนในเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย ทรัพยากรธรรมชาติเปรียบเหมือนความดีที่พระเจ้าประทานให้มา เราจึงต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ฟุ่มเฟือย และไม่ทำลายความดีที่พระเจ้าประทานให้มา ตามคำสั่งสอนของศาสนาแม้แต่เราตัดต้นไม้ต้นหนึ่งโดยไม่มีความจำเป็นก็นับเป็นความผิดอย่างมหันต์ ผมพยายามปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ว่าทรัพยากรธรรมชาตินั้นใช้ได้ แต่อย่าใช้อย่างฟุ่มเฟือย ต้องใช้อย่างมีสติ รวมทั้งพยายามเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตด้วยว่าชาวบางโรงในอดีตเป็นอยู่กันอย่างไร แล้วปัจจุบันนี้อยู่กันอย่างไร จนกระทั่งชาวบ้านเริ่มจะมีความคิดเห็นคล้อยตาม หลายๆ คนเริ่มพูดคุยกันถึงปัญหาในชุมชน บรรดาคนหนุ่มๆ ที่ได้ไปเรียนหนังสือมีการศึกษากลับมา ก็มีโอกาสได้มานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน แล้วจากการพูดคุยในวงแคบๆ เราก็เริ่มเปิดเวทีชาวบ้านขึ้น ให้ชาวบ้านได้มาระดมความคิดเห็นกันว่าในชุมชนเรามีปัญหาอะไรบ้าง วิกฤติที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง คนเฒ่าคนแก่ก็มีโอกาสได้บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ของบ้านบางโรงให้คนรุ่นหลังๆ ได้ฟังว่าในอดีตบ้านบางโรงรอดพ้นจากการโจมตีของพม่าก็เพราะป่าชายเลน และผืนป่าเขาพระแทวที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนคนรุ่น 40 - 50 ปีก็คุยเรื่องของทรัพยากร ว่าเมื่อก่อนเขาอยู่กันอย่างไร ปัจจุบันนี้เขาอยู่กันอย่างไร เมื่อมองเห็นปัญหา เราจึงมาร่วมกันคิดว่าจะหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างไร มาดูว่าศักยภาพของเรามีอะไรบ้าง ศักยภาพของชุมชนมีอะไรบ้าง เรามีป่าชายเลนที่ถึงแม้ว่ามันจะถูกทำลายไปหมด แต่ถ้าเราช่วยกันฟื้นฟูก็น่าจะกลับมาเหมือนเดิมได้” จากหนึ่งคนคิดกลายเป็นพลังชุมชนที่ผลักดันร่วมกันให้เกิดการแก้ปัญหาเป็นรูปธรรมในเวลาต่อมา



“ชาวบ้านร่วมกันคิดว่าเราน่าจะตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนขึ้นมา ที่ยังมีอยู่ก็ช่วยกันดูแลเป็นหูเป็นตาอย่าให้ใครมาแผ้วถางทำลาย ที่เสื่อมโทรมไปแล้วก็ปลูกทดแทนขึ้นมาใหม่ เมื่อป่าชายเลนได้รับการฟื้นฟู เราก็มีความคิดต่อมาว่าน่าจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพราะจังหวัดภูเก็ตเราเป็นเมืองท่องเที่ยว จึงได้มีการไปศึกษาดูงานของที่อื่นๆ แล้วนำมาบริหารจัดการในพื้นที่ของเรา โดยในช่วงแรกเราได้ใช้เงินของมัสยิดเป็นทุนรอนในการบริหารจัดการ รวมทั้งเงินทุนจากสำนักงานกองทุนทางสังคม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และสำนักงานเกษตรภูเก็ตด้วย โดยให้ชาวบ้านช่วยกันจัดการเพื่อจะได้เกิดรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง เราได้จัดทำเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้เยาวชนในพื้นที่เข้ามาพายเรือแคนูบริการและเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวในเส้นทางที่จัดเตรียมไว้ เส้นทางหนึ่งพาไปเขาพระแทว อีกเส้นทางหนึ่งพาไปศึกษาระบบนิเวศน์ป่าชายเลน ให้กลุ่มแม่บ้านเข้ามาปรุงอาหารบริการในร้านอาหาร โดยรับซื้อกุ้งหอยปูปลาจากกระชังของชาวบ้านเครือข่ายของเราเอง จะได้ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ก็เริ่มมีนักท่องเที่ยว มีเอเย่นต์ทัวร์เข้ามาเรื่อยๆ พอชาวบ้านเริ่มมีรายได้ ลูกหลานเขามีงานทำไม่ต้องอยู่ว่างก่อปัญหาติดยาเสพย์ติด เขาก็เริ่มมองเห็นประโยชน์ เห็นความสำคัญว่าป่าชายเลนว่านอกจากจะเอาไม้มาทำฟืน ทำเล้าไก่ มาสร้างบ้านแล้ว ป่าชายเลนยังมีคุณค่าอีกเยอะ”



นอกจากการใช้หลักศาสนาปลุกจิตสำนึกให้ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งก่อให้เกิดอาชีพเกิดรายได้แก่ชาวบ้านแล้ว ครูจีระศักดิ์และแกนนำยังเล็งเห็นถึงสภาพปัญหาที่ชาวบ้านต้องตกเป็นหนี้เป็นสิน จึงได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนปลดเปลื้องหนี้สินขึ้นมาโดยมีภาครัฐคอยให้คำแนะนำ

“หลังจากเกิดวิกฤติชุมชน บรรดาแกนนำก็มาคุยกันว่าเราจะทำอย่างไรที่จะช่วยเหลือชาวบ้านซึ่งประสบปัญหาหนี้สินจากการเอาเรือกสวนไร่นาไปจำนองกับนายทุน เราจึงได้ตั้งกองทุนเพื่อปลดเปลื้องหนี้สินของชาวบ้านขึ้น และมีการระดมทุนกันทุกๆ เดือนจากบรรดาแกนนำ และจากเงินของมัสยิด ได้จำนวนหนึ่งก็พยายามเอาไปช่วยเหลือชาวบ้านได้หลายราย เราก็มาคิดกันต่อว่าจะสามารถช่วยชาวบ้านให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพของเขาได้อย่างไร ในขณะเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐแนะนำว่าควรจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ซึ่งเราก็เห็นด้วย แต่กลุ่มออมทรัพย์นี้จะต้องปราศจากดอกเบี้ย เพราะตามหลักศาสนาอิสลาม ดอกเบี้ยถือว่าเป็นบาป เราจึงได้ศึกษาระบบและหลักการศาสนาอิสลาม เพื่อไม่ให้การบริหารงานขัดต่อหลักศาสนา จนกระทั่งเกิดกลุ่มออมทรัพย์บ้านบางโรงขึ้นในปี 2541 ชื่อว่า กลุ่มออมทรัพย์อัลอามานะฮ์ ซึ่งคำว่า อัลอามานะฮ์ นี้แปลว่าความไว้วางใจได้ โดยคณะกรรมการและสมาชิกจะต้องยึดมั่นในหลักศาสนา เพราะองค์กรหรือกลุ่มนี้เกิดขึ้นจากองค์กรมัสยิด ถ้าคุณโกงก็เท่ากับคุณโกงมัสยิด การโกงวัดโกงมัสยิดเป็นบาปมหันต์ ฉะนั้นในกลุ่มฯ จึงปราศจาก NPL และมีความไว้วางใจต่อกันระหว่างคณะกรรมการและสมาชิก กลุ่มออมทรัพย์นี้มีสมาชิกเมื่อแรกก่อตั้งประมาณ 30 กว่าคน ทุนก่อตั้งราว 27,000 บาท จนถึงปัจจุบันนี้เรามีสมาชิกกว่า 500 คน มีเงินทุนประมาณ 14 - 15 ล้านบาท โดยทางกลุ่มจะนำเงินทุนเหล่านี้ไปจัดสรรให้เกิดประโยชน์กับสมาชิก เช่น การซื้อขายสินค้าที่จำเป็นต่างๆ ของชาวบ้าน เช่นเครื่องมือหากิน รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่อเขาแจ้งความประสงค์มา ทางกลุ่มฯ สามารถไปซื้อสินค้าด้วยเงินสดจากร้านค้า แล้วมาขายให้สมาชิกโดยบวกกำไรเพียงเล็กน้อย ให้สมาชิกผ่อนในราคาถูกเพราะปราศจากดอกเบี้ย แทนที่จะผ่อนกับร้านค้าซึ่งราคาแพงกว่าเพราะต้องเสียดอกเบี้ย อีกส่วนหนึ่งคือการร่วมทุนกับสมาชิก หากสมาชิกนำโครงการมาเสนอกับทางกลุ่มฯ เราจะประเมินว่าโครงการไหนมีความเสี่ยงน้อยที่สุด เราก็จะให้การสนับสนุนสินเชื่อในการลงทุน ที่ผ่านมาทางกลุ่มฯ ได้ให้ความช่วยเหลือในโครงการต่างๆ เช่น โครงการเลี้ยงปลาในกระชัง โครงการเลี้ยงแพะ ถ้ากำไรก็กำไรด้วยกัน แต่ถ้าขาดทุนก็ขาดทุนด้วยกัน นอกจากนี้เรายังนำเงินของกลุ่มฯ ไปซื้อที่ดินที่เคยเป็นของชาวบ้านและติดจำนองกับนายทุน เพื่อมาจัดสรรให้ผู้ที่มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ให้เขาได้อยู่ในพื้นที่ ไม่ต้องออกไปอยู่ที่อื่น ดอกผลจากโครงการต่างๆ เหล่านี้ พอสิ้นปีเราก็จะมีการแบ่งกำไรให้สมาชิกทุกคนตามสัดส่วน และผลกำไรแต่ละปีส่วนหนึ่งเราจะตัดเพื่อเข้ากองทุนซะกาต ตามหลักศาสนาอิสลาม ผู้ที่มีเงินมีรายได้จำนวนหนึ่งแล้ว จะต้องบริจาคซะกาต ซึ่งสมาชิกจะมีความภาคภูมิใจมากที่ได้จ่ายซะกาตให้มัสยิด เราก็นำเงินซะกาตนี้ไปทำประโยชน์ เป็นกองทุนสวัสดิการช่วยเหลือญาติผู้เสียชีวิต กองทุนเพื่อการศึกษา กองทุนเพื่อสาธารณะประโยชน์ ปัจจุบันเรามีการรวมกลุ่ม มีโครงการต่างๆ ที่แตกย่อยออกมามากมาย ทั้งกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน เครือข่ายกลุ่มครู ขยายพื้นที่ไปในระดับตำบล เช่น กลุ่มมัสยิดสัมพันธ์ตำบลป่าคลอก กองทุนสวัสดิการตำบลวันละบาท กลุ่มพี่ช่วยน้องปกป้องภัย และได้กลายเป็นแผนชุมชนซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาแบบองค์รวม ก่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวบ้านในพื้นที่นี้”



ตลอดเวลา 8 – 9 ปีที่ผ่านมา เมื่อมองย้อนไปถึงจุดเริ่มต้น หากชายคนนี้ไม่มองเห็นปัญหาด้วยความห่วงกังวลต่ออนาคตของชุมชนบ้านเกิด หากแกนนำชาวบ้านไม่ลุกขึ้นมาเป็นแรงผลักดันให้เกิดการร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทิศทางของบ้านบางโรงจะเป็นเช่นไรคงยากจะคาดเดา แต่วันนี้ บ้านบางโรงนับเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่เข้มแข็งจนเป็นที่ยอมรับ มีผู้เดินทางมาขอศึกษาดูงานในโครงการต่างๆ มากมาย สำหรับความรู้สึกของชายผู้นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวันอันสวยงามแห่งบ้านบางโรงในวันนี้ เขากล่าวเพียงว่า

“สำหรับสิ่งต่างๆ ที่ได้ทำนั้น ผมมองว่าทั้งหมดผมทำเพื่อศาสนา ทำเพื่อพระผู้เป็นเจ้า เพราะศาสนาอิสลามจะเน้นในเรื่องของความเป็นส่วนรวม เน้นเรื่องของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะแผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินเกิด ส่วนหนึ่งคืออยากจะทดแทนแผ่นดินเกิด แผ่นดินบ้านเรา แผ่นดินจังหวัดภูเก็ต แผ่นดินประเทศไทย เราจะต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ถ้าเราเอาตัวรอดคนเดียวไม่ยุ่งเกี่ยวกับสังคม นั่นถือเป็นสิ่งที่เห็นแก่ตัว เป็นสิ่งที่สวนทางกับหลักศาสนา ในขณะที่เราเป็นมือบนแล้ว เราต้องพยายามช่วยเหลือมือล่างให้เขาพลิกมาเป็นมือบนให้ได้ ต้องช่วยฝึกอาชีพให้เขา สร้างแหล่งอาชีพให้เขา ให้ความรู้ ติดอาวุธทางปัญญาให้เขา จนหลายคนที่เคยเป็นมือล่างคอยรับมาตลอด ปัจจุบันเขาสามารถเป็นคนที่จ่ายซะกาตได้แล้ว นี่คือความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นในสิ่งที่เราได้ร่วมกันทำ และต้องยอมรับว่าที่นี่เราไม่ได้มีเฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้น เรามีพี่น้องชาวพุทธหลายสิบคนมาร่วมเป็นสมาชิกด้วย และอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข พี่น้องชาวพุทธก็สามารถรับหลักการของเราตรงนี้ได้โดยไม่มีปัญหาเลย ผมเชื่อว่าทุกศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี และหากเรามีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว



เราจะสามารถผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ ไปได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะกระแสทุนนิยมที่ถาโถมเข้ามา ถ้าเรายึดหลักศาสนา ยึดหลักความพอเพียงอย่างที่ในหลวงทรงตรัสเอาไว้ อย่าใช้เกินตัว อยู่แบบสมถะพอมีพอกินแล้ว เชื่อแน่ว่าเราจะฝ่าพ้นวิกฤติทุนที่ถาโถมเราไปได้แน่นอน นอกจากนี้ การรวมกลุ่มภายในชุมชนให้เข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราต่างคนต่างอยู่ เราสู้กระแสบริโภคนิยม สู้กระแสทุนไม่ได้แน่นอน เราต้องรวมกลุ่มกัน ร่วมทุนกัน ช่วยกันแก้ปัญหาวิกฤติของชุมชน ถ้าชุมชนเข้มแข็ง ใครจะเข้ามาบุกรุกก็ยาก ปัญหาอะไรเราก็ช่วยกันแก้ไขไปได้แน่นอน”



:: บทความนี้เคยถูกตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ทองหลังพระ" ของ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เมื่อเดือนมกราคม 2550 :: บทความ โดย ชุติมา กิตติธรกุล

๑๓ พ.ย. ๒๕๕๐

:: สร้างกุศล เพื่อกุศลธรรม


คุณเฉลิมเกียรติ อ่องเจริญ สร้างกุศล เพื่อกุศลธรรม

วี้หว่อ วี้หว่อ วี้หว่อ เสียงหวอดังเสียดเข้าไปถึงโสตประสาท พร้อมกับแสงสีแดงวิววับจากดวงไฟที่กระพริบถี่บ่งบอกถึงอัตราความเร่งรีบของรถกู้ชีพที่พุ่งทะยานไปข้างหน้าราวกับว่าเพียงเสี้ยววินาทีก็อาจช่วยดึงรั้งชีวิตที่ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างเป็น หรือตายได้... แน่นอน เสี้ยววินาทีมีค่าเสมอสำหรับนักกู้ชีพ โดยเฉพาะกับนักกู้ชีพในยานพาหนะที่เขียนข้างๆ รถว่ามูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต องค์กรสาธารณประโยชน์ที่ชาวภูเก็ตคุ้นเคย โดยเฉพาะในยามที่เกิดทุกข์ร้อนภัยร้ายใกล้ๆ ตัว

ประสบการณ์และภาพชินตาของการช่วยเหลือที่เฉียบพลันขันแข็งของหน่วยกู้ภัยมูลนิธิกุศลธรรมนี้เอง ทำให้เราสนใจที่จะติดตามการทำงานของพวกเขา ทองหลังพระฉบับนี้จึงขอพาคุณผู้อ่านไปสัมผัสกับการทำงานของคนกลุ่มนี้ ผ่านการพูดคุยกับ คุณเฉลิมเกียรติ อ่องเจริญ ประธานมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต คนปัจจุบัน ผู้เป็นดั่งหัวเรือใหญ่ในการทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานกู้ชีพ บรรเทาภัยให้ชาวภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียงได้อุ่นใจ

คุณเฉลิมเกียรติเริ่มต้นเล่าถึงการก่อตั้งมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ตว่า “มูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ตก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 โดยการรวมกลุ่มของชาวจีนแต้จิ๋วกลุ่มเล็กๆ ในจังหวัดภูเก็ต และหนึ่งในนั้นก็มี คุณมงคล อ่องเจริญ คุณพ่อของผมร่วมอยู่ด้วย และท่านก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานผู้ก่อตั้งมูลนิธิ การก่อตั้งมูลนิธินั้นก็สืบเนื่องมาจากการจัดงานล้างป่าช้ามหากุศลครั้งยิ่งใหญ่ของจังหวัดภูเก็ต เมื่อปลายปี 2518 เพื่อเก็บอัฐิศพไร้ญาติมารวบรวมฝังไว้ที่สุสานรวมมิตร เขารัง และประกอบพิธีทางศาสนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในครั้งนั้นจึงได้มีการรวมกลุ่มของชาวจีนแต้จิ๋วกลุ่มนี้ขึ้นเพื่อดำเนินการดังกล่าว และได้ร่วมกันก่อตั้งเป็นมูลนิธิกุศลธรรมในเวลาต่อมา และเนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีหน่วยงานไหนทำงานในลักษณะช่วยเหลือเก็บศพไร้ญาติ หรือศพที่เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุเลย ทางมูลนิธิจึงปวารณาตัวเพื่อเข้ามาทำหน้าที่นี้ โดยคนทำงานในสมัยนั้นจะเป็นผู้สูงอายุ วัย 50 – 60 ปี แทบทั้งสิ้น เวลามีผู้แจ้งเหตุเข้ามาก็จะใช้รถสองแถวเก่าๆ คันหนึ่งออกไปช่วยเก็บศพและดำเนินการฝังให้ ขณะนั้นมูลนินิธิยังไม่เป็นที่รู้จักของชาวภูเก็ตเท่าไหร่นัก ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นศาลเจ้าของชาวแต้จิ๋ว เป็นสมาคมชาวแต้จิ๋ว แต่แท้จริงแล้วมูลนิธิตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นองค์กรที่ทำประโยชน์เพื่อสังคมชาวภูเก็ตโดยรวมไม่ได้แบ่งแยกกลุ่มใดๆ และได้ดำเนินการสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลากว่า 30 ปี”



สำหรับคุณเฉลิมเกียรติเองนั้นก็เรียกได้ว่าทำงานคลุกคลีกับมูลนิธิมาตั้งแต่ยุคก่อตั้ง มีโอกาสได้ติดตามคุณพ่อ มาช่วยเหลืองาน แม้ช่วงระยะเวลานั้นจะไม่ได้ช่วยเต็มตัวอย่างเช่นทุกวันนี้ก็ตาม เนื่องจากต้องดูแลรับผิดชอบครอบครัวและธุรกิจส่วนตัว “ผมเองเป็นชาวภูเก็ตแม้จะไม่ใช่โดยกำเนิดเนื่องจากเกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ก็ได้ติดตามคุณพ่อคุณแม่ซึ่งย้ายมาตั้งรกรากที่จังหวัดภูเก็ตตั้งแต่เด็กๆ ได้เรียนหนังสือและเติบโตลงหลักปักฐานที่นี่จนปัจจุบัน สำหรับการเข้ามาช่วยเหลืองานของมูลนิธิกุศลธรรมนั้น ในช่วงก่อตั้งผมได้ติดตามคุณพ่อมาช่วยเหลืองานบ้าง แต่เนื่องจากในช่วงนั้นยังอยู่ในวัยทำงาน มีภาระหน้าที่ต้องดูแลครอบครัวและกิจการส่วนตัว ทำให้ยังไม่ได้เข้ามาช่วยเหลืองานของมูลนิธิอย่างเต็มตัว แต่ทุกวันนี้ ลูกๆ เติบโตกันหมดแล้ว สามารถเข้ามาช่วยเหลือกิจการซึ่งผมเปิดร้านขายจักรยาน ชื่อร้านยอดวิทย์จักรยาน อยู่ที่สี่แยกหยี่เต้งคอมเพล็กซ์ ผมจึงมีเวลาทุ่มเททำงานให้มูลนิธิอย่างเต็มที่ แต่ที่ผ่านมาผมก็ได้ติดตามองค์ฮ้อเอี้ยฮุ้นฮุดโจ้ว ทำงานช่วยเหลือมูลนิธิกุศลธรรมมาโดยตลอด”

องค์ฮ้อเอี้ยฮุ้นฮุดโจ้ว ที่คุณเฉลิมเกียรติกล่าวถึงนั้น ก็คือองค์พระโพธิสัตว์ที่มุ่งแสวงบุญโดยการโปรดวิญญาณ ช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก นำดวงวิญญาณที่ตกทุกข์ได้ยากไปสู่สรวงสวรรค์เพื่อให้เขาพ้นทุกข์ และนับเป็นองค์เทพประจำสำนักหรือมูลนิธิแห่งนี้ และจากศรัทธาในแนวทางอันประเสริฐขององค์ฮ้อเอี้ยฮุ้นฮุดโจ้วนี้เอง มูลนิธิจึงได้ยึดถือแนวทางของท่านในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ช่วยส่งวิญญาณผู้ยากไร้ไปสู่สุคติ เป็นหลักในการทำงานเรื่อยมา และมีวัตถุประสงค์ในการทำงานที่แน่วแน่ว่า “วัตถุประสงค์ของมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ตนั้นมีสั้นๆ เพียง 3 ข้อ ข้อหนึ่งคือ จัดตั้งฌาปนสถาน หรือสุสานเพื่อฝังศพไร้ญาติ โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา และไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ข้อสองคือ ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก และผู้ประสบภัยพิบัติทุกประเภท และข้อสามคือ ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์สุขของสังคม โดยเฉพาะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

คุณเฉลิมเกียรติได้ชี้แจงเพิ่มเติมในรายละเอียดของวัตถุประสงค์แต่ละข้อ ที่นำมาซึ่งกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ตต่างๆ มากมายว่า “สำหรับวัตถุประสงค์ข้อที่หนึ่ง มูลนิธิมีความมุ่งหวังที่จะก่อตั้งสถานที่ฝังศพ หรือสุสานเพื่อฝังศพไร้ญาติ เพราะตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่มูลนิธิดำเนินงานมายังไม่มีสถานที่ฝังศพเป็นหลักแหล่งเลย ที่ผ่านมาหลายครั้งเราได้พยายามจัดหาที่ดินเพื่อใช้เป็นที่ฝังศพ บางแห่งมูลนิธิได้เสียงบประมาณดำเนินการไปแล้วกว่า 6 – 7 แสนบาท แต่ก็ต้องล้มเลิกไปเนื่องจากชุมชนละแวกใกล้เคียงไม่เห็นด้วย จึงยังไม่สามารถจัดหาที่ดินได้ แต่ ณ ปัจจุบันทางจังหวัดได้อนุเคราะห์ที่ดินบริเวณศูนย์พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล หรือสุสานไม้ขาวให้มูลนิธิสามารถเข้าไปใช้พื้นที่ฝังศพไร้ญาติได้ แต่ยังติดขัดอยู่ที่องค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาวยังไม่ให้ความเห็นชอบ จึงยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป สำหรับสุสานนั้นก็มีความจำเป็นเนื่องจากในกรณีที่มีการพบศพไร้ญาติที่เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ เราจะไม่สามารถเผาทำลายศพได้ แต่จะต้องเก็บศพเอาไว้รอการชันสูตร รอญาติมารับ หรือรอการดำเนินคดี ระหว่างนี้ศพจะต้องถูกพักไว้ที่โรงพยาบาล บางครั้งเป็นเวลานานๆ ก็เป็นภาระของทางโรงพยาบาล หรือบางครั้งตำรวจแจ้งให้ทางมูลนิธินำศพไปฝัง โดยไม่สามารถระบุได้ว่าให้ไปฝังที่ไหน ทางมูลนิธินั้นมีความยินดีที่จะดำเนินการให้ เพราะพร้อมช่วยเหลือทั้งแรงคนและอุปกรณ์ต่างๆ โดยทางตำรวจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในจุดนี้เลย แต่เนื่องจากติดขัดเรื่องสถานที่ที่จะนำศพไปฝัง บางครั้งเราจึงไม่สามารถดำเนินการได้ จึงเป็นปัญหาที่ทางมูลนิธิต้องการให้ผู้รับผิดชอบโดยตรง โปรดเล็งเห็นปัญหาและให้ความร่วมมือในการแก้ไข”



สำหรับวัตถุประสงค์ข้อที่สอง คือช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก และผู้ประสบภัยพิบัติทุกประเภทนั้น คุณเฉลิมเกียรติขยายความว่า “คำว่าผู้ตกทุกข์ได้ยากสำหรับเรานั้น มีความหมายที่กว้างและครอบคลุมถึงผู้ยากไร้ ผู้ขัดสน ผู้ประสบภัย ประสบเหตุเดือดร้อนต่างๆ และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทุกๆ กรณี ทุกวันนี้มีผู้ยากไร้หรือขัดสนเข้ามาขอรับการช่วยเหลือจากมูลนิธิมากมาย ซึ่งมูลนิธิก็ได้ให้ความช่วยเหลือไป เช่น ช่วยเหลือนำส่งผู้ป่วยเอดส์ไปที่สถานพักฟื้นจังหวัดชุมพร, ส่งผู้ป่วยโรคจิตไปรักษาที่จังหวัดสุราษฎร์ฯ, ส่งผู้ป่วยยากไร้ไปรักษาที่ มอ.หาดใหญ่, นำส่งศพไปชันสูตรที่สถาบันนิติเวช กรมตำรวจ หรือผู้ที่มาทำงานที่จังหวัดภูเก็ต แล้วต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่ขัดสนเงินทองมูลนิธิก็ช่วยเหลือเงินค่าเดินทางให้ โดยท่านสามารถมาเขียนคำร้องขอความอนุเคราะห์จากมูลนิธิได้

นอกจากนี้ ในกรณีของการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัยบนท้องถนนนั้นก็นับเป็นหน้าที่หลักของมูลนิธิ ซึ่งเราดูแลอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ปัจจุบันมูลนิธิมีรถพยาบาล และรถกู้ชีพ รวม 10 คัน รถของอาสาสมัครอีกราว 10 คัน มีอุปกรณ์พร้อม ทั้งอุปกรณ์ช่วยชีวิต เครื่องตัดถ่าง เครื่องดับเพลิง เรือยางและชุดประดาน้ำ พร้อมให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นภัยทางบกหรือภัยทางน้ำ มีศูนย์กู้ชีพกระจายอยู่ 3 จุดในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอถลาง และอำเภอกะทู้ รวมทั้งในแหล่งท่องเที่ยวคือหาดป่าตองเราก็มีหน่วยงานย่อยอยู่ที่นั่น โดยการร่วมมือกับโรงพยาบาลป่าตอง พร้อมให้การช่วยเหลือทันทีที่ได้รับแจ้งเหตุ เจ้าหน้าที่จะไปถึงที่เกิดเหตุภายใน 10 นาที เพียงโทรมาที่สายด่วนของมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต หมายเลขโทรศัพท์ 0 7624 6301 หมายเลขเดียวทุกพื้นที่ โดยนอกจากแจ้งอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว หากท่านเกิดเหตุขัดข้องต้องการความช่วยเหลือ เช่น รถเสียกลางทาง ยางรถแตก หรือน้ำมันหมดกลางค่ำกลางคืน ไปจนถึงท่อประปาแตก สัตว์เลื้อยคลานเข้าบ้าน ไฟฟ้าช้อต ท่านก็สามารถโทรมาที่สายด่วนของมูลนิธิตามหมายเลขดังกล่าวได้ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิจะไปให้ความช่วยเหลือท่านเต็มความสามารถ หรือหากเป็นกรณีที่นอกเหนือจากกำลังของเรา เราก็จะประสานงานให้หน่วยงานที่สามารถช่วยเหลือได้เข้าไปให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว”



และการช่วยเหลือทั้งการกู้ชีพและบรรเทาภัยอย่างรวดเร็วดังกล่าวนี้ แน่นอนว่าต้องอาศัยการทำงานอย่างแข็งขันของทีมเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครที่สละเวลาส่วนตัวมาช่วยเหลือทำงานเพื่อส่วนรวม “การทำงานของมูลนิธิกุศลธรรมขับเคลื่อนไปได้ด้วยกำลังความคิดและกำลังแรงของบุคลากร ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ อาสาสมัครบริหาร ซึ่งก็คือคณะกรรมการบริหารมูลนิธิทุกท่าน และอาสาสมัครบริการ คือเจ้าหน้าที่กู้ภัยทั้งหมดราว 100 กว่าคน โดยอาสาสมัครบริการนั้นก็ยังแบ่งเป็น 2 ประเภท คือประเภทที่รับค่าตอบแทน กับประเภทที่ไม่รับค่าตอบแทน สำหรับอาสาสมัครที่รับค่าตอบแทนนั้นก็ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ มีจำนวนประมาณ 45 คน ซึ่งรับเงินเดือนพอสมควรไม่ได้มากมาย แต่เรามีสวัสดิการ มีที่พัก มีการประกันอุบัติเหตุ และดูแลเรื่องการเจ็บป่วยให้ การทำงานจะแบ่งเป็นกะ กะละ 8 ชั่วโมงหมุนเวียนกันไปในทุกศูนย์กู้ชีพ แต่ละคนจะมีวันหยุดสัปดาห์ละ 1 วัน ส่วนอาสาสมัครที่ไม่รับค่าตอบแทนนั้น ก็มีอยู่ประมาณ 70 กว่าคน เป็นบุคคลทั่วไป ที่อาสาสละเวลาส่วนตัว อาจจะเป็นเวลาหลังเลิกงานประจำมาช่วยเหลืองานของมูลนิธิอย่างสม่ำเสมอ บางท่านสละทุนทรัพย์ส่วนตัว เช่นรถยนต์ เพื่อช่วยเหลืองานของมูลนิธิโดยที่ไม่คิดค่าใช้จ่าย ซ้ำยังเติมน้ำมันเองอีกด้วย นับเป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญในน้ำใจและคุณธรรมของอาสาสมัครเหล่านี้อย่างยิ่ง โดยผู้ที่สนใจเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิสามารถมาสมัครได้ เมื่อผ่านการทดสอบแล้ว เราก็จะออกบัตรอาสาสมัครให้ โดยอาสาสมัครของมูลนิธิทุกท่านจะได้รับการอบรมเรื่องการช่วยชีวิต การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลต่างๆ มาให้ความรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกไปทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างถูกต้องปลอดภัย ด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ขณะนี้ถือว่าเพียงพอต่อการให้การช่วยเหลือกรณีที่เกิดภัยพิบัติเล็กๆ ไปจนถึงภัยพิบัติใหญ่ เราสามารถระดมเจ้าหน้าที่ได้พร้อมทันทีภายในครึ่งชั่วโมง เพราะทุกคนจะคอยติดตามฟังข่าวทางวิทยุสื่อสารอยู่แล้ว หากเกิดเหตุขึ้นแต่ละคนจะรู้ตัวว่าต้องมุ่งไปที่เกิดเหตุเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก อย่างเกิดเพลิงไหม้ เกิดคลื่นยักษ์ ดินถล่ม ที่ต้องการระดมคน หากเราเป็นนักกู้ภัยจะนอนฟังเฉยอยู่ไม่ได้ จะต้องรีบออกไปช่วยเหลือทันที แม้กระทั่งผมเองเมื่อได้ทราบเหตุอย่างนี้ แม้ว่าจะเป็นเวลาพักผ่อนก็จะต้องรีบตื่นขึ้นมาแล้วออกไปช่วย นี่คือจิตวิญญาณของนักกู้ชีพทุกคน”

นอกจากความตั้งใจในการทำงานของบุคลากรทุกท่าน ที่ยินดีจะอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือทำประโยชน์ให้สังคมแล้ว สิ่งหนึ่งที่จรรโลงให้มูลนิธิสามารถดำรงอยู่เพื่อสร้างสิ่งดีๆ เหล่านี้ได้ ก็คือสังคมที่ยังโอบอุ้มและให้การสนับสนุนแก่มูลนิธินั่นเอง “งบประมาณในการดำเนินการทั้งหมดนั้นเป็นเงินที่ประชาชนได้มาบริจาคให้มูลนิธิทั้งสิ้น เราไม่มีนโยบายออกไปเรี่ยไรเงินตามบ้าน และขอให้ประชาชนที่มีจิตศรัทธาโปรดมาบริจาคเงินด้วยตัวท่านเองที่มูลนิธิ แล้วเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ทุกท่านได้มาบริจาคมาจะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคม ทั้งในกิจกรรมต่างๆ ที่ได้กล่าวไปแล้ว รวมทั้งการบริจาคทาน บริจาคข้าวสารให้แก่โครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนต่างๆ 36 โรงเรียน เป็นประจำทุกปี และส่วนหนึ่งเป็นเงินสะสมที่จะจัดสรรเพื่อนำมาใช้ในการทำนุบำรงสถานที่ของมูลนิธิ เช่นก่อสร้างอาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารองค์กรสาธารณประโยชน์ของมูลนิธิที่เพิ่งทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา เพื่อให้สังคมได้เข้ามาใช้ประโยชน์ ทั้งเป็นสถานที่จัดพิธีศพ เป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ และเป็นที่พักให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพียงทำหนังสือขอใช้อย่างเป็นทางการมายังมูลนิธิเท่านั้น สำหรับการบริหารจัดการเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ประชาชนบริจาคมานั้น มูลนิธิมีระบบบัญชีที่ชัดเจนดูแลโดยสำนักงานบัญชี มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีนำเข้าธนาคารทุกวัน และการเบิกจ่ายเงินก็จะต้องมีการเบิกจ่าย 2 ใน 4 โดยผู้ที่มีอำนาจสั่งจ่ายได้ก็คือประธาน รองประธาน เหรัญญิก และรองเหรัญญิก และจะมีการแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายของมูลนิธิทุกๆ เดือนในการประชุมสามัญประจำเดือน โดยคระกรรมการพยายามนำเงินเหล่านั้นไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เพราะเมื่อประชาชนได้บริจาคเงินมาแล้ว ก็ย่อมต้องจับตามองว่ามูลนิธิจะนำเงินเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง และเชื่อว่าด้วยความจริงจังตั้งใจจริงในการทำงาน กับผลงานที่เด่นชัดของมูลนิธิ ก็คงสามารถสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนให้เกิดขึ้นตามมานั่นเอง”

สำหรับหัวเรือใหญ่อย่างคุณเฉลิมเกียรติ หนึ่งในอาสาสมัครผู้ทุ่มเทอย่างเต็มกำลังทั้งใจกาย สละเวลามาช่วยเหลืองานของมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต ท่านมีเหตุผลในการกระโดดลงมาช่วยเหลืองานเพื่อสังคมนี้ว่า “ผมเชื่อในเรื่องกรรม และยึดถือเรื่องบุญบาปว่าเราควรจะสร้างอานิสงส์ผลบุญในชาตินี้เอาไว้ให้มาก เพื่อในชาติภพหน้าเราจะได้เกิดในภพภูมิที่ดีกว่า และผมอยากจะเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ อยากจะหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก เพราะเมื่อเราได้เป็นผู้ให้แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความสบายใจและภาคภูมิใจว่าเมื่อเขาเดือดร้อนแล้วเขานึกถึงเรา ทุกครั้งที่ผมได้ออกไปช่วยผู้ประสบภัยผมกลับบ้านไปก็นอนหลับสบาย มีความอิ่มอกอิ่มใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การให้ของผม ผมให้ตามอัตภาพ ให้เต็มกำลังความสามารถที่จะให้ได้ บางคนถามผมว่ามาทำงานให้มูลนิธิอย่างนี้ได้ค่าตอบแทนเยอะใช่ไหม ผมก็ได้แต่ตอบไปว่าผมได้นะ องค์ฮ้อเอี้ยฮุ้นฮุดโจ้วให้ผมไว้เยอะ แต่ผมฝากท่านไว้ข้างบน ยังไม่ได้ไปเบิก เพราะยังไม่ถึงเวลาจะไปเบิก แต่สักวันหนึ่งที่ผมจะต้องไปพบท่าน ก็คงได้ใช้ในสิ่งที่ได้สร้างได้ทำมานั้นเอง”



:: บทความนี้เคยถูกตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ทองหลังพระ" ของ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เมื่อเดือนมกราคม 2550 :: บทความ โดย ชุติมา กิตติธรกุล

:: เส้นทางลูกขนไก่ กับใจมุ่งมั่น


มณีพงศ์ จงจิตร เส้นทางลูกขนไก่ กับใจที่มุ่งมั่น

ทองหลังพระฉบับนี้จึงขอนำเสนอเรื่องราวของเด็กและเยาวชนลูกหลานคนภูเก็ตบ้าง และเยาวชนคนเก่งที่น่าสนใจคนนี้ เขามีความเป็นเลิศทางด้านกีฬา เป็นนักกีฬาเยาวชนที่มีโอกาสเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับนานาชาติหลายต่อหลายครั้ง และล่าสุดในการแข่งขันกีฬาจังหวัดภูเก็ต เขาได้รับคัดเลือกเป็นผู้วิ่งคบเพลิง จุดไฟเปิดพิธีการแข่งขัน และในโอกาสเดียวกันซึ่งเป็นวันกีฬาแห่งชาติ เขายังได้รับรางวัลนักกีฬาเยาวชนดีเด่นชายของจังหวัดภูเก็ตประจำปี 2549 อีกด้วย หนุ่มน้อยวัย 15 คนนี้ มณีพงศ์ จงจิตร ผู้มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติไทยให้ได้ในอนาคต

เรานัดหมายเพื่อไปพบน้องมณีพงศ์ หรือ เอ ที่โรงยิมแบดมินตันสะพานหิน ในเวลาเย็นหลังเลิกเรียน ซึ่งตามตารางประจำวันแล้ว เอจะต้องมาซ้อมแบดมินตันที่นี่เวลานี้เป็นประจำ แต่บรรยากาศการซ้อมในวันนี้ของเอดูสบายๆ อาจเป็นเพราะเขาเพิ่งกลับจากการแข่งขันรายการใหญ่ที่เมืองเสิ่นเจิ้น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 18 – 24 ธันวาคม ที่ผ่านมา “รายการที่เพิ่งไปแข่งมาเป็นการแข่งขันแบดมินตันเวิลด์จูเนียร์ อายุไม่เกิน 16 ปี ผมได้รับคัดเลือกจากสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยให้เป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่งในครั้งนี้ โดยก่อนหน้านี้ได้ไปแข่งขันคัดเลือกระดับอาเซียนที่ประเทศบรูไนก่อน แล้วได้รับรางวัลเป็นอันดับ 2 จึงได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันที่ประเทศจีน ครั้งนี้มีคู่แข่งประมาณ 10 ประเทศ ผลการแข่งขันผมไม่ได้รับเหรียญรางวัลกลับมา แต่ประเมินแล้วน่าจะอยู่ที่อันดับ 4 ของการแข่งขัน ก็นับว่าเป็นรายการที่ค่อนข้างท้าทายความสามารถ” เอเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเล่าถึงผลงานล่าสุดของตัวเอง




“แล้วเอเริ่มเล่นแบดมินตันตั้งแต่เมื่อไหร่?” เราป้อนคำถามให้เขาเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักหวดลูกขนไก่ “เริ่มเล่นแบดตั้งแต่อายุประมาณ 7 ขวบครับ เริ่มเล่นก็มีโค้ชสอนให้อย่างจริงจังเลย อาจจะเป็นเพราะว่าตอนเด็กๆ ผมคลุกคลีอยู่ที่สนามแบด เพราะคุณแม่ทำงานที่นี่ แล้วตัวเองก็รู้สึกชอบมาตั้งแต่เด็กๆ ก็เลยเล่นมาเรื่อยๆ โดยมีประธานชมรมแบดมินตันภูเก็ต คุณสุทธิพงศ์ ตันพงศ์เจริญ เป็นผู้สนับสนุนในทุกๆ ด้านมาตลอด พออายุ 9 ขวบก็เริ่มไปแข่งขัน แล้วก็ได้รางวัลกลับมา ครั้งหนึ่งได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ ด้วย จากนั้นก็เริ่มไปแข่งตามรายการต่างๆ เรื่อยมา จนตอนนี้อายุ 15 ปี เล่นแบดมาก็ประมาณ 8 ปีแล้วครับ”

ด้วยการเริ่มต้นเล่นแบดมินตันตั้งแต่เด็กเป็นการปลูกฝังพื้นฐานและทักษะที่ดีบวกกับพรสวรรค์ และความสนใจที่จะเล่นแบดมินตันอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้องเอมีการพัฒนาฝีมือการเล่นให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนมีโอกาสได้ไปแข่งขันหลายๆ รายการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีผลงานที่รับประกันความสามารถ อย่างเช่นผลงานในปี 2549 ที่เพิ่งผ่านมาก็มีมากมาย อทิ รางวัลชนะเลิศประเภทชายเดี่ยว, ประเภทชายคู่, ประเภททีม, ประเภทคู่ผสม จากการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติคัดเลือกภาค 4, รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ประเภทชายคู่ รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี และรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทชายเดี่ยว รุ่นอายไม่เกิน 15 ปี จากการแข่งขันรายการ Kason Bangkok – Chiangmai Open 2006, รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทชายเดี่ยว รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี และรางวัลชนะเลิศ ประเภทชายคู่ รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี รายการแบดมินตันเครือซีเมนต์ไทย ชิงชนะเลิศเยาวชนแห่งประเทศไทย ที่ร่ายยาวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรางวัลที่เอได้รับจากการแข่งขันเท่านั้น เพราะเขายังมีเหรียญและถ้วยรางวัลอีกมากมาย ที่แขวนและตั้งโชว์อยู่ในตู้ภายในสนามแบดมินตันเป็นเครื่องยืนยันถึงความสามารถ

แม้จะได้รับรางวัลจากการแข่งขันมามากมาย แต่สำหรับรางวัลที่เอประทับใจที่สุดนั้น เขาบอกว่า “เป็นรางวัลเหรียญทองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทชายเดี่ยว รุ่นอายไม่เกิน 15 ปี จากการแข่งขันรายการ Kason Bangkok – Chiangmai Open 2006 เพราะเป็นเหรียญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ”

แข่งปีหนึ่งหลายๆ รายการอย่างนี้ คงต้องฝึกซ้อมอย่างหนัก เอเล่าถึงการเวลาการฝึกซ้อมของเขาว่า “ผมจะใช้เวลาหลังเลิกเรียน ซ้อมแบดตั้งแต่ 6 โมงเย็น จนถึง 3 ทุ่มทุกวัน วันจันทร์ พุธ ศุกร์ เสาร์ จะซ้อมในสนามตามปกติ วันอังคาร พฤหัส จะมาวิ่ง ส่วนวันอาทิตย์ได้หยุด 1 วัน แต่ถ้าช่วงไหนที่จะไปแข่งก็อาจจะซ้อมหนักหน่อย เช่นช่วงเช้าอาจจะต้องมาซ้อมด้วย หรือวันหยุดก็ต้องมาซ้อม”

ส่วนเรื่องเรียนนั้น แม้เอจะมุ่งมั่นทางด้านกีฬา แต่การเรียนเขาก็ไม่ได้ทิ้ง “ผมเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนปลูกปัญญา พอจบ ป.6 ก็มาต่อที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ตอนนี้อยู่ชั้น ม.4 แล้วครับ เรียนสายศิลป์ฝรั่งเศส ผลการเรียนก็อยู่ในระดับปานกลาง พอผ่าน ต้องแบ่งเวลาเรียนกับเวลาซ้อม ก่อนไปซ้อมก็ต้องทำการบ้านให้เสร็จจากที่โรงเรียนก่อน บางช่วงที่ซ้อมหนักเวลาไปเรียนก็อาจจะมีง่วงนอนบ้าง เวลาต้องไปแข่งต่างจังหวัดหรือต่างประเทศทางโรงเรียนก็เข้าใจ บางครั้งอาจารย์ก็ให้โอกาสเรามาสอบทีหลัง ส่งงานทีหลังบ้างครับ ก็พยายามทำหน้าที่ทั้งสองอย่างให้ดี”



และเบื้องหลังความสำเร็จของเอนั้น ก็คงหนีไม่พ้นโค้ช หรือครูผู้ฝึกสอน ที่เคี่ยวกรำให้เอพัฒนาฝีมือของตนเอง เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ โค้ชคฑาวุฒิ พันธ์ครุธ โค้ชของเอ เขาเล่าถึงลูกศิษย์คนนี้ว่า “ผมเข้ามาดูแลเอเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้เขาอยู่ในการดูแลของโค้ช สมบูรณ์ ซื่อสกุลไพศาล โดยผมจะทำงานร่วมกับโค้ชอีก 2 ท่าน ผมจะดูแลเขาทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการเรียน เรื่องฝึกซ้อม เรื่องการกินอยู่ โดยเอเขาจะพักอยู่กับผมเลย เรียกได้ว่าเป็นทั้งโค้ชทั้งผู้ปกครอง สำหรับเอ นับว่าเขามีพรสวรรค์ และมีความคิดสร้างสรรค์ในการเล่น บางครั้งเขาจะรู้จักพลิกแพลงการเล่น คิดวิธีการตีลูกแบบใหม่ที่โค้ชไม่ได้สอน ส่วนนิสัยเขาเป็นเด็กขี้เล่น มีดื้อบ้าง ขี้เกียจบ้าง ตามประสาวัยรุ่น โค้ชก็พยายามเข้ามาจัดระบบแบ่งเวลาให้ และพยายามฝึกเขาเรื่องความรับผิดชอบ การที่เขาเริ่มเล่นแบดตั้งแต่ยังเด็กนั้นนับเป็นผลดีกับตัวนักกีฬา เพราะในการเล่นแบดมินตันต้องใช้จิตใจที่แน่วแน่ ต้องนิ่งและมีสมาธิเวลาลงสนาม และที่สำคัญต้องอาศัยประสบการณ์ ถ้าเปรียบเทียบระหว่างนักแบดที่ตีดีๆ กับนักแบดที่มีประสบการณ์เยอะ นักแบดที่มีประสบการณ์เยอะจะได้เปรียบกว่า ฉะนั้นจึงต้องฝึกให้มาก และต้องผลักดันให้เขามีโอกาสได้ไปแข่งในสนามต่างๆ แต่ก็ต้องดูความเหมาะสม เพราะถ้าไปบ่อยเกินไปก็จะเสียการเรียน ต้องเลือกการแข่งขันที่น่าสนใจจริงๆ แล้วก็ต้องแบ่งเวลาการซ้อมกับการเรียนให้ชัดเจน รวมทั้งเวลาส่วนตัวของเขาที่เขาจะได้พักผ่อนทำกิจกรรมส่วนตัว ตามความสนใจ ตามวัยของเขาบ้าง เพราะเราไม่อยากให้เขาเครียดจนเกินไป เวลาเขาท้อ เขาเครียดกับการซ้อมอาจจะมีการงอแงบ้าง โค้ชก็ต้องเข้าไปพูดคุย ดึงเขาออกจากเรื่องแบดไปพูดคุยเรื่องอื่น เดี๋ยวเขาก็ดีขึ้น ดีที่โค้ชกับเออายุไม่ต่างกันมากนัก เขาก็กล้าที่จะพูดคุยกับเรา เข้าใจกันได้ง่าย เราก็ต้องพยายามให้คำแนะนำเค้าไป เรียกว่าเป็นทั้งโค้ชทั้งลูกศิษย์ เป็นทั้งพี่ทั้งน้องกัน”

และกับรางวัลล่าสุด “รางวัลนักกีฬาเยาวชนดีเด่นชาย” ที่เอได้รับเนื่องในวันกีฬาแห่งชาติ ประจำปี 2549 นั้น เอพูดถึงรางวัลที่เขาได้รับเพียงสั้นๆ ว่า “รู้สึกภูมิใจ และดีใจ” ส่วนโค้ชผู้ฝึกสอนของเขาที่ได้รับรางวัล “ผู้ฝึกสอนกีฬาดีเด่น” เช่นกันนั้น แสดงความคิดเห็นต่อรางวัลที่ลูกศิษย์ได้รับว่า “ก็รู้สึกภูมิใจไปกับเค้าด้วย แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกเป็นห่วง เป็นห่วงมากกว่าเดิม เพราะนักกีฬาหลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ยังเด็กส่วนใหญ่จะเกิดความประมาท รู้สึกว่าตัวเองเก่งแล้วก็จะไม่พัฒนา ไม่กระตือรือร้น ทำให้ขาดโอกาสในการเติบโต เราก็ต้องพยายามสอน และเตือนสติให้เขา แล้วการที่เขาได้รับรางวัลต่างๆ มา เราซึ่งเป็นโค้ชก็ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เขารักษารางวัล รักษาความดีไว้ให้ได้ และให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ให้ภาพของเขาเป็นภาพบวกไปเรื่อยๆ ไม่อยากให้เป็นภาพลบ รู้สึกว่านั่นเป็นสิ่งที่ยาก เพราะเหมือนกับเราจะอยู่กับที่ไม่ได้ แต่ต้องก้าวไปข้างหน้า ต้องดีขึ้นๆ แต่หลักๆ แล้วก็รู้สึกภูมิใจและก็ดีใจกับรางวัลที่เขาได้รับ เพราะเขาต้องมuความรับผิดชอบมากกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน เวลาที่เพื่อนๆ เขาอาจจะได้ไปเที่ยวเล่นเตร็ดเตร่ แต่เขาต้องมาซ้อม ก็นับเป็นสิ่งที่ต้องชื่นชม”



สำหรับเอ แบดมินตันไม่ได้เป็นเพียงกีฬาที่เขาถนัดและให้เพียงความสนุกสนาน แต่เอบอกว่าแบดมินตันให้อะไรแก่เขามากมาย “การเล่นแบดมินตัน และเป็นนักกีฬาแบดมินตันสอนให้ผมมีระเบียบวินัย มีความอดทน มีน้ำใจนักกีฬา ฝึกให้เรามีสมาธิ และกล้าตัดสินใจ ทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ให้โอกาสที่ดีและน่าภูมิใจกับชีวิตของเรา จึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ ทุกคนให้หันมาใช้เวลากับการเล่นกีฬากันเยอะๆ นะครับ”

เมื่อถามถึงอนาคต เอตอบอย่างไม่ต้องคิดมากว่า “อยากเป็นนักกีฬาทีมชาติครับ เป็นเรื่องที่ยากเหมือนกัน แต่จะพยายามทำให้ได้” เราขอเอาใจช่วยอีกแรงให้น้องเอพยายามอย่างเต็มที่และแน่นอนว่าเมื่อถึงวันนั้น เขาจะเป็นความภูมิใจของชาวภูเก็ตทุกคน



:: บทความนี้เคยถูกตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ทองหลังพระ" ของ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เมื่อเดือนมกราคม 2550 :: บทความ โดย ชุติมา กิตติธรกุล

เรื่องดีๆ ล่าสุด