โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต สนับสนุนให้เกิดเรื่องราวดีๆ ขึ้นในชุมชน ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่น กิจกรรมสาธารณะ ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ และทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม รวมทั้งการส่งเสริมกาเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ให้กับเจ้าหน้าที่, การดูแลสุขภาพ และในบล็อก StoryDD แห่งนี้ ได้รวบรวมบทความในโครงการส่งเสริมนักเขียนท้องถิ่น ให้สร้างผลงานเขียนเชิดชูบุคคล หรือหน่วยงานที่ทำความดี ให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจกับผู้อ่าน เพื่อร่วมสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนต่อไป

๑๓ พ.ย. ๒๕๕๐

:: เส้นทางลูกขนไก่ กับใจมุ่งมั่น


มณีพงศ์ จงจิตร เส้นทางลูกขนไก่ กับใจที่มุ่งมั่น

ทองหลังพระฉบับนี้จึงขอนำเสนอเรื่องราวของเด็กและเยาวชนลูกหลานคนภูเก็ตบ้าง และเยาวชนคนเก่งที่น่าสนใจคนนี้ เขามีความเป็นเลิศทางด้านกีฬา เป็นนักกีฬาเยาวชนที่มีโอกาสเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับนานาชาติหลายต่อหลายครั้ง และล่าสุดในการแข่งขันกีฬาจังหวัดภูเก็ต เขาได้รับคัดเลือกเป็นผู้วิ่งคบเพลิง จุดไฟเปิดพิธีการแข่งขัน และในโอกาสเดียวกันซึ่งเป็นวันกีฬาแห่งชาติ เขายังได้รับรางวัลนักกีฬาเยาวชนดีเด่นชายของจังหวัดภูเก็ตประจำปี 2549 อีกด้วย หนุ่มน้อยวัย 15 คนนี้ มณีพงศ์ จงจิตร ผู้มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติไทยให้ได้ในอนาคต

เรานัดหมายเพื่อไปพบน้องมณีพงศ์ หรือ เอ ที่โรงยิมแบดมินตันสะพานหิน ในเวลาเย็นหลังเลิกเรียน ซึ่งตามตารางประจำวันแล้ว เอจะต้องมาซ้อมแบดมินตันที่นี่เวลานี้เป็นประจำ แต่บรรยากาศการซ้อมในวันนี้ของเอดูสบายๆ อาจเป็นเพราะเขาเพิ่งกลับจากการแข่งขันรายการใหญ่ที่เมืองเสิ่นเจิ้น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 18 – 24 ธันวาคม ที่ผ่านมา “รายการที่เพิ่งไปแข่งมาเป็นการแข่งขันแบดมินตันเวิลด์จูเนียร์ อายุไม่เกิน 16 ปี ผมได้รับคัดเลือกจากสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยให้เป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่งในครั้งนี้ โดยก่อนหน้านี้ได้ไปแข่งขันคัดเลือกระดับอาเซียนที่ประเทศบรูไนก่อน แล้วได้รับรางวัลเป็นอันดับ 2 จึงได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันที่ประเทศจีน ครั้งนี้มีคู่แข่งประมาณ 10 ประเทศ ผลการแข่งขันผมไม่ได้รับเหรียญรางวัลกลับมา แต่ประเมินแล้วน่าจะอยู่ที่อันดับ 4 ของการแข่งขัน ก็นับว่าเป็นรายการที่ค่อนข้างท้าทายความสามารถ” เอเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเล่าถึงผลงานล่าสุดของตัวเอง




“แล้วเอเริ่มเล่นแบดมินตันตั้งแต่เมื่อไหร่?” เราป้อนคำถามให้เขาเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักหวดลูกขนไก่ “เริ่มเล่นแบดตั้งแต่อายุประมาณ 7 ขวบครับ เริ่มเล่นก็มีโค้ชสอนให้อย่างจริงจังเลย อาจจะเป็นเพราะว่าตอนเด็กๆ ผมคลุกคลีอยู่ที่สนามแบด เพราะคุณแม่ทำงานที่นี่ แล้วตัวเองก็รู้สึกชอบมาตั้งแต่เด็กๆ ก็เลยเล่นมาเรื่อยๆ โดยมีประธานชมรมแบดมินตันภูเก็ต คุณสุทธิพงศ์ ตันพงศ์เจริญ เป็นผู้สนับสนุนในทุกๆ ด้านมาตลอด พออายุ 9 ขวบก็เริ่มไปแข่งขัน แล้วก็ได้รางวัลกลับมา ครั้งหนึ่งได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ ด้วย จากนั้นก็เริ่มไปแข่งตามรายการต่างๆ เรื่อยมา จนตอนนี้อายุ 15 ปี เล่นแบดมาก็ประมาณ 8 ปีแล้วครับ”

ด้วยการเริ่มต้นเล่นแบดมินตันตั้งแต่เด็กเป็นการปลูกฝังพื้นฐานและทักษะที่ดีบวกกับพรสวรรค์ และความสนใจที่จะเล่นแบดมินตันอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้องเอมีการพัฒนาฝีมือการเล่นให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนมีโอกาสได้ไปแข่งขันหลายๆ รายการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีผลงานที่รับประกันความสามารถ อย่างเช่นผลงานในปี 2549 ที่เพิ่งผ่านมาก็มีมากมาย อทิ รางวัลชนะเลิศประเภทชายเดี่ยว, ประเภทชายคู่, ประเภททีม, ประเภทคู่ผสม จากการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติคัดเลือกภาค 4, รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ประเภทชายคู่ รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี และรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทชายเดี่ยว รุ่นอายไม่เกิน 15 ปี จากการแข่งขันรายการ Kason Bangkok – Chiangmai Open 2006, รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทชายเดี่ยว รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี และรางวัลชนะเลิศ ประเภทชายคู่ รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี รายการแบดมินตันเครือซีเมนต์ไทย ชิงชนะเลิศเยาวชนแห่งประเทศไทย ที่ร่ายยาวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรางวัลที่เอได้รับจากการแข่งขันเท่านั้น เพราะเขายังมีเหรียญและถ้วยรางวัลอีกมากมาย ที่แขวนและตั้งโชว์อยู่ในตู้ภายในสนามแบดมินตันเป็นเครื่องยืนยันถึงความสามารถ

แม้จะได้รับรางวัลจากการแข่งขันมามากมาย แต่สำหรับรางวัลที่เอประทับใจที่สุดนั้น เขาบอกว่า “เป็นรางวัลเหรียญทองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทชายเดี่ยว รุ่นอายไม่เกิน 15 ปี จากการแข่งขันรายการ Kason Bangkok – Chiangmai Open 2006 เพราะเป็นเหรียญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ”

แข่งปีหนึ่งหลายๆ รายการอย่างนี้ คงต้องฝึกซ้อมอย่างหนัก เอเล่าถึงการเวลาการฝึกซ้อมของเขาว่า “ผมจะใช้เวลาหลังเลิกเรียน ซ้อมแบดตั้งแต่ 6 โมงเย็น จนถึง 3 ทุ่มทุกวัน วันจันทร์ พุธ ศุกร์ เสาร์ จะซ้อมในสนามตามปกติ วันอังคาร พฤหัส จะมาวิ่ง ส่วนวันอาทิตย์ได้หยุด 1 วัน แต่ถ้าช่วงไหนที่จะไปแข่งก็อาจจะซ้อมหนักหน่อย เช่นช่วงเช้าอาจจะต้องมาซ้อมด้วย หรือวันหยุดก็ต้องมาซ้อม”

ส่วนเรื่องเรียนนั้น แม้เอจะมุ่งมั่นทางด้านกีฬา แต่การเรียนเขาก็ไม่ได้ทิ้ง “ผมเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนปลูกปัญญา พอจบ ป.6 ก็มาต่อที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ตอนนี้อยู่ชั้น ม.4 แล้วครับ เรียนสายศิลป์ฝรั่งเศส ผลการเรียนก็อยู่ในระดับปานกลาง พอผ่าน ต้องแบ่งเวลาเรียนกับเวลาซ้อม ก่อนไปซ้อมก็ต้องทำการบ้านให้เสร็จจากที่โรงเรียนก่อน บางช่วงที่ซ้อมหนักเวลาไปเรียนก็อาจจะมีง่วงนอนบ้าง เวลาต้องไปแข่งต่างจังหวัดหรือต่างประเทศทางโรงเรียนก็เข้าใจ บางครั้งอาจารย์ก็ให้โอกาสเรามาสอบทีหลัง ส่งงานทีหลังบ้างครับ ก็พยายามทำหน้าที่ทั้งสองอย่างให้ดี”



และเบื้องหลังความสำเร็จของเอนั้น ก็คงหนีไม่พ้นโค้ช หรือครูผู้ฝึกสอน ที่เคี่ยวกรำให้เอพัฒนาฝีมือของตนเอง เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ โค้ชคฑาวุฒิ พันธ์ครุธ โค้ชของเอ เขาเล่าถึงลูกศิษย์คนนี้ว่า “ผมเข้ามาดูแลเอเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้เขาอยู่ในการดูแลของโค้ช สมบูรณ์ ซื่อสกุลไพศาล โดยผมจะทำงานร่วมกับโค้ชอีก 2 ท่าน ผมจะดูแลเขาทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการเรียน เรื่องฝึกซ้อม เรื่องการกินอยู่ โดยเอเขาจะพักอยู่กับผมเลย เรียกได้ว่าเป็นทั้งโค้ชทั้งผู้ปกครอง สำหรับเอ นับว่าเขามีพรสวรรค์ และมีความคิดสร้างสรรค์ในการเล่น บางครั้งเขาจะรู้จักพลิกแพลงการเล่น คิดวิธีการตีลูกแบบใหม่ที่โค้ชไม่ได้สอน ส่วนนิสัยเขาเป็นเด็กขี้เล่น มีดื้อบ้าง ขี้เกียจบ้าง ตามประสาวัยรุ่น โค้ชก็พยายามเข้ามาจัดระบบแบ่งเวลาให้ และพยายามฝึกเขาเรื่องความรับผิดชอบ การที่เขาเริ่มเล่นแบดตั้งแต่ยังเด็กนั้นนับเป็นผลดีกับตัวนักกีฬา เพราะในการเล่นแบดมินตันต้องใช้จิตใจที่แน่วแน่ ต้องนิ่งและมีสมาธิเวลาลงสนาม และที่สำคัญต้องอาศัยประสบการณ์ ถ้าเปรียบเทียบระหว่างนักแบดที่ตีดีๆ กับนักแบดที่มีประสบการณ์เยอะ นักแบดที่มีประสบการณ์เยอะจะได้เปรียบกว่า ฉะนั้นจึงต้องฝึกให้มาก และต้องผลักดันให้เขามีโอกาสได้ไปแข่งในสนามต่างๆ แต่ก็ต้องดูความเหมาะสม เพราะถ้าไปบ่อยเกินไปก็จะเสียการเรียน ต้องเลือกการแข่งขันที่น่าสนใจจริงๆ แล้วก็ต้องแบ่งเวลาการซ้อมกับการเรียนให้ชัดเจน รวมทั้งเวลาส่วนตัวของเขาที่เขาจะได้พักผ่อนทำกิจกรรมส่วนตัว ตามความสนใจ ตามวัยของเขาบ้าง เพราะเราไม่อยากให้เขาเครียดจนเกินไป เวลาเขาท้อ เขาเครียดกับการซ้อมอาจจะมีการงอแงบ้าง โค้ชก็ต้องเข้าไปพูดคุย ดึงเขาออกจากเรื่องแบดไปพูดคุยเรื่องอื่น เดี๋ยวเขาก็ดีขึ้น ดีที่โค้ชกับเออายุไม่ต่างกันมากนัก เขาก็กล้าที่จะพูดคุยกับเรา เข้าใจกันได้ง่าย เราก็ต้องพยายามให้คำแนะนำเค้าไป เรียกว่าเป็นทั้งโค้ชทั้งลูกศิษย์ เป็นทั้งพี่ทั้งน้องกัน”

และกับรางวัลล่าสุด “รางวัลนักกีฬาเยาวชนดีเด่นชาย” ที่เอได้รับเนื่องในวันกีฬาแห่งชาติ ประจำปี 2549 นั้น เอพูดถึงรางวัลที่เขาได้รับเพียงสั้นๆ ว่า “รู้สึกภูมิใจ และดีใจ” ส่วนโค้ชผู้ฝึกสอนของเขาที่ได้รับรางวัล “ผู้ฝึกสอนกีฬาดีเด่น” เช่นกันนั้น แสดงความคิดเห็นต่อรางวัลที่ลูกศิษย์ได้รับว่า “ก็รู้สึกภูมิใจไปกับเค้าด้วย แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกเป็นห่วง เป็นห่วงมากกว่าเดิม เพราะนักกีฬาหลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ยังเด็กส่วนใหญ่จะเกิดความประมาท รู้สึกว่าตัวเองเก่งแล้วก็จะไม่พัฒนา ไม่กระตือรือร้น ทำให้ขาดโอกาสในการเติบโต เราก็ต้องพยายามสอน และเตือนสติให้เขา แล้วการที่เขาได้รับรางวัลต่างๆ มา เราซึ่งเป็นโค้ชก็ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เขารักษารางวัล รักษาความดีไว้ให้ได้ และให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ให้ภาพของเขาเป็นภาพบวกไปเรื่อยๆ ไม่อยากให้เป็นภาพลบ รู้สึกว่านั่นเป็นสิ่งที่ยาก เพราะเหมือนกับเราจะอยู่กับที่ไม่ได้ แต่ต้องก้าวไปข้างหน้า ต้องดีขึ้นๆ แต่หลักๆ แล้วก็รู้สึกภูมิใจและก็ดีใจกับรางวัลที่เขาได้รับ เพราะเขาต้องมuความรับผิดชอบมากกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน เวลาที่เพื่อนๆ เขาอาจจะได้ไปเที่ยวเล่นเตร็ดเตร่ แต่เขาต้องมาซ้อม ก็นับเป็นสิ่งที่ต้องชื่นชม”



สำหรับเอ แบดมินตันไม่ได้เป็นเพียงกีฬาที่เขาถนัดและให้เพียงความสนุกสนาน แต่เอบอกว่าแบดมินตันให้อะไรแก่เขามากมาย “การเล่นแบดมินตัน และเป็นนักกีฬาแบดมินตันสอนให้ผมมีระเบียบวินัย มีความอดทน มีน้ำใจนักกีฬา ฝึกให้เรามีสมาธิ และกล้าตัดสินใจ ทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ให้โอกาสที่ดีและน่าภูมิใจกับชีวิตของเรา จึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ ทุกคนให้หันมาใช้เวลากับการเล่นกีฬากันเยอะๆ นะครับ”

เมื่อถามถึงอนาคต เอตอบอย่างไม่ต้องคิดมากว่า “อยากเป็นนักกีฬาทีมชาติครับ เป็นเรื่องที่ยากเหมือนกัน แต่จะพยายามทำให้ได้” เราขอเอาใจช่วยอีกแรงให้น้องเอพยายามอย่างเต็มที่และแน่นอนว่าเมื่อถึงวันนั้น เขาจะเป็นความภูมิใจของชาวภูเก็ตทุกคน



:: บทความนี้เคยถูกตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ทองหลังพระ" ของ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เมื่อเดือนมกราคม 2550 :: บทความ โดย ชุติมา กิตติธรกุล

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ที่สุดก็ได้ไปโอลิมปิก

เรื่องดีๆ ล่าสุด