โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต สนับสนุนให้เกิดเรื่องราวดีๆ ขึ้นในชุมชน ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่น กิจกรรมสาธารณะ ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ และทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม รวมทั้งการส่งเสริมกาเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ให้กับเจ้าหน้าที่, การดูแลสุขภาพ และในบล็อก StoryDD แห่งนี้ ได้รวบรวมบทความในโครงการส่งเสริมนักเขียนท้องถิ่น ให้สร้างผลงานเขียนเชิดชูบุคคล หรือหน่วยงานที่ทำความดี ให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจกับผู้อ่าน เพื่อร่วมสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนต่อไป

๒๓ พ.ย. ๒๕๕๐

:: ครูจีระศักดิ์ ท่อทิพย์


ครูจีระศักดิ์ ท่อทิพย์

ต้องยอมรับว่าการเดินทางบนถนนสายป่าคลอก - บางโรงนั้นให้ความรู้สึกที่แตกต่างไปจากการเดินทางบนถนนสายหลักอื่นๆ ในจังหวัดภูเก็ต ที่นับวันจะถูกความเจริญเข้ายึดกินทุกพื้นที่ ถึงแม้ว่าต้นๆ สายของถนนเส้นนี้จะเริ่มมีหมู่บ้านจัดสรรหลากแบบหลายสไตล์ มีโครงการมารีน่ามาเกาะกินพื้นที่ชายฝั่ง มีโครงการบ้านฝรั่งราคาหลายสิบล้านไต่อยู่บนแนวแหลมบ้างแล้วก็ตาม หากแต่เพียงเดินทางเข้าไปอีกเกือบสิบกิโล ความร่มรื่นของต้นไม้ และความรื่นรมย์ของวิถีชีวิตแบบชาวบ้านที่มองเห็นได้ง่ายตลอดเส้นทางบ้านบางโรง ก็พอทำให้เราหายใจสะดวกขึ้นได้ไม่ยาก และเส้นทางสู่บ้านบางโรงนี้ก็พาเราไปพบกับทองหลังพระคนล่าสุด คุณจีระศักดิ์ ท่อทิพย์ ชายวัย 43 ชาวบางโรงผู้กางพระคัมภีร์อัลกุรอ่านพลิกฟื้นสภาพแวดล้อมของบ้านบางโรงชุมชนเล็กๆ ชายฝั่งให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ พลิกฟื้นความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ลื่นไถลไปกับกระแสทุนให้ลุกขึ้นมาตั้งตัวได้ ผูกผสานพลังชุมชนให้ยังคงความเป็นบ้านบางโรงที่เข้มแข็ง ท่ามกลางกระแสทุนที่ถาโถม

“ผมเกิดที่นี่ โตที่นี่ ที่ชุมชนบ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก จังหวัดภูเก็ต เรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านป่าคลอก จากนั้นก็ไปเรียนโรงเรียนมุสลิมวิทยาจังหวัดภูเก็ต จบโรงเรียนมุสลิมฯ ก็เรียน กศน.จนจบ ม.6 และมีโอกาสได้เรียนที่สถาบันราชภัฎภูเก็ต แต่เนื่องจากช่วงหลังได้มาทำงานชุมชนมากขึ้น จึงได้ดร็อปการเรียนเอาไว้ก่อน สำหรับการทำงานในชุมชนนอกจากมีตำแหน่งเป็นคอเต็บ หรือรองโต๊ะอิหม่าม ของมัสยิดนูรัลญันนะฮ์ หรือมัสยิดบ้านบางโรงแล้ว ก็ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต สมัยที่ผ่านมาก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานโรงเรียนบ้านบางโรง แล้วก็เป็นเลขานุการมูลนิธิมุสลิมวิทยาจังหวัดภูเก็ต ได้รับคัดเลือกเป็นครูภูมิปัญญาไทยด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในอดีตก็เคยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเยาวชนดีเด่นของจังหวัดภูเก็ตให้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นครับ” ครูจีระศักดิ์ พยายามนึกไล่ถึงบทบาทหน้าที่การทำงานของตนเอง เพื่อแนะนำให้เราได้รู้จักเขาอย่างคร่าวๆ แบบรวดเดียวจบ ก่อนจะแนะนำให้เราได้รู้จักบ้านบางโรง ชุมชนบ้านเกิดของเขาบ้างว่า

“วิถีชีวิตของชาวบ้านบางโรงในอดีตนั้น เป็นชุมชนที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ในช่วงที่ชาวบ้านตัดยางกรีดยางไม่ได้ ก็จะออกทะเลไปหาปูหาปลา เป็นชีวิตที่มีการแบ่งปันกัน เมื่อมีพิธีกรรมทางศาสนา ก็มารวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรม มีความเอื้ออาทรต่อกัน และเป็นอยู่อย่างพอเพียง ผมเองตอนเป็นเด็กประถม แทบไม่ต้องขอเงินค่าขนมจากพ่อแม่ แค่ออกไปตกปลาหาปูเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้เงินค่าขนมแล้ว” ครูจีระศักดิ์สะท้อนภาพบางโรงในวันวานให้เราได้เห็น



“แต่หลังจากไปเรียนหนังสือที่อื่นกลับมา ก็ได้พบเห็นว่าบางโรงของเราเปลี่ยนไป จากเดิมที่ชาวบ้านจะหากินอยู่บริเวณลำคลอง หาปูหาปลา หาหญ้าทะเลตามป่าชายเลน มีชีวิตที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติตามวิถีชาวบ้าน แต่หลังจากที่รัฐได้ให้สัมปทานป่าชายเลนเมื่อปี พ.ศ.2513 เป็นต้นมา จนกระทั่งปี พ.ศ.2539 ที่รัฐปิดป่า ปรากฏว่าป่าชายเลนถูกทำลายไปเกือบหมด พอป่าชายเลนหมดทุกสิ่งทุกอย่างก็เริ่มหมดไปจากลำคลอง ระบบนิเวศน์เริ่มเปลี่ยนจากที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ไหนแต่ไรมานอกจากชาวบ้านจะมีอาชีพทำสวนแล้ว ก็ยังทำประมงชายฝั่ง ทำประมงขนาดเล็ก เมื่อทรัพยากรหมดไปบางคนก็จำต้องเปลี่ยนอาชีพ ไปเป็นลูกจ้างนายทุนในการเผาไม้เพื่อทำถ่านบ้าง ไปค้าขายบ้าง แต่บางคนก็ขาดทักษะในการค้าขาย ประกอบกับเจอช่วงวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี 2540 ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน บางคนก็เอาที่ดินเรือกสวนไร่นาของตัวเองไปขาย ไปจำนองกับนายทุน นานเข้าที่ดินก็ตกเป็นของนายทุนไปโดยปริยาย โครงสร้างของชุมชนที่เคยเป็นอยู่อย่างพอเพียง พึ่งพิงธรรมชาติ ก็เปลี่ยนไปเนื่องจากการเข้ามาของระบบทุนและความเจริญ” ครูจีระศักดิ์เล่าถึงสภาพปัญหาคร่าวๆ ที่ชาวบ้านบางโรงต้องประสบเมื่อหลายปีก่อน และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาแก้ปัญหาในชุมชนอย่างจริงจัง

“การได้มีโอกาสไปเรียนหนังสือ ไปศึกษาดูงานต่างประเทศ มีโอกาสได้สัมผัสกับการทำงานของภาครัฐ รวมทั้งจากการที่เราได้ศึกษาศาสนา ได้สอนเด็กและเยาวชน มีการจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกร จัดตั้งกลุ่มเยาวชนขึ้น จึงได้นำความรู้และประสบการณ์เหล่านั้นมาใช้ในการทำงานชุมชน โดยพยายามให้เกิดการการพัฒนาแบบองค์รวม ทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ”

ด้วยเป็นผู้ยึดถือในหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดเสมอมา อีกทั้งด้วยบทบาทของคอเต็บผู้มีโอกาสเทศนาสั่งสอนชาวบ้าน ครูจีระศักดิ์จึงยึดเอาหลักศาสนา กางพระคัมภีร์อัลกุรอ่านนำทางชาวบ้านสู่การฟื้นฟูชุมชนอันเป็นบ้านเกิดที่รัก

“เนื่องด้วยวิถีชีวิตของชาวมุสลิม ในช่วงระยะ 7 วันจะมีโอกาสได้พบปะกัน โดยการมาละหมาดทุกวันที่มัสยิด ผมเองได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้านโดยการขึ้นไปเทศนาประจำทุกวันศุกร์ ตั้งแต่ช่วงแรกที่ยังไม่ได้เป็นคอเต็บ เพราะบรรดาผู้นำศาสนาในช่วงนั้นเปิดโอกาสให้ผมได้ขึ้นไปเทศนา แต่การพูดคุยของผมอาจจะแตกต่างกว่าคนอื่นๆ คือผมจะพูดคุยกับชาวบ้านในเรื่องวิกฤติสิ่งแวดล้อมของชุมชน เรื่องความเป็นอยู่อย่างพอเพียง ความเอื้ออาทรต่อกัน เป็นการปลูกจิตสำนึกโดยพยายามผูกโยงกับหลักศาสนา เพราะหลักศาสนาอิสลามนั้นไม่ได้เจาะจงเฉพาะเรื่องของการละหมาด 5 เวลา เรื่องของการถือศีลอด และหลักปฏิบัติต่างๆ เพียงเท่านั้น แต่หลักศาสนาอิสลามยังสอนในเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย ทรัพยากรธรรมชาติเปรียบเหมือนความดีที่พระเจ้าประทานให้มา เราจึงต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ฟุ่มเฟือย และไม่ทำลายความดีที่พระเจ้าประทานให้มา ตามคำสั่งสอนของศาสนาแม้แต่เราตัดต้นไม้ต้นหนึ่งโดยไม่มีความจำเป็นก็นับเป็นความผิดอย่างมหันต์ ผมพยายามปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ว่าทรัพยากรธรรมชาตินั้นใช้ได้ แต่อย่าใช้อย่างฟุ่มเฟือย ต้องใช้อย่างมีสติ รวมทั้งพยายามเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตด้วยว่าชาวบางโรงในอดีตเป็นอยู่กันอย่างไร แล้วปัจจุบันนี้อยู่กันอย่างไร จนกระทั่งชาวบ้านเริ่มจะมีความคิดเห็นคล้อยตาม หลายๆ คนเริ่มพูดคุยกันถึงปัญหาในชุมชน บรรดาคนหนุ่มๆ ที่ได้ไปเรียนหนังสือมีการศึกษากลับมา ก็มีโอกาสได้มานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน แล้วจากการพูดคุยในวงแคบๆ เราก็เริ่มเปิดเวทีชาวบ้านขึ้น ให้ชาวบ้านได้มาระดมความคิดเห็นกันว่าในชุมชนเรามีปัญหาอะไรบ้าง วิกฤติที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง คนเฒ่าคนแก่ก็มีโอกาสได้บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ของบ้านบางโรงให้คนรุ่นหลังๆ ได้ฟังว่าในอดีตบ้านบางโรงรอดพ้นจากการโจมตีของพม่าก็เพราะป่าชายเลน และผืนป่าเขาพระแทวที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนคนรุ่น 40 - 50 ปีก็คุยเรื่องของทรัพยากร ว่าเมื่อก่อนเขาอยู่กันอย่างไร ปัจจุบันนี้เขาอยู่กันอย่างไร เมื่อมองเห็นปัญหา เราจึงมาร่วมกันคิดว่าจะหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างไร มาดูว่าศักยภาพของเรามีอะไรบ้าง ศักยภาพของชุมชนมีอะไรบ้าง เรามีป่าชายเลนที่ถึงแม้ว่ามันจะถูกทำลายไปหมด แต่ถ้าเราช่วยกันฟื้นฟูก็น่าจะกลับมาเหมือนเดิมได้” จากหนึ่งคนคิดกลายเป็นพลังชุมชนที่ผลักดันร่วมกันให้เกิดการแก้ปัญหาเป็นรูปธรรมในเวลาต่อมา



“ชาวบ้านร่วมกันคิดว่าเราน่าจะตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนขึ้นมา ที่ยังมีอยู่ก็ช่วยกันดูแลเป็นหูเป็นตาอย่าให้ใครมาแผ้วถางทำลาย ที่เสื่อมโทรมไปแล้วก็ปลูกทดแทนขึ้นมาใหม่ เมื่อป่าชายเลนได้รับการฟื้นฟู เราก็มีความคิดต่อมาว่าน่าจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพราะจังหวัดภูเก็ตเราเป็นเมืองท่องเที่ยว จึงได้มีการไปศึกษาดูงานของที่อื่นๆ แล้วนำมาบริหารจัดการในพื้นที่ของเรา โดยในช่วงแรกเราได้ใช้เงินของมัสยิดเป็นทุนรอนในการบริหารจัดการ รวมทั้งเงินทุนจากสำนักงานกองทุนทางสังคม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และสำนักงานเกษตรภูเก็ตด้วย โดยให้ชาวบ้านช่วยกันจัดการเพื่อจะได้เกิดรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง เราได้จัดทำเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้เยาวชนในพื้นที่เข้ามาพายเรือแคนูบริการและเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวในเส้นทางที่จัดเตรียมไว้ เส้นทางหนึ่งพาไปเขาพระแทว อีกเส้นทางหนึ่งพาไปศึกษาระบบนิเวศน์ป่าชายเลน ให้กลุ่มแม่บ้านเข้ามาปรุงอาหารบริการในร้านอาหาร โดยรับซื้อกุ้งหอยปูปลาจากกระชังของชาวบ้านเครือข่ายของเราเอง จะได้ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ก็เริ่มมีนักท่องเที่ยว มีเอเย่นต์ทัวร์เข้ามาเรื่อยๆ พอชาวบ้านเริ่มมีรายได้ ลูกหลานเขามีงานทำไม่ต้องอยู่ว่างก่อปัญหาติดยาเสพย์ติด เขาก็เริ่มมองเห็นประโยชน์ เห็นความสำคัญว่าป่าชายเลนว่านอกจากจะเอาไม้มาทำฟืน ทำเล้าไก่ มาสร้างบ้านแล้ว ป่าชายเลนยังมีคุณค่าอีกเยอะ”



นอกจากการใช้หลักศาสนาปลุกจิตสำนึกให้ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งก่อให้เกิดอาชีพเกิดรายได้แก่ชาวบ้านแล้ว ครูจีระศักดิ์และแกนนำยังเล็งเห็นถึงสภาพปัญหาที่ชาวบ้านต้องตกเป็นหนี้เป็นสิน จึงได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนปลดเปลื้องหนี้สินขึ้นมาโดยมีภาครัฐคอยให้คำแนะนำ

“หลังจากเกิดวิกฤติชุมชน บรรดาแกนนำก็มาคุยกันว่าเราจะทำอย่างไรที่จะช่วยเหลือชาวบ้านซึ่งประสบปัญหาหนี้สินจากการเอาเรือกสวนไร่นาไปจำนองกับนายทุน เราจึงได้ตั้งกองทุนเพื่อปลดเปลื้องหนี้สินของชาวบ้านขึ้น และมีการระดมทุนกันทุกๆ เดือนจากบรรดาแกนนำ และจากเงินของมัสยิด ได้จำนวนหนึ่งก็พยายามเอาไปช่วยเหลือชาวบ้านได้หลายราย เราก็มาคิดกันต่อว่าจะสามารถช่วยชาวบ้านให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพของเขาได้อย่างไร ในขณะเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐแนะนำว่าควรจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ซึ่งเราก็เห็นด้วย แต่กลุ่มออมทรัพย์นี้จะต้องปราศจากดอกเบี้ย เพราะตามหลักศาสนาอิสลาม ดอกเบี้ยถือว่าเป็นบาป เราจึงได้ศึกษาระบบและหลักการศาสนาอิสลาม เพื่อไม่ให้การบริหารงานขัดต่อหลักศาสนา จนกระทั่งเกิดกลุ่มออมทรัพย์บ้านบางโรงขึ้นในปี 2541 ชื่อว่า กลุ่มออมทรัพย์อัลอามานะฮ์ ซึ่งคำว่า อัลอามานะฮ์ นี้แปลว่าความไว้วางใจได้ โดยคณะกรรมการและสมาชิกจะต้องยึดมั่นในหลักศาสนา เพราะองค์กรหรือกลุ่มนี้เกิดขึ้นจากองค์กรมัสยิด ถ้าคุณโกงก็เท่ากับคุณโกงมัสยิด การโกงวัดโกงมัสยิดเป็นบาปมหันต์ ฉะนั้นในกลุ่มฯ จึงปราศจาก NPL และมีความไว้วางใจต่อกันระหว่างคณะกรรมการและสมาชิก กลุ่มออมทรัพย์นี้มีสมาชิกเมื่อแรกก่อตั้งประมาณ 30 กว่าคน ทุนก่อตั้งราว 27,000 บาท จนถึงปัจจุบันนี้เรามีสมาชิกกว่า 500 คน มีเงินทุนประมาณ 14 - 15 ล้านบาท โดยทางกลุ่มจะนำเงินทุนเหล่านี้ไปจัดสรรให้เกิดประโยชน์กับสมาชิก เช่น การซื้อขายสินค้าที่จำเป็นต่างๆ ของชาวบ้าน เช่นเครื่องมือหากิน รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่อเขาแจ้งความประสงค์มา ทางกลุ่มฯ สามารถไปซื้อสินค้าด้วยเงินสดจากร้านค้า แล้วมาขายให้สมาชิกโดยบวกกำไรเพียงเล็กน้อย ให้สมาชิกผ่อนในราคาถูกเพราะปราศจากดอกเบี้ย แทนที่จะผ่อนกับร้านค้าซึ่งราคาแพงกว่าเพราะต้องเสียดอกเบี้ย อีกส่วนหนึ่งคือการร่วมทุนกับสมาชิก หากสมาชิกนำโครงการมาเสนอกับทางกลุ่มฯ เราจะประเมินว่าโครงการไหนมีความเสี่ยงน้อยที่สุด เราก็จะให้การสนับสนุนสินเชื่อในการลงทุน ที่ผ่านมาทางกลุ่มฯ ได้ให้ความช่วยเหลือในโครงการต่างๆ เช่น โครงการเลี้ยงปลาในกระชัง โครงการเลี้ยงแพะ ถ้ากำไรก็กำไรด้วยกัน แต่ถ้าขาดทุนก็ขาดทุนด้วยกัน นอกจากนี้เรายังนำเงินของกลุ่มฯ ไปซื้อที่ดินที่เคยเป็นของชาวบ้านและติดจำนองกับนายทุน เพื่อมาจัดสรรให้ผู้ที่มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ให้เขาได้อยู่ในพื้นที่ ไม่ต้องออกไปอยู่ที่อื่น ดอกผลจากโครงการต่างๆ เหล่านี้ พอสิ้นปีเราก็จะมีการแบ่งกำไรให้สมาชิกทุกคนตามสัดส่วน และผลกำไรแต่ละปีส่วนหนึ่งเราจะตัดเพื่อเข้ากองทุนซะกาต ตามหลักศาสนาอิสลาม ผู้ที่มีเงินมีรายได้จำนวนหนึ่งแล้ว จะต้องบริจาคซะกาต ซึ่งสมาชิกจะมีความภาคภูมิใจมากที่ได้จ่ายซะกาตให้มัสยิด เราก็นำเงินซะกาตนี้ไปทำประโยชน์ เป็นกองทุนสวัสดิการช่วยเหลือญาติผู้เสียชีวิต กองทุนเพื่อการศึกษา กองทุนเพื่อสาธารณะประโยชน์ ปัจจุบันเรามีการรวมกลุ่ม มีโครงการต่างๆ ที่แตกย่อยออกมามากมาย ทั้งกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน เครือข่ายกลุ่มครู ขยายพื้นที่ไปในระดับตำบล เช่น กลุ่มมัสยิดสัมพันธ์ตำบลป่าคลอก กองทุนสวัสดิการตำบลวันละบาท กลุ่มพี่ช่วยน้องปกป้องภัย และได้กลายเป็นแผนชุมชนซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาแบบองค์รวม ก่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวบ้านในพื้นที่นี้”



ตลอดเวลา 8 – 9 ปีที่ผ่านมา เมื่อมองย้อนไปถึงจุดเริ่มต้น หากชายคนนี้ไม่มองเห็นปัญหาด้วยความห่วงกังวลต่ออนาคตของชุมชนบ้านเกิด หากแกนนำชาวบ้านไม่ลุกขึ้นมาเป็นแรงผลักดันให้เกิดการร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทิศทางของบ้านบางโรงจะเป็นเช่นไรคงยากจะคาดเดา แต่วันนี้ บ้านบางโรงนับเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่เข้มแข็งจนเป็นที่ยอมรับ มีผู้เดินทางมาขอศึกษาดูงานในโครงการต่างๆ มากมาย สำหรับความรู้สึกของชายผู้นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวันอันสวยงามแห่งบ้านบางโรงในวันนี้ เขากล่าวเพียงว่า

“สำหรับสิ่งต่างๆ ที่ได้ทำนั้น ผมมองว่าทั้งหมดผมทำเพื่อศาสนา ทำเพื่อพระผู้เป็นเจ้า เพราะศาสนาอิสลามจะเน้นในเรื่องของความเป็นส่วนรวม เน้นเรื่องของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะแผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินเกิด ส่วนหนึ่งคืออยากจะทดแทนแผ่นดินเกิด แผ่นดินบ้านเรา แผ่นดินจังหวัดภูเก็ต แผ่นดินประเทศไทย เราจะต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ถ้าเราเอาตัวรอดคนเดียวไม่ยุ่งเกี่ยวกับสังคม นั่นถือเป็นสิ่งที่เห็นแก่ตัว เป็นสิ่งที่สวนทางกับหลักศาสนา ในขณะที่เราเป็นมือบนแล้ว เราต้องพยายามช่วยเหลือมือล่างให้เขาพลิกมาเป็นมือบนให้ได้ ต้องช่วยฝึกอาชีพให้เขา สร้างแหล่งอาชีพให้เขา ให้ความรู้ ติดอาวุธทางปัญญาให้เขา จนหลายคนที่เคยเป็นมือล่างคอยรับมาตลอด ปัจจุบันเขาสามารถเป็นคนที่จ่ายซะกาตได้แล้ว นี่คือความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นในสิ่งที่เราได้ร่วมกันทำ และต้องยอมรับว่าที่นี่เราไม่ได้มีเฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้น เรามีพี่น้องชาวพุทธหลายสิบคนมาร่วมเป็นสมาชิกด้วย และอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข พี่น้องชาวพุทธก็สามารถรับหลักการของเราตรงนี้ได้โดยไม่มีปัญหาเลย ผมเชื่อว่าทุกศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี และหากเรามีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว



เราจะสามารถผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ ไปได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะกระแสทุนนิยมที่ถาโถมเข้ามา ถ้าเรายึดหลักศาสนา ยึดหลักความพอเพียงอย่างที่ในหลวงทรงตรัสเอาไว้ อย่าใช้เกินตัว อยู่แบบสมถะพอมีพอกินแล้ว เชื่อแน่ว่าเราจะฝ่าพ้นวิกฤติทุนที่ถาโถมเราไปได้แน่นอน นอกจากนี้ การรวมกลุ่มภายในชุมชนให้เข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราต่างคนต่างอยู่ เราสู้กระแสบริโภคนิยม สู้กระแสทุนไม่ได้แน่นอน เราต้องรวมกลุ่มกัน ร่วมทุนกัน ช่วยกันแก้ปัญหาวิกฤติของชุมชน ถ้าชุมชนเข้มแข็ง ใครจะเข้ามาบุกรุกก็ยาก ปัญหาอะไรเราก็ช่วยกันแก้ไขไปได้แน่นอน”



:: บทความนี้เคยถูกตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ทองหลังพระ" ของ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เมื่อเดือนมกราคม 2550 :: บทความ โดย ชุติมา กิตติธรกุล

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

Gostei muito desse post e seu blog é muito interessante, vou passar por aqui sempre =) Depois dá uma passada lá no meu site, que é sobre o CresceNet, espero que goste. O endereço dele é http://www.provedorcrescenet.com . Um abraço.

เรื่องดีๆ ล่าสุด