โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต สนับสนุนให้เกิดเรื่องราวดีๆ ขึ้นในชุมชน ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่น กิจกรรมสาธารณะ ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ และทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม รวมทั้งการส่งเสริมกาเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ให้กับเจ้าหน้าที่, การดูแลสุขภาพ และในบล็อก StoryDD แห่งนี้ ได้รวบรวมบทความในโครงการส่งเสริมนักเขียนท้องถิ่น ให้สร้างผลงานเขียนเชิดชูบุคคล หรือหน่วยงานที่ทำความดี ให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจกับผู้อ่าน เพื่อร่วมสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนต่อไป

๑๓ พ.ย. ๒๕๕๐

:: สร้างกุศล เพื่อกุศลธรรม


คุณเฉลิมเกียรติ อ่องเจริญ สร้างกุศล เพื่อกุศลธรรม

วี้หว่อ วี้หว่อ วี้หว่อ เสียงหวอดังเสียดเข้าไปถึงโสตประสาท พร้อมกับแสงสีแดงวิววับจากดวงไฟที่กระพริบถี่บ่งบอกถึงอัตราความเร่งรีบของรถกู้ชีพที่พุ่งทะยานไปข้างหน้าราวกับว่าเพียงเสี้ยววินาทีก็อาจช่วยดึงรั้งชีวิตที่ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างเป็น หรือตายได้... แน่นอน เสี้ยววินาทีมีค่าเสมอสำหรับนักกู้ชีพ โดยเฉพาะกับนักกู้ชีพในยานพาหนะที่เขียนข้างๆ รถว่ามูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต องค์กรสาธารณประโยชน์ที่ชาวภูเก็ตคุ้นเคย โดยเฉพาะในยามที่เกิดทุกข์ร้อนภัยร้ายใกล้ๆ ตัว

ประสบการณ์และภาพชินตาของการช่วยเหลือที่เฉียบพลันขันแข็งของหน่วยกู้ภัยมูลนิธิกุศลธรรมนี้เอง ทำให้เราสนใจที่จะติดตามการทำงานของพวกเขา ทองหลังพระฉบับนี้จึงขอพาคุณผู้อ่านไปสัมผัสกับการทำงานของคนกลุ่มนี้ ผ่านการพูดคุยกับ คุณเฉลิมเกียรติ อ่องเจริญ ประธานมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต คนปัจจุบัน ผู้เป็นดั่งหัวเรือใหญ่ในการทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานกู้ชีพ บรรเทาภัยให้ชาวภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียงได้อุ่นใจ

คุณเฉลิมเกียรติเริ่มต้นเล่าถึงการก่อตั้งมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ตว่า “มูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ตก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 โดยการรวมกลุ่มของชาวจีนแต้จิ๋วกลุ่มเล็กๆ ในจังหวัดภูเก็ต และหนึ่งในนั้นก็มี คุณมงคล อ่องเจริญ คุณพ่อของผมร่วมอยู่ด้วย และท่านก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานผู้ก่อตั้งมูลนิธิ การก่อตั้งมูลนิธินั้นก็สืบเนื่องมาจากการจัดงานล้างป่าช้ามหากุศลครั้งยิ่งใหญ่ของจังหวัดภูเก็ต เมื่อปลายปี 2518 เพื่อเก็บอัฐิศพไร้ญาติมารวบรวมฝังไว้ที่สุสานรวมมิตร เขารัง และประกอบพิธีทางศาสนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในครั้งนั้นจึงได้มีการรวมกลุ่มของชาวจีนแต้จิ๋วกลุ่มนี้ขึ้นเพื่อดำเนินการดังกล่าว และได้ร่วมกันก่อตั้งเป็นมูลนิธิกุศลธรรมในเวลาต่อมา และเนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีหน่วยงานไหนทำงานในลักษณะช่วยเหลือเก็บศพไร้ญาติ หรือศพที่เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุเลย ทางมูลนิธิจึงปวารณาตัวเพื่อเข้ามาทำหน้าที่นี้ โดยคนทำงานในสมัยนั้นจะเป็นผู้สูงอายุ วัย 50 – 60 ปี แทบทั้งสิ้น เวลามีผู้แจ้งเหตุเข้ามาก็จะใช้รถสองแถวเก่าๆ คันหนึ่งออกไปช่วยเก็บศพและดำเนินการฝังให้ ขณะนั้นมูลนินิธิยังไม่เป็นที่รู้จักของชาวภูเก็ตเท่าไหร่นัก ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นศาลเจ้าของชาวแต้จิ๋ว เป็นสมาคมชาวแต้จิ๋ว แต่แท้จริงแล้วมูลนิธิตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นองค์กรที่ทำประโยชน์เพื่อสังคมชาวภูเก็ตโดยรวมไม่ได้แบ่งแยกกลุ่มใดๆ และได้ดำเนินการสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลากว่า 30 ปี”



สำหรับคุณเฉลิมเกียรติเองนั้นก็เรียกได้ว่าทำงานคลุกคลีกับมูลนิธิมาตั้งแต่ยุคก่อตั้ง มีโอกาสได้ติดตามคุณพ่อ มาช่วยเหลืองาน แม้ช่วงระยะเวลานั้นจะไม่ได้ช่วยเต็มตัวอย่างเช่นทุกวันนี้ก็ตาม เนื่องจากต้องดูแลรับผิดชอบครอบครัวและธุรกิจส่วนตัว “ผมเองเป็นชาวภูเก็ตแม้จะไม่ใช่โดยกำเนิดเนื่องจากเกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ก็ได้ติดตามคุณพ่อคุณแม่ซึ่งย้ายมาตั้งรกรากที่จังหวัดภูเก็ตตั้งแต่เด็กๆ ได้เรียนหนังสือและเติบโตลงหลักปักฐานที่นี่จนปัจจุบัน สำหรับการเข้ามาช่วยเหลืองานของมูลนิธิกุศลธรรมนั้น ในช่วงก่อตั้งผมได้ติดตามคุณพ่อมาช่วยเหลืองานบ้าง แต่เนื่องจากในช่วงนั้นยังอยู่ในวัยทำงาน มีภาระหน้าที่ต้องดูแลครอบครัวและกิจการส่วนตัว ทำให้ยังไม่ได้เข้ามาช่วยเหลืองานของมูลนิธิอย่างเต็มตัว แต่ทุกวันนี้ ลูกๆ เติบโตกันหมดแล้ว สามารถเข้ามาช่วยเหลือกิจการซึ่งผมเปิดร้านขายจักรยาน ชื่อร้านยอดวิทย์จักรยาน อยู่ที่สี่แยกหยี่เต้งคอมเพล็กซ์ ผมจึงมีเวลาทุ่มเททำงานให้มูลนิธิอย่างเต็มที่ แต่ที่ผ่านมาผมก็ได้ติดตามองค์ฮ้อเอี้ยฮุ้นฮุดโจ้ว ทำงานช่วยเหลือมูลนิธิกุศลธรรมมาโดยตลอด”

องค์ฮ้อเอี้ยฮุ้นฮุดโจ้ว ที่คุณเฉลิมเกียรติกล่าวถึงนั้น ก็คือองค์พระโพธิสัตว์ที่มุ่งแสวงบุญโดยการโปรดวิญญาณ ช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก นำดวงวิญญาณที่ตกทุกข์ได้ยากไปสู่สรวงสวรรค์เพื่อให้เขาพ้นทุกข์ และนับเป็นองค์เทพประจำสำนักหรือมูลนิธิแห่งนี้ และจากศรัทธาในแนวทางอันประเสริฐขององค์ฮ้อเอี้ยฮุ้นฮุดโจ้วนี้เอง มูลนิธิจึงได้ยึดถือแนวทางของท่านในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ช่วยส่งวิญญาณผู้ยากไร้ไปสู่สุคติ เป็นหลักในการทำงานเรื่อยมา และมีวัตถุประสงค์ในการทำงานที่แน่วแน่ว่า “วัตถุประสงค์ของมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ตนั้นมีสั้นๆ เพียง 3 ข้อ ข้อหนึ่งคือ จัดตั้งฌาปนสถาน หรือสุสานเพื่อฝังศพไร้ญาติ โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา และไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ข้อสองคือ ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก และผู้ประสบภัยพิบัติทุกประเภท และข้อสามคือ ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์สุขของสังคม โดยเฉพาะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

คุณเฉลิมเกียรติได้ชี้แจงเพิ่มเติมในรายละเอียดของวัตถุประสงค์แต่ละข้อ ที่นำมาซึ่งกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ตต่างๆ มากมายว่า “สำหรับวัตถุประสงค์ข้อที่หนึ่ง มูลนิธิมีความมุ่งหวังที่จะก่อตั้งสถานที่ฝังศพ หรือสุสานเพื่อฝังศพไร้ญาติ เพราะตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่มูลนิธิดำเนินงานมายังไม่มีสถานที่ฝังศพเป็นหลักแหล่งเลย ที่ผ่านมาหลายครั้งเราได้พยายามจัดหาที่ดินเพื่อใช้เป็นที่ฝังศพ บางแห่งมูลนิธิได้เสียงบประมาณดำเนินการไปแล้วกว่า 6 – 7 แสนบาท แต่ก็ต้องล้มเลิกไปเนื่องจากชุมชนละแวกใกล้เคียงไม่เห็นด้วย จึงยังไม่สามารถจัดหาที่ดินได้ แต่ ณ ปัจจุบันทางจังหวัดได้อนุเคราะห์ที่ดินบริเวณศูนย์พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล หรือสุสานไม้ขาวให้มูลนิธิสามารถเข้าไปใช้พื้นที่ฝังศพไร้ญาติได้ แต่ยังติดขัดอยู่ที่องค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาวยังไม่ให้ความเห็นชอบ จึงยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป สำหรับสุสานนั้นก็มีความจำเป็นเนื่องจากในกรณีที่มีการพบศพไร้ญาติที่เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ เราจะไม่สามารถเผาทำลายศพได้ แต่จะต้องเก็บศพเอาไว้รอการชันสูตร รอญาติมารับ หรือรอการดำเนินคดี ระหว่างนี้ศพจะต้องถูกพักไว้ที่โรงพยาบาล บางครั้งเป็นเวลานานๆ ก็เป็นภาระของทางโรงพยาบาล หรือบางครั้งตำรวจแจ้งให้ทางมูลนิธินำศพไปฝัง โดยไม่สามารถระบุได้ว่าให้ไปฝังที่ไหน ทางมูลนิธินั้นมีความยินดีที่จะดำเนินการให้ เพราะพร้อมช่วยเหลือทั้งแรงคนและอุปกรณ์ต่างๆ โดยทางตำรวจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในจุดนี้เลย แต่เนื่องจากติดขัดเรื่องสถานที่ที่จะนำศพไปฝัง บางครั้งเราจึงไม่สามารถดำเนินการได้ จึงเป็นปัญหาที่ทางมูลนิธิต้องการให้ผู้รับผิดชอบโดยตรง โปรดเล็งเห็นปัญหาและให้ความร่วมมือในการแก้ไข”



สำหรับวัตถุประสงค์ข้อที่สอง คือช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก และผู้ประสบภัยพิบัติทุกประเภทนั้น คุณเฉลิมเกียรติขยายความว่า “คำว่าผู้ตกทุกข์ได้ยากสำหรับเรานั้น มีความหมายที่กว้างและครอบคลุมถึงผู้ยากไร้ ผู้ขัดสน ผู้ประสบภัย ประสบเหตุเดือดร้อนต่างๆ และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทุกๆ กรณี ทุกวันนี้มีผู้ยากไร้หรือขัดสนเข้ามาขอรับการช่วยเหลือจากมูลนิธิมากมาย ซึ่งมูลนิธิก็ได้ให้ความช่วยเหลือไป เช่น ช่วยเหลือนำส่งผู้ป่วยเอดส์ไปที่สถานพักฟื้นจังหวัดชุมพร, ส่งผู้ป่วยโรคจิตไปรักษาที่จังหวัดสุราษฎร์ฯ, ส่งผู้ป่วยยากไร้ไปรักษาที่ มอ.หาดใหญ่, นำส่งศพไปชันสูตรที่สถาบันนิติเวช กรมตำรวจ หรือผู้ที่มาทำงานที่จังหวัดภูเก็ต แล้วต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่ขัดสนเงินทองมูลนิธิก็ช่วยเหลือเงินค่าเดินทางให้ โดยท่านสามารถมาเขียนคำร้องขอความอนุเคราะห์จากมูลนิธิได้

นอกจากนี้ ในกรณีของการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัยบนท้องถนนนั้นก็นับเป็นหน้าที่หลักของมูลนิธิ ซึ่งเราดูแลอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ปัจจุบันมูลนิธิมีรถพยาบาล และรถกู้ชีพ รวม 10 คัน รถของอาสาสมัครอีกราว 10 คัน มีอุปกรณ์พร้อม ทั้งอุปกรณ์ช่วยชีวิต เครื่องตัดถ่าง เครื่องดับเพลิง เรือยางและชุดประดาน้ำ พร้อมให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นภัยทางบกหรือภัยทางน้ำ มีศูนย์กู้ชีพกระจายอยู่ 3 จุดในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอถลาง และอำเภอกะทู้ รวมทั้งในแหล่งท่องเที่ยวคือหาดป่าตองเราก็มีหน่วยงานย่อยอยู่ที่นั่น โดยการร่วมมือกับโรงพยาบาลป่าตอง พร้อมให้การช่วยเหลือทันทีที่ได้รับแจ้งเหตุ เจ้าหน้าที่จะไปถึงที่เกิดเหตุภายใน 10 นาที เพียงโทรมาที่สายด่วนของมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต หมายเลขโทรศัพท์ 0 7624 6301 หมายเลขเดียวทุกพื้นที่ โดยนอกจากแจ้งอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว หากท่านเกิดเหตุขัดข้องต้องการความช่วยเหลือ เช่น รถเสียกลางทาง ยางรถแตก หรือน้ำมันหมดกลางค่ำกลางคืน ไปจนถึงท่อประปาแตก สัตว์เลื้อยคลานเข้าบ้าน ไฟฟ้าช้อต ท่านก็สามารถโทรมาที่สายด่วนของมูลนิธิตามหมายเลขดังกล่าวได้ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิจะไปให้ความช่วยเหลือท่านเต็มความสามารถ หรือหากเป็นกรณีที่นอกเหนือจากกำลังของเรา เราก็จะประสานงานให้หน่วยงานที่สามารถช่วยเหลือได้เข้าไปให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว”



และการช่วยเหลือทั้งการกู้ชีพและบรรเทาภัยอย่างรวดเร็วดังกล่าวนี้ แน่นอนว่าต้องอาศัยการทำงานอย่างแข็งขันของทีมเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครที่สละเวลาส่วนตัวมาช่วยเหลือทำงานเพื่อส่วนรวม “การทำงานของมูลนิธิกุศลธรรมขับเคลื่อนไปได้ด้วยกำลังความคิดและกำลังแรงของบุคลากร ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ อาสาสมัครบริหาร ซึ่งก็คือคณะกรรมการบริหารมูลนิธิทุกท่าน และอาสาสมัครบริการ คือเจ้าหน้าที่กู้ภัยทั้งหมดราว 100 กว่าคน โดยอาสาสมัครบริการนั้นก็ยังแบ่งเป็น 2 ประเภท คือประเภทที่รับค่าตอบแทน กับประเภทที่ไม่รับค่าตอบแทน สำหรับอาสาสมัครที่รับค่าตอบแทนนั้นก็ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ มีจำนวนประมาณ 45 คน ซึ่งรับเงินเดือนพอสมควรไม่ได้มากมาย แต่เรามีสวัสดิการ มีที่พัก มีการประกันอุบัติเหตุ และดูแลเรื่องการเจ็บป่วยให้ การทำงานจะแบ่งเป็นกะ กะละ 8 ชั่วโมงหมุนเวียนกันไปในทุกศูนย์กู้ชีพ แต่ละคนจะมีวันหยุดสัปดาห์ละ 1 วัน ส่วนอาสาสมัครที่ไม่รับค่าตอบแทนนั้น ก็มีอยู่ประมาณ 70 กว่าคน เป็นบุคคลทั่วไป ที่อาสาสละเวลาส่วนตัว อาจจะเป็นเวลาหลังเลิกงานประจำมาช่วยเหลืองานของมูลนิธิอย่างสม่ำเสมอ บางท่านสละทุนทรัพย์ส่วนตัว เช่นรถยนต์ เพื่อช่วยเหลืองานของมูลนิธิโดยที่ไม่คิดค่าใช้จ่าย ซ้ำยังเติมน้ำมันเองอีกด้วย นับเป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญในน้ำใจและคุณธรรมของอาสาสมัครเหล่านี้อย่างยิ่ง โดยผู้ที่สนใจเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิสามารถมาสมัครได้ เมื่อผ่านการทดสอบแล้ว เราก็จะออกบัตรอาสาสมัครให้ โดยอาสาสมัครของมูลนิธิทุกท่านจะได้รับการอบรมเรื่องการช่วยชีวิต การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลต่างๆ มาให้ความรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกไปทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างถูกต้องปลอดภัย ด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ขณะนี้ถือว่าเพียงพอต่อการให้การช่วยเหลือกรณีที่เกิดภัยพิบัติเล็กๆ ไปจนถึงภัยพิบัติใหญ่ เราสามารถระดมเจ้าหน้าที่ได้พร้อมทันทีภายในครึ่งชั่วโมง เพราะทุกคนจะคอยติดตามฟังข่าวทางวิทยุสื่อสารอยู่แล้ว หากเกิดเหตุขึ้นแต่ละคนจะรู้ตัวว่าต้องมุ่งไปที่เกิดเหตุเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก อย่างเกิดเพลิงไหม้ เกิดคลื่นยักษ์ ดินถล่ม ที่ต้องการระดมคน หากเราเป็นนักกู้ภัยจะนอนฟังเฉยอยู่ไม่ได้ จะต้องรีบออกไปช่วยเหลือทันที แม้กระทั่งผมเองเมื่อได้ทราบเหตุอย่างนี้ แม้ว่าจะเป็นเวลาพักผ่อนก็จะต้องรีบตื่นขึ้นมาแล้วออกไปช่วย นี่คือจิตวิญญาณของนักกู้ชีพทุกคน”

นอกจากความตั้งใจในการทำงานของบุคลากรทุกท่าน ที่ยินดีจะอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือทำประโยชน์ให้สังคมแล้ว สิ่งหนึ่งที่จรรโลงให้มูลนิธิสามารถดำรงอยู่เพื่อสร้างสิ่งดีๆ เหล่านี้ได้ ก็คือสังคมที่ยังโอบอุ้มและให้การสนับสนุนแก่มูลนิธินั่นเอง “งบประมาณในการดำเนินการทั้งหมดนั้นเป็นเงินที่ประชาชนได้มาบริจาคให้มูลนิธิทั้งสิ้น เราไม่มีนโยบายออกไปเรี่ยไรเงินตามบ้าน และขอให้ประชาชนที่มีจิตศรัทธาโปรดมาบริจาคเงินด้วยตัวท่านเองที่มูลนิธิ แล้วเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ทุกท่านได้มาบริจาคมาจะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคม ทั้งในกิจกรรมต่างๆ ที่ได้กล่าวไปแล้ว รวมทั้งการบริจาคทาน บริจาคข้าวสารให้แก่โครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนต่างๆ 36 โรงเรียน เป็นประจำทุกปี และส่วนหนึ่งเป็นเงินสะสมที่จะจัดสรรเพื่อนำมาใช้ในการทำนุบำรงสถานที่ของมูลนิธิ เช่นก่อสร้างอาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารองค์กรสาธารณประโยชน์ของมูลนิธิที่เพิ่งทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา เพื่อให้สังคมได้เข้ามาใช้ประโยชน์ ทั้งเป็นสถานที่จัดพิธีศพ เป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ และเป็นที่พักให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพียงทำหนังสือขอใช้อย่างเป็นทางการมายังมูลนิธิเท่านั้น สำหรับการบริหารจัดการเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ประชาชนบริจาคมานั้น มูลนิธิมีระบบบัญชีที่ชัดเจนดูแลโดยสำนักงานบัญชี มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีนำเข้าธนาคารทุกวัน และการเบิกจ่ายเงินก็จะต้องมีการเบิกจ่าย 2 ใน 4 โดยผู้ที่มีอำนาจสั่งจ่ายได้ก็คือประธาน รองประธาน เหรัญญิก และรองเหรัญญิก และจะมีการแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายของมูลนิธิทุกๆ เดือนในการประชุมสามัญประจำเดือน โดยคระกรรมการพยายามนำเงินเหล่านั้นไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เพราะเมื่อประชาชนได้บริจาคเงินมาแล้ว ก็ย่อมต้องจับตามองว่ามูลนิธิจะนำเงินเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง และเชื่อว่าด้วยความจริงจังตั้งใจจริงในการทำงาน กับผลงานที่เด่นชัดของมูลนิธิ ก็คงสามารถสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนให้เกิดขึ้นตามมานั่นเอง”

สำหรับหัวเรือใหญ่อย่างคุณเฉลิมเกียรติ หนึ่งในอาสาสมัครผู้ทุ่มเทอย่างเต็มกำลังทั้งใจกาย สละเวลามาช่วยเหลืองานของมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต ท่านมีเหตุผลในการกระโดดลงมาช่วยเหลืองานเพื่อสังคมนี้ว่า “ผมเชื่อในเรื่องกรรม และยึดถือเรื่องบุญบาปว่าเราควรจะสร้างอานิสงส์ผลบุญในชาตินี้เอาไว้ให้มาก เพื่อในชาติภพหน้าเราจะได้เกิดในภพภูมิที่ดีกว่า และผมอยากจะเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ อยากจะหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก เพราะเมื่อเราได้เป็นผู้ให้แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความสบายใจและภาคภูมิใจว่าเมื่อเขาเดือดร้อนแล้วเขานึกถึงเรา ทุกครั้งที่ผมได้ออกไปช่วยผู้ประสบภัยผมกลับบ้านไปก็นอนหลับสบาย มีความอิ่มอกอิ่มใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การให้ของผม ผมให้ตามอัตภาพ ให้เต็มกำลังความสามารถที่จะให้ได้ บางคนถามผมว่ามาทำงานให้มูลนิธิอย่างนี้ได้ค่าตอบแทนเยอะใช่ไหม ผมก็ได้แต่ตอบไปว่าผมได้นะ องค์ฮ้อเอี้ยฮุ้นฮุดโจ้วให้ผมไว้เยอะ แต่ผมฝากท่านไว้ข้างบน ยังไม่ได้ไปเบิก เพราะยังไม่ถึงเวลาจะไปเบิก แต่สักวันหนึ่งที่ผมจะต้องไปพบท่าน ก็คงได้ใช้ในสิ่งที่ได้สร้างได้ทำมานั้นเอง”



:: บทความนี้เคยถูกตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ทองหลังพระ" ของ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เมื่อเดือนมกราคม 2550 :: บทความ โดย ชุติมา กิตติธรกุล

ไม่มีความคิดเห็น:

เรื่องดีๆ ล่าสุด