โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต สนับสนุนให้เกิดเรื่องราวดีๆ ขึ้นในชุมชน ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่น กิจกรรมสาธารณะ ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ และทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม รวมทั้งการส่งเสริมกาเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ให้กับเจ้าหน้าที่, การดูแลสุขภาพ และในบล็อก StoryDD แห่งนี้ ได้รวบรวมบทความในโครงการส่งเสริมนักเขียนท้องถิ่น ให้สร้างผลงานเขียนเชิดชูบุคคล หรือหน่วยงานที่ทำความดี ให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจกับผู้อ่าน เพื่อร่วมสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนต่อไป

๒๐ ก.พ. ๒๕๕๑

:: อาจารย์พรพักตรา ไชยเศรษฐ


อาจารย์พรพักตรา ไชยเศรษฐ

“เด็กไทยอ่านหนังสือไม่ออก” “คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละไม่ถึง 10 บรรทัด” ข้อมูลข่าวสารจากงานวิจัยเหล่านี้สร้างความรู้สึกอย่างไรกับคุณผู้อ่านบ้าง แต่สำหรับผู้เขียนซึ่งทำงานกับตัวหนังสือ สื่อสารด้วยงานเขียนไปสู่ผู้อ่านที่รักเป็นประจำอยู่ทุกสัปดาห์เช่นนี้ แน่นอนว่ารู้สึกตกใจและกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง กับข่าวสารข้างต้น

ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ คนไทยอ่านหนังสือกันน้อยลงจริงๆ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน อาจเป็นเพราะวิวัฒนาการของสื่อนานาชนิด ที่วูบวับวิบไหว ล่อตาล่อใจกว่าตัวหนังสือนิ่งๆ บนแผ่นกระดาษกระมัง ทองหลังพระประจำสัปดาห์นี้ ผู้เขียนจึงอยากชวนคุณผู้อ่านไปพูดคุยผ่านตัวอักษรกับผู้ที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับการใช้ภาษา ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน เพราะเธอเป็นทั้งอาจารย์ นักจัดรายการวิทยุ นักเขียน พิธีกร และเธอยังเป็นหนึ่งในกลุ่มคนทำงานเพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนหันมาสนใจและรักการอ่าน ในโครงการรักการอ่าน โดยโปรแกรมวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เธอคือ อาจารย์พรพักตรา ไชยเศรษฐ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ผู้ยืนยันได้ว่าการอ่านให้ประสบการณ์ชีวิต และแนวคิดที่เฉียบคมจริงๆ

เรารู้จักอาจารย์พรพักตราเบื้องต้นก็จากการอ่าน ข้อมูลของเธอหาไม่ยากในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เธอเป็นสาวชาวกรุง จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากคณะครุศาสตร์ วิชาเอกภาษาไทย วิชาโทประวัติศาสตร์ จากวิทยาลัยครูสวนสุนันทา จบการศึกษาระดับปริญญาโท จากคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์สังกัดภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์เเละสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูภูเก็ต ครั้งแรกในปี พ.ศ.2536 โดยสอบเเข่งขันจากกรมการฝึกหัดครู ได้เป็นลำดับที่ 1 จากจำนวนผู้สอบกว่า 1,000 คนทั่วประเทศ ด้วยวัยต้น 20 ในวันนั้น ครูจบใหม่คนนี้จึงต้องย้ายมาเริ่มชีวิตการทำงานอยู่ที่เกาะไกลบ้านจนถึงปัจจุบัน

สำหรับจุดเริ่มต้นของเส้นทางอาชีพครูนั้น อาจารย์พรพักตราถ่ายทอดเรื่องราวด้วยตัวเธอเองว่า “ถ้าถามว่าทำไมจึงเลือกเรียนครู อาจจะเป็นการถ่ายทอดทางสายเลือดก็เป็นได้ค่ะ เพราะคุณพ่อคุณแม่เองก็เป็นครู คุณพ่อเป็นครูสอนภาษาไทย จึงได้ปลูกฝังลูกๆ ให้รักการอ่าน และสนใจภาษาไทย ที่บ้านจะมีหนังสือเยอะมาก ทั้งหนังสือนิทาน วรรณคดี นิตยสารต่างๆ ตอนเด็กๆ ก็จะชอบอ่านหนังสือนิทานบ้าง วรรณคดีบ้าง อย่างวรรณคดีไทย ครูว่ามีส่วนเสริมสร้างจินตนาการให้เด็กมากเลยนะคะ เสียดายที่ปัจจุบันเราการเรียนวรรณคดีไทยกันน้อยลง นอกจากนี้ตอนเด็กๆ ครูจะชอบท่องกลอนทำนองเสนาะ พอโตขึ้นมาหน่อยก็อ่านพวกนวนิยายบ้าง แล้วคุณพ่อก็จะมีกิจกรรมสนับสนุนให้เรารักการอ่าน และยังได้ฝึกการพูดด้วย โดยท่านจะเขียนบทให้อ่านโต้ตอบกันเหมือนจัดรายการ แล้วอัดเสียงเอาไว้ บทที่เขียนก็นำมาจากวรรณคดีต่างๆ ที่จำได้เลยคือเรื่องอิเหนา ตอนนั้นอยู่ ป.3 วิธีนี้ก็ทำให้เราได้ท่องได้จดจำโคลงกลอนต่างๆ พอมาเปิดฟังก็ได้รู้ว่าตรงนี้เรายังพูดไม่ชัดนะ พูดช้าไปเร็วไปนะ ต้องแก้ไข ได้ฝึกเรื่องการออกเสียง การเว้นวรรคตอน ได้ความสนุกสนาน ได้ซึมซับความงดงามของการใช้ภาษา ทำให้จิตใจเราละเมียดละไม และเป็นการปลูกฝังให้เรารักการอ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้ครูก็จะอ่านหนังสือทุกวัน และอ่านหนังสือทุกแนวไม่จำกัด ไม่ใช่ว่าเป็นครูแล้วจะต้องอ่านแต่หนังสือวิชาการ อย่างหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารดารากอสซิปครูก็อ่าน การที่เราเป็นคนรักการอ่านแบบนี้ ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเพราะการปลูกฝังของคุณพ่อคุณแม่ ทำให้เราได้นำประโยชน์มาใช้ในการทำงาน ทั้งงานเขียน งานจัดรายการวิทยุ และที่สำคัญที่สุด คืองานสอนนั่นเอง”



สำหรับงานสอนของอาจารย์พรพักตรา ถ้าให้จินตนาการถึง “ครูภาษาไทย” หลายๆ คนคงนึกถึงครูสวมแว่นหนาเตอะ เซตทรงผมเรียบกริบ แต่งกายด้วยชุดผ้าไทย เจ้าระเบียบเรียบร้อย และพร้อมจะลงโทษเสมอเมื่อนักเรียนพูดไม่ชัด อ่านออกเสียงไม่ถูก แต่สำหรับอาจารย์พรพักตรา “ครูภาษาไทย” ท่านนี้ แทบไม่มีภาพของครูภาษาไทยที่หลายๆ คนเคยยึดติดเลยทีเดียว และไม่ใช่เฉพาะรูปลักษณ์ของเธอเท่านั้น หากแต่แนวการสอนของอาจารย์พรพักตราก็น่าสนใจเช่นกัน “ตั้งแต่เด็กๆ พอเจอครูภาษาไทยส่วนใหญ่จะต้องเรียบร้อย แล้วก็ดุๆ ชอบมองลอดแว่น ต้องพูดให้ชัด พูดผิดไม่ได้ แต่ในทัศนะของครูคิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น บางทีตรงนี้อาจเป็นจุดบอดของภาษาไทย ทำให้เด็กไม่อยากเรียนและรู้สึกว่าเป็นวิชาที่น่าเบื่อ อย่างเปรียบเทียบกับภาษาอังกฤษ ทำไมครูภาษาอังกฤษดูทันสมัย ทำไมเรียนภาษาอังกฤษแล้วเด็กรู้สึกสนุก แล้วก็รู้สึกว่าภาษาอังกฤษสามารถประยุกต์ให้เข้ากับชีวิตประจำวันได้ แล้วทำไมภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาของเราเองกลับไม่มีเสน่ห์ ครูจึงคิดว่าเราซึ่งเป็นผู้สอนต้องสร้างเสน่ห์ โดยเริ่มจากตัวเราก่อน ต้องทำตัวเองให้ร่าเริงแจ่มใส ต้องไม่เชย ต้องมีความอ่อนเยาว์ในหัวใจ แม้เวลาจะผ่านไปกี่ปีก็ตาม ต้องทำให้นักศึกษารู้สึกว่าเราเป็นเพื่อน อะไรที่วัยรุ่นเขารู้เราต้องรู้ เขาสนใจเรื่องอะไรเราต้องทันเขา จะได้พูดคุยภาษาเดียวกันได้ แล้วจึงค่อยสอดแทรกเนื้อหาสาระในการเรียนเข้าไป ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเพลงเดี๋ยวนี้เค้าฮิตเพลงอะไรกัน เค้าร้องกันยังไง ข่าวกอสซิปดารานี่เขาเขียนว่ายังไงนะ ใช้ภาษายังไง อ๋อมันแปลว่าอย่างนี้นี่เอง แต่เอ๊ะ ถ้าเราจะเปลี่ยนเป็นภาษาดีๆ นักศึกษาลองช่วยกันคิดซิว่ามันน่าจะเป็นภาษาอะไร แล้วเขาก็จะรู้สึกว่าอาจารย์เป็นเพื่อน เราอย่าไปปิดกั้น เพราะเด็กทุกวันนี้เขาคิดเอง เขามีอะไรเยอะแยะเลยที่อยากจะมาแลกเปลี่ยนกับเรา แล้วถ้าเขามาเจอภาพครูดุๆ แบบนั้นเขาก็จะไม่กล้า แล้วที่สำคัญเราต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ได้ อย่างเรื่องการพูด เราต้องพูดจาให้ชัดเจน เป็นตัวอย่างให้เขา ไม่จำเป็นต้องเอาภาพลักษณ์ที่น่ากลัวน่าเกรงขามไปข่ม พอเขากลัวแล้วจะเกิดความเซ็ง และเบื่อภาษาไทยในที่สุด ครูเชื่อว่าถ้านักศึกษาประทับใจในครูผู้สอน เขาก็จะเปิดรับและประทับใจกับเนื้อหาวิชาที่เรียนเช่นกัน” นั่นคือบทบาทการเป็นผู้สอนในโปรแกรมวิชาภาษาไทย ของอาจารย์พรพักตรา

และบทบาทหน้าที่ของอาจารย์ทุกท่านในโปรแกรมวิชาภาษาไทย และของอาจารย์พรพักตรานั้น ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพียงในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น หากแต่บุคลากรทุกท่าน รวมทั้งนักศึกษาของโปรแกรมฯ ได้มีบทบาทในการเชื่อมโยงส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยให้กับสังคมภายนอก เกิดเป็นโครงการ และกิจกรรมดีๆ อย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในนั้นที่เราให้ความสนใจ คือ โครงการรักการอ่าน อาจารย์พรพักตรา หนึ่งในสมาชิกโปรแกรมวิชาภาษาไทยซึ่งเป็นผู้จัดกิจกรรมนี้ เป็นตัวแทนบอกเล่ารายละเอียดโครงการว่า “โครงการรักการอ่านเป็นโครงการของโปรแกรมวิชาภาษาไทย เนื่องจากอาจารย์ทุกคนในโปรแกรมฯ เล็งเห็นถึงปัญหา ว่าทุกวันนี้เด็กไทยอ่านหนังสือน้อยลง คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีหนึ่งไม่ถึง 10 บรรทัด เป็นข้อมูลจากการวิจัยที่น่าเป็นห่วง ทางโปรแกรมฯ จึงเห็นว่าเป็นวิกฤติแล้ว ถ้าคนไทยไม่อ่านหนังสือ แล้วคนไทยใช้เวลาไปทำอะไร ก็ทั้งชมโทรทัศน์ เล่นอินเตอร์เน็ต เล่นเกมส์โดยเฉพาะในเด็ก แน่นอนว่าช่องทางเหล่านั้นก็สามารถให้ความรู้ได้เหมือนกัน แต่การอ่านนั้น มีคุณูปการ และมีคุณประโยชน์มากมาย ทั้งเป็นการฝึกความคิด ฝึกการใช้ภาษา เพราะเวลาเราอ่านหนังสือ สมองต้องทำงาน ต้องคิดวิเคราะห์ และจดจำเอาไว้ เป็นกระบวนการกลั่นกรองและซึมซับ อีกทั้งการอ่านเป็นการรับรู้ผ่านตัวหนังสือที่เรียงร้อยกัน ผู้อ่านจะต้องใช้จินตนาการสร้างภาพขึ้นเองในสมอง ไม่มีภาพสำเร็จให้อย่างในจอโทรทัศน์หรือจอคอมพิวเตอร์ นั่นเป็นการฝึกจินตนาการ ฝึกสมองที่ดีเยี่ยมเลย ทีนี้เมื่อเกิดปัญหาว่าปัจจุบันเด็กไทยอ่านหนังสือกันน้อยลงมาก ทางโปรแกรมฯ จึงมาช่วยกันคิดหาสาเหตุ และช่วยกันผลักดันโครงการที่จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนหันมารักการอ่านผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ โครงการรักการอ่านจึงเกิดขึ้นเมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา โดยเราได้จัดไปแล้ว 2 รุ่น รุ่นแรกจัดขึ้นราวเดือนเมษายน ที่ราชภัฏฯ โดยเชิญน้องๆ มัธยมต้นจากโรงเรียนต่างๆ มาเข้าร่วมกิจกรรม ส่วนรุ่นที่สองเราออนทัวร์ ออกไปจัดกิจกรรมให้น้องๆ ชั้น ป.4 – ป.6 ที่โรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยจัดเป็นลักษณะกิจกรรมวอล์คแรลลี่ ให้น้องๆ ไปตามฐานต่างๆ ซึ่งเราจะให้ความรู้ในแต่ละเรื่อง เช่น การค้นพจนานุกรม หาความหมายของศัพท์ การต่อสำนวนไทย การใบ้คำจากวรรณคดี ชวนน้องอ่านหนังสือ โดยจะมีอาจารย์ของโปรแกรมฯ เป็นวิทยากรในแต่ละฐาน และมีนักศึกษาในโปรแกรมฯ ราว 60 คน ไปคอยช่วยกันดูแลน้องๆ อย่างของครูเองครูดูแลฐานชวนน้องอ่านหนังสือ เป็นฐานแรกๆ ของกิจกรรม เราก็จะมีการเล่นเกมส์ ดูว่าเขาอ่านหนังสืออะไรกันบ้าง แยกประเภทหนังสือได้ไหม แล้วก็ฝึกการอ่านเร็ว อ่านจับใจความ เน้นความสนุกสนาน ไม่ให้เด็กๆ เรียกอาจารย์พรพักตรา แต่ให้เรียกว่า พี่พอลล่า จะได้ดูสนิทสนมกัน บรรยากาศสนุกสนานมาก หลังจากนั้น เขาก็จะไปเข้าฐานอื่นๆ กันต่อไป



สำหรับผลที่ได้รับจาก 2 โครงการที่จัดไปนั้น ก็นับว่าประสบความสำเร็จอย่างดี ถึงแม้ว่าเรื่องการอ่าน อาจจะวัดผลไม่ได้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่ที่เห็นได้ชัดเลยคือเด็กๆ เขาสนุกสนาน ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมต่างๆ เป็นอย่างดี กล้าแสดงออก และเด็กๆ ได้เห็นตัวอย่างจากเพื่อนบางคนที่อ่านหนังสือ แล้วมีความรู้มาตอบคำถามได้ เขาก็รู้สึกทึ่ง และเป็นแรงจูงใจให้เขาอยากอ่านหนังสือบ้าง สำหรับโครงการต่อไปนั้นเรายังไม่มีข้อสรุปว่าจะไปจัดที่ไหน แต่หากโรงเรียนใดสนใจก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่โปรแกรมวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จะให้เราไปจัดกิจกรรมที่โรงเรียน หรือจะส่งเด็กๆ มาที่ราชภัฏตอนปิดเทอม เราก็ยินดีค่ะ สิ่งเหล่านี้ต้องค่อยๆ ปลูกฝังกันไป จะให้เกิดผลจากการจัดกิจกรรมแค่เพียง 2 – 3 วัน คงไม่ได้ แต่อย่างน้อยกิจกรรมที่เราเข้าไปทำนี้ ก็อาจจะช่วยสะกิดให้เขาตื่นตัวขึ้น ได้รู้จักพจนานุกรม รู้จักหนังสือวรรณคดีต่างๆ ที่เขาอาจจะไม่เคยรู้จักมาก่อน หลังจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ รวมทั้งคุณครูจะต้องช่วยกันพัฒนาต่อ ช่วยกันปลูกฝัง และสร้างสิ่งแวดล้อมในการอ่านให้แก่เด็ก คุณพ่อคุณแม่เองก็เช่นกัน ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากจะจัดค่ายให้คุณพ่อคุณแม่รักการอ่านด้วย ผู้ใหญ่ก็ต้องรักการอ่านนะคะ ไม่ใช่ว่าเป็นผู้ใหญ่ อายุมากแล้วก็เลิกอ่านหนังสือ ไม่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ เด็กๆ เขากลับบ้านไปก็ไม่มีต้นแบบ คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นต้นแบบให้ลูก อย่างที่คุณพ่อครูเป็นต้นแบบให้ครู ปัจจุบันนี้ท่านอายุ 77 ปีแล้ว แต่ยังอ่านหนังสือทุกวัน อ่านหนังสือพิมพ์วันละ 3 ฉบับ ยังเขียนกลอน เขียนเรื่องสั้นส่งนิตยสาร และยังวาดภาพประกอบเองด้วย แล้วความจำท่านนี่เป็นเลิศ บางครั้งครูจำบทกลอนอะไรไม่ได้ยังต้องโทรไปถามท่านอยู่เลย ครอบครัวมีความสำคัญมาก ถ้าพ่อแม่รักการอ่านก็เป็นการปลูกฝัง เป็นตัวอย่างให้ลูกๆ รักการอ่านเช่นกันค่ะ”

แล้วทำไมเราต้องรักการอ่าน การอ่านมีความสำคัญอย่างไร และจะให้อะไรแก่เรามากมายกระนั้นหรือ? หลายท่านอาจคิดสงสัยว่าทำไมจะต้องรักการอ่าน อาจารย์พรพักตราผู้ถูกปลูกฝังให้รักการอ่านตั้งแต่วัยเยาว์จึงไขข้อข้องใจนี้ได้เป็นอย่างดีว่า “การอ่านสำคัญสิคะ ประการแรกเลยคือทำให้คนฉลาด ขณะที่เราอ่านเราจะต้องคิดตาม จับประเด็น จับใจความ ตรงนี้ทำให้เราฉลาดขึ้นแน่นอน แม้ทุกวันนี้ จะมีคอมพิวเตอร์หรือว่าอินเตอร์เน็ตเข้ามา แต่เราก็ต้องอ่านถึงจะรับทราบข้อมูลข่าวสาร การอ่านทำให้เราได้ความรู้ ได้ความบันเทิง ทำให้เรามีสมาธิ มีจิตใจจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แม้กระทั่งในยามที่จิตใจเราหม่นหมอง คิดกังวลกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถ้าเราได้อ่านหนังสือบางเล่มแล้วเหมือนมันปิ๊งเลย เราจะเกิดความเข้าใจ และรู้สึกว่าจากมืดๆ กลับสว่างขึ้นมาได้ ฉะนั้นถ้าถามว่าการอ่านให้อะไร สำหรับบางคนการอ่านให้ความหวัง ให้แสงสว่างกับชีวิต ลองดูสิคะ ถ้าคุณตกอยู่ในช่วงเวลาที่หมดหวัง ท้อแท้ อับจนหนทาง ลองเดินเข้าร้านหนังสือ หรือห้องสมุด หยิบจับหนังสือดีๆ ที่เข้ากับสถานการณ์ในตอนนั้นมาเปิดอ่านดู มันอาจจะให้แสงสว่าง ให้กำลังใจแก่เรา พลิกสถานการณ์ให้กลับมาสดใสได้อย่างไม่น่าเชื่อเลย”



สำหรับอาจารย์เองล่ะ การอ่านให้อะไรกับชีวิต? อาจารย์พรพักตราตอบทันทีว่า “ให้สมองค่ะ การอ่านให้สติปัญญาและความรอบรู้ วัตถุดิบที่ใช้ในการสอนทุกวันนี้ก็มาจากการอ่าน และนอกจากงานสอนครูยังเป็นนักเขียนประจำให้กับนิตยสารภูเก็ตบูลเลทิน ในคอลัมน์ “ในห้องหนังสือ” บอกเล่าเรื่องราวเเละประสบการณ์ที่ได้จากการอ่านหนังสือ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความอ่านสบายๆ เเฝงเเง่คิด วัตถุดิบที่ใช้ในการเขียนก็ได้จากการอ่าน ครูเป็นนักจัดรายการวิทยุ รายการ “ก้าวไกลกับราชภัฏภูเก็ต” ทาง สวท.96.75 MHz ทุกวันจันทร์ เวลา 09.00 - 10.00น. และเป็นพิธีกรในงานต่างๆ โดยเฉพาะงานของทางมหาวิทยาลัย วัตถุดิบที่นำไปใช้ในการพูด การจัดรายการ การเป็นพิธีกร ก็ได้จากการอ่านทั้งสิ้น เรียกว่าการอ่านให้ประโยชน์ในการทำงานทุกรูปแบบ และที่สำคัญ การอ่านทำให้เรามีความคิดที่เฉียบคม สร้างความโดดเด่นและแตกต่าง ดังคำประพันธ์ที่ว่า “อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย”

บทบาทหน้าที่ของอาจารย์พรพักตราในวันนี้ จึงเหมือนยืนอยู่บนจุดเชื่อมต่อระหว่างคนรุ่นเก่าที่ให้ความสนใจ ละเมียดละไมในวรรณกรรม กับคนรุ่นใหม่ที่เริ่มไม่ใส่ใจในศิลปะทางภาษา และนับว่าเธอได้ทำหน้าที่ในการเป็นผู้เชื่อมต่อ กระตุ้นเตือนให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้เห็นความงามของภาษาและวรรณกรรม เห็นความสำคัญของการอ่านซึ่งเป็นประตูสู่ปัญญาอย่างเต็มกำลังความสามารถ “ถ้าถามว่ารู้สึกอย่างไรที่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ ต้องตอบว่ารู้สึกปลื้มใจและภูมิใจมาก เหมือนเป็นมณีจันทร์ ในเรื่องทวิภพ แต่มณีจันทร์คนนี้คงไม่ถึงขั้นพลิกประวัติศาสตร์ หากแต่เป็นจุดเชื่อมต่อของอดีตที่ดีงามสู่คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันมากกว่า ที่ภาษาไทยเรายังคงอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะคนไทยยังพูด ยังอ่าน ยังเขียน ยังสื่อสารด้วยภาษาไทย เราจึงต้องช่วยกันรักษาภาษาไทยเอาไว้ ไม่ใช่ว่าจะต้องรักษาให้คงตามของเดิมทุกกระเบียดนิ้ว เพราะโลกเปลี่ยน สังคมเราก็เปลี่ยนไป เราต้องทำตัวให้กลมกลืนกับความเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกันของเก่าที่ดีงามเราต้องรักษาไว้ ครูเชื่อว่าภาษาไทยไม่อับจน ตราบใดที่คนไทยยังตระหนัก อย่าให้อายต่างชาติ เพราะทุกวันนี้ต่างชาติเขาข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนภาษาไทยกันมากมาย ในขณะที่เด็กไทย คนไทยแท้ๆ กลับเลือกเรียนภาษาไทยกันน้อยมาก นี่ก็เป็นภาพสะท้อนให้คิดกันดูว่าทำไมเราถึงใกล้เกลือกินด่าง ต่อไปคนจีนอาจจะพูดภาษาไทยชัดกว่าคนไทย หรือฝรั่งอาจจะพูดภาษาไทยชัดกว่าคนไทย เห็นทีตอนนั้นเราก็คงจะสูญเสียเอกราชทางภาษาไปอย่างไม่รู้ตัว”



:: บทความนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ทองหลังพระ" ของ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เดือนมกราคม 2550 :: บทความ โดย ชุติมา กิตติธรกุล

ไม่มีความคิดเห็น:

เรื่องดีๆ ล่าสุด