โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต สนับสนุนให้เกิดเรื่องราวดีๆ ขึ้นในชุมชน ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่น กิจกรรมสาธารณะ ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ และทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม รวมทั้งการส่งเสริมกาเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ให้กับเจ้าหน้าที่, การดูแลสุขภาพ และในบล็อก StoryDD แห่งนี้ ได้รวบรวมบทความในโครงการส่งเสริมนักเขียนท้องถิ่น ให้สร้างผลงานเขียนเชิดชูบุคคล หรือหน่วยงานที่ทำความดี ให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจกับผู้อ่าน เพื่อร่วมสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนต่อไป

๒๑ ก.พ. ๒๕๕๑

:: ลูกชิ้นเก็จมุกดา ลูกชิ้นปลาโกอินเตอร์


คุณประทีป กุละปาลานนท์ ลูกชิ้นเก็จมุกดา ลูกชิ้นปลาโกอินเตอร์

ในเลมีปลา บนเกาะมีคน
คนออกเล ไปจับปลา
ใส่เรือมา ทำลูกชิ้น


อ่านบทกลอนที่ติดไว้ภายในร้านจบปุ๊บ ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาจานโตก็มาเสิร์ฟตรงหน้าปั๊บ สูดควันกรุ่นกระตุ้นน้ำย่อย แล้วจึงตักน้ำซุปชิมรสชาติก่อนคีบลูกชิ้นปลาลูกกลมโต ขาวยั่วยวนชวนให้กัดส่งเข้าปาก หืม...นุ่ม แน่น เคี้ยวเต็มปาก รสชาติกลมกล่อมจริงๆ เดี๋ยวก่อนคุณผู้อ่าน ทองหลังพระฉบับนี้ไม่ได้เบนเข็มไปเป็นคอลัมน์อาหารประมาณเชลล์ชวนชิม หรือแม่ช้อยนางรำแต่อย่างไร เพียงแต่เราอยากพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นภูเก็ต ที่ได้รับรางวัลต่างๆ มากมายทั้งโอท็อประดับห้าดาว ทั้งรางวัล Prime Minister Awards ปี 2005 แถมยังเป็นเมนูเสิร์ฟบนเครื่องของสายการบินไทย TG406 ของดีเมนูเด็ดนี้ไม่ใช่อาหารพิสดารที่ไหน แต่เป็นลูกชิ้นปลาเก็จมุกดา ลูกชิ้นปลาที่มีต้นกำเนิดบนเกาะภูเก็ต ลูกชิ้นปลาที่กำลังโกอินเตอร์

และคงไม่มีใครเล่าถึงลูกชิ้นปลาเก็จมุกดาได้ดีเท่ากับต้นตำรับ คุณประทีป กุละปาลานนท์ เจ้าของธุรกิจ ผู้คิดค้นลูกชิ้นปลาเก็จมุกดา “เดิมทีในภูเก็ตก็มีการทำลูกชิ้นปลาอยู่มากมายหลายเจ้า แต่ที่ทำในแง่อุตสาหกรรมให้ได้มาตรฐานนี่ยังไม่มี ที่จริงในจังหวัดภูเก็ตมีสินค้าผลิตภัณฑ์เยอะแยะมากมายเลยที่น่าจะทำเป็นอุตสาหกรรม นอกจากลูกชิ้นปลาแล้วก็มีทั้ง อาหารพื้นเมือง ขนมพื้นเมืองต่างๆ สำหรับผม ผมเลือกที่จะทำลูกชิ้นปลาเพราะมองเห็นความเป็นไปได้ เป็นสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ มีความรู้ มีความถนัด แล้วก็มีวัตถุดิบพร้อม คิดว่าสู้คนอื่นได้ แต่เราจะทำอย่างไรให้มันเป็นอุตสาหกรรม และต้องมีความแตกต่างจากตลาดที่มีอยู่ และทำแล้วไม่ใช่ขายเฉพาะแต่ในภูเก็ต แต่ต้องขายให้ได้ทั่วประเทศ ทั่วโลก”

นั่นคือวิสัยทัศน์ของชายผู้นี้ ผู้ผ่านประสบการณ์การเป็นเจ้าของบริษัทซอฟต์แวร์ในประเทศอเมริกามาร่วม 10 ปี เขาเล่าถึงตัวเองให้เราพอรู้จักชีวิตและประสบการณ์ที่ผ่านมาคร่าวๆ ว่า “หลังจากจบการศึกษาที่จุฬาลงกรณ์ฯ ผมก็ไปทำงานอยู่ที่อเมริกา ตอนนั้นไปเป็นพวกโรบินฮู้ด ไปทำงานด้านซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมสนใจศึกษามานานแล้ว เปิดบริษัทเองรายได้ดีมากเดือนหนึ่งเป็นหมื่นเหรียญ ทั้งค่าเช่า ค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ หลังจากนั้นพอดีเป็นช่วงรัฐบาลนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ เขาก็มีโครงการดึงนักวิชาการด้านต่างๆ กลับมาพัฒนาประเทศในรูปแบบต่างๆ เขาก็ส่งคนไปติดต่อขอร่วมทุนกับบริษัทผมโดยการแลกหุ้นกัน เอาหุ้นบริษัทผมแลกกับหุ้นบริษัทที่เมืองไทย โชคร้ายเจอช่วงวิกฤติเศรษฐกิจค่าเงินบาทลอยตัว บริษัทผมล้มละลาย จะกลับไปตั้งหลักที่อเมริกาก็ไม่ได้แล้ว ตอนนั้นแต่งงานมีครอบครัวกับคุณสุดใจ กุละปาลานนท์ ซึ่งเป็นชาวภูเก็ต ก็เลยตัดสินใจกลับมาอยู่ที่ภูเก็ต มีทุนเหลืออยู่บ้างก็มาเปิดร้านอาหารแต่ก็ไม่สำเร็จต้องปิดไป แต่ก็ได้ประสบการณ์จากการทำร้านอาหาร จากนั้นก็เลยหันมาเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว ผลิตลูกชิ้นโดยมีความตั้งใจอย่างที่ได้บอกไปแล้ว คือต้องการทำผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างเพื่อส่งขายไปทั่วโลก ให้ผู้บริโภคนึกถึงลูกชิ้นปลา ก็ต้องนึกถึงเก็จมุกดาเท่านั้น”



และสิ่งหนึ่งที่จะสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ แน่นอนนั่นคือรสชาติ หากใครเคยชิมลูกชิ้นปลาเก็จมุกดาย่อมทราบดีว่ามีเอกลักษณ์ที่ความนุ่มแน่น ลูกโตเคี้ยวเต็มปาก เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนเจ้าอื่น หลายคนอาจคิดว่าสูตรการปรุงน่าจะถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่แท้จริงแล้วคุณประทีปผู้นี้เป็นผู้คิดสูตรเองทั้งหมด โดยอาศัยวิชาความรู้ด้านเภสัชศาสตร์ ที่สำเร็จการศึกษามาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “เดิมทีลูกชิ้นปลาเจ้าอื่นๆ เขามีสูตรกันอย่างไรผมก็ไม่ทราบ แต่สำหรับของผมนั้นผมใช้ความรู้ด้านเภสัชเข้ามาวิเคราะห์ดูก็พบว่า เราสามารถจะทำลูกชิ้นโดยที่ไม่ต้องใส่สารอย่างอื่นเลย ใช้เพียงเนื้อปลา น้ำ และเกลือเท่านั้น เพียง 3 อย่างนี้ที่เป็นส่วนประกอบของลูกชิ้นเก็จมุกดาไม่มีสารเคมีใดๆ เจือปน แล้วก็นำมาทำเกิดการรวมตัวกันโดยใช้เทคนิคพื้นฐานเหมือนวิธีการทำครีม เช่น ครีมทาหน้าทั่วไป เป็นวิธีการที่ทำอย่างไรให้น้ำมันในตัวปลา คือ โอเมก้า3 หรือ unsaturated fat กับน้ำเข้ากันได้ แล้วก็ผสมเกลือเข้าไป ทำให้เกิดการรวมตัวกันเป็นก้อน ซึ่งกระบวนการนี้จะต้องมีการลดอุณหภูมิและเติมเกลือในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะได้ลูกชิ้นปลาที่มีส่วนผสมเพียง 3 อย่าง คือเนื้อปลา น้ำ เกลือ เท่านั้น สูตรของเรามีความแน่นอน ก็เลยตัดสินใจจดสิทธิบัตรไว้เมื่อปี 2548 ทีนี้เราก็ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับวัตถุประสงค์ มีเอกลักษณ์แล้วว่าลูกชิ้นปลาของเราเป็นเนื้อปลาล้วนไม่มีแป้งไม่มีอะไรทั้งสิ้น ผู้บริโภคเหมือนได้เนื้อกินปลาเต็มๆ โดยไม่มีก้างนั่นเอง”

นอกเหนือจากสูตรที่คิดค้นเองแล้ว กรรมวิธีการผลิตก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณประทีปให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง “กรรมวิธีการผลิตเริ่มตั้งแต่การคัดปลา เราใช้ปลากล้วยญี่ปุ่น หรือปลาข้างเหลือง และต้องเป็นปลาที่สด ไม่มีฟลอมารีน ไม่มีสารอื่นๆ เจือปน ไม่อมน้ำ เพราะถ้ามีสารอื่นเจือปน หรืออมน้ำมากก็จะทำให้สูตรการผสมเสีย ตีไม่เป็นเนื้อลูกชิ้นตามที่ต้องการ เพราะทุกอย่างจะทำปฏิกิริยากับเนื้อปลาและเกลือ เมื่อได้ปลาสดมาแล้วจากนั้นเราจะขูดเอาแต่เนื้อปลาล้วนๆ มาผสมน้ำ น้ำที่ใช้ก็ใช้น้ำดื่มที่มีคุณภาพ น้ำก๊อกหรือน้ำผสมคลอรีนจะใช้ไม่ได้ เพราะจะมีสารเคมีไปทำปฏิกิริยากับส่วนผสมอีกเช่นกัน เพื่อความสะอาดมั่นใจได้ เราจึงเลือกใช้น้ำดื่มคุณภาพทุกขั้นตอนการผลิต จากนั้นนำเนื้อปลามาบด ตี ปั้นเป็นลูกให้ได้ขนาดเท่าๆ กัน และมีการตรวจสอบขนาดอีกครั้ง จากนั้นแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืนเพื่อลดความคาวแล้วจึงนำมาต้มให้สุกพร้อมรับประทาน สำหรับคนที่มาทานก๋วยเตี๋ยวที่ร้านจะได้ทานของสดเลย แต่สำหรับการส่งขายตามที่ต่างๆ กระบวนการต่อไปเราต้องนำลูกชิ้นมาแช่แข็ง เนื่องจากเราไม่ได้ตั้งเป้าการขายอยู่เฉพาะแต่ในร้าน หรือในภูเก็ต แต่เราต้องการขายทั่วไป ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็ต้องมาคิดว่าทำอย่างไรให้ปลาที่ไม่ใส่สารกันบูดอยู่ได้นานพอที่จะไปขายได้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก คือถ้าเราไม่ใส่สารกันบูดปลาอะไรก็ต้องเน่าต้องเสีย ลูกชิ้นนี้ก็เหมือนกัน ที่ผ่านมาในช่วง 3 – 4 ปีแรก เราใช้วิธีแพ็คถุงแบบสุญญากาศ คือดูดอากาศออกหมด เพื่อไม่ให้มีเชื้อโรคที่ทำให้อาหารบูดเน่า ลูกชิ้นก็สามารถอยู่ได้นาน 15 วัน ในช่วงแรกเราคิดเครื่องแพ็คขึ้นมาเอง ต้องแพ็คลูกชิ้น 1 ลูกต่อ 1 ถุง เป็นการสิ้นเปลืองถุงมาก แต่เราก็ยอมลงทุน ต่อมาก็ได้เปลี่ยนถุงให้มีคุณภาพดีขึ้น 1 ถุงสามารถแพ็คลูกชิ้นได้ทั้งกิโล ถึงแม้การแพ็คแบบสุญญากาศจะช่วยยืดอายุได้ 15 วัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าลูกชิ้นก็ต้องมีการบูดเน่า ฉะนั้นการที่เราจะส่งสินค้าเข้าไปขายในห้างก็จะมีปัญหา บางทีห้างสั่งซื้อไปเป็นตัน ขายไม่ทันของเสียหมดเราก็เสียหาย ห้างก็เสียหาย ก็เลยมาคิดหาวิธีใหม่ ก็พบวิธีที่เขาใช้กันทางการแพทย์ แล้วปัจจุบันนี้ก็ใช้กันเยอะในวงการอาหารแปรรูปคือการแช่แข็ง การแช่แข็งนี่ไม่ใช่หมายความว่าเอาลูกชิ้นไปแช่ในตู้เย็นให้มันแข็ง แต่ต้องแช่ในระบบที่เรียกว่า IQF หรือ Individual Quick Frozen ก็คือการลดอุณหภูมิให้เร็วที่สุด โดยไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมีเข้าไปในลูกชิ้น วิธีที่ใช้กัน ณ ขณะนี้ที่เป็นเทคโนโลยีล่าสุด ก็คือใช้ไนโตรเจนเหลวพ่นลูกชิ้น ไนโตรเจนนี่ไม่ได้เป็นสารพิษ มีอยู่ทั่วไปในอากาศอยู่แล้ว แล้วก็ไม่ทำปฏิกิริยาใดๆ ทั้งสิ้น แต่ข้อเสียก็คือต้นทุนการผลิตสูงมาก ต่อลูกชิ้น 1 กิโลเราต้องใช้ไนโตรเจนคิดเป็นต้นทุนแล้ว ประมาณ 15 – 40 บาทต่อหนึ่งกิโล เป็นต้นทุนที่ต้องเพิ่มเข้าไปในราคาของลูกชิ้น เพื่อจะทำให้ลูกชิ้นสดทันทีแล้วก็สดตลอดไปเป็นปีๆ พอถึงเวลาก็สามารถนำออกมารับประทานได้ เนื้อเยื่อต่างๆ ก็ยังคงอยู่ ความอร่อยก็ยังคงอยู่ ลูกค้าบางท่านบอกว่าลูกชิ้นแบบแช่แข็งรสชาติดีกว่าแบบสดที่ทานที่ร้านซะอีก และแม้ว่าเราจะใช้วิธีการแช่แข็งแล้วก็ตามแต่การแพ็คแบบสุญญากาศนั้นเราก็ยังใช้อยู่ทั้งๆ ที่เป็นการเพิ่มต้นทุนและเพิ่มระยะเวลาการผลิต แต่เนื่องจากเราต้องการเผื่อเวลาให้ลูกค้าซื้อไปแล้วที่บ้านไม่มีตู้แช่แข็ง คุณก็ยังสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาได้อีก 15 วัน หรือถ้าส่งไปขายตามร้านหรือห้างที่ไม่มีตู้แช่ที่มีคุณภาพ ก็ยังสามารถเก็บลูกชิ้นไว้ขายได้อีกระยะหนึ่ง เราพยายามมอบผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้า”



องค์ความรู้ เทคโนโลยี และความพิถีพิถัน ทั้งหมดถูกนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ แต่สิ่งสำคัญประการต่อมาที่จะทำให้สินค้าที่ดี ขายได้ และขายดี คือกลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งในด้านนี้คุณประทีปก็ลุยเองเช่นกัน “บริษัทเราดูภายนอกก็คือร้านก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเราก็เกิดขึ้นมาจากร้านก๋วยเตี๋ยว แล้วเราก็ทำลูกชิ้น แต่นอกเหนือจากการทำลูกชิ้นขายในร้านแล้ว อย่างที่บอก เราต้องการกระจายผลิตภัณฑ์ของเราทั่วไปทั้งในระดับประเทศและระดับโลก นั่นคือเป้าหมายที่ตั้งไว้”

การนำผลิตภัณฑ์เข้าไปวางขายในห้าง ดูเหมือนจะเป็นก้าวแรกของการกระจายสินค้า แต่ก็ประสบปัญหาพอสมควร คุณประทีปเล่าถึงการทำตลาดช่วงแรกว่า “ช่วงแรกนอกจากผลิตขายในร้าน ขายปลีกแล้ว เราก็ผลิตส่งตามร้านอาหารต่างๆ ในภูเก็ต และติดต่อวางขายในห้างประมาณ 2 แห่ง แรกๆ ก็ไปได้ดี พอลูกชิ้นเริ่มติดตลาด ทางห้างเขาก็ขอเจรจาเลื่อนระยะเวลาการชำระเงิน ทีนี้เนื่องจากเราไม่ใช่ผู้ประกอบการรายใหญ่ พอเจอห้างขอเลื่อนเวลาชำระเงินเป็น 3 เดือน แต่เวลาเราซื้อปลาเราต้องจ่ายสด สภาพคล่องก็ไม่มีอย่างนี้ไม่ไหว ก็เลยเริ่มมองหาตลาดส่งออก ก็เริ่มไปหาตลาดจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้ๆ อย่าง มาเลเซียสิงคโปร์ ก็สามารถไปได้ดี”



พร้อมกันนั้น คุณประทีปก็ได้พัฒนาช่องทางการขาย โดยการเพิ่มสาขาร้านก๋วยเตี๋ยวพร้อมกันไปด้วย โดยการเปิดร้านในห้างสรรพสินค้า ทั้งเซ็นทรัลเฟสติวัลภูเก็ต และห้างบิ๊กซี “การกินลูกชิ้นนี่ บางคนเขาติดว่าต้องกินกับก๋วยเตี๋ยว ถ้าต้องการให้ลูกชิ้นเราติดตลาดเป็นที่นิยมก็เลยต้องขยายร้านก๋วยเตี๋ยวโดยเพิ่มสาขาออกไปในห้าง การทำร้านก๋วยเตี๋ยวเราก็มีการควบคุมคุณภาพ มีการจ้างนักวิทยาศาสตร์อาหารมาตรวจสอบ สุ่มดูความเข้มข้นของน้ำซุป ดูมาตรฐานทุกอย่าง คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้บริโภค ส่วนเรื่องการขายแฟรนไชส์เราก็คิด และเคยพยายามทำแล้วแต่ไม่สำเร็จ อาจเป็นเพราะรีบทำเกินไป เราจึงต้องกลับมาทบทวนใหม่ คือการเปิดแฟรนไชส์นั้นเราต้องทำร้านของเราให้สำเร็จให้ดีซะก่อน แล้วค่อยขยายสาขาออกไป แล้วจึงขายเป็นแฟรนไชส์ คิดว่าในอนาคตน่าจะมีการขายแฟรนไชส์แน่นอน”

สำหรับช่องทางการจำหน่ายภายในประเทศ ในประเทศเพื่อนบ้าน และการขยายสาขาร้านก๋วยเตี๋ยวเพิ่มขึ้นดูเหมือนยังไม่เพียงพอสำหรับการกระจายลูกชิ้นปลาเก็จมุกดา คุณประทีปยังมองเห็นช่องทางที่ไกลและกว้างกว่านั้น “ขณะนี้เรากำลังสร้างโรงงานเพื่อรองรับกำลังการผลิตที่จะเพิ่มมากขึ้น ผมมองว่าลูกชิ้นปลาเก็จมุกดาเรามีศักยภาพเพียงพอที่จะส่งออกไปยังตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะอเมริกาและจีน ที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปออกงาน Thailand Exhibition กับกรมส่งเสริมการส่งออกที่ประเทศจีน มองเห็นช่องทางการตลาดที่ดีมาก เมืองๆ หนึ่งของจีนมีประชากรมากกว่าประเทศเราทั้งประเทศ ถ้าเขาบริโภคลูกชิ้นของเรารับรองว่าผลิตกันไม่ทันแน่ ส่วนอเมริกานั้น ในแต่ละรัฐมีร้านอาหารไทยร่วม 100 ร้าน ถ้าทุกร้านสั่งลูกชิ้นของเราไปเสิร์ฟ เราก็ผลิตกันไม่ทันเช่นกัน ตลาดตรงนี้ผมมองเห็นความเป็นไปได้สูง และเพื่อที่จะสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ของเราไปยังประเทศดังกล่าวได้เราจึงต้องเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้ได้มาตรฐาน ขณะนี้เรากำลังสร้างโรงงานที่บ้านลิพอน โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ โดยรัฐเข้ามาร่วมถือหุ้นสนับสนุนงบประมาณทั้งในการขยายสาขา การขยายโรงงาน จากเงินลงทุน 1 ล้าน 2 ล้าน เพิ่มทุนเป็น 10 กว่าล้าน ตอนนี้ต้องการระดมทุนเพิ่มเป็น 25 ล้าน ขณะนี้โรงงานที่บ้านลิพอนโครงสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังอยู่ในระหว่างการระดมทุนเพื่อติดตั้งระบบการผลิต ซึ่งควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ ผมได้ออกแบบซอฟต์แวร์เพื่อนำมาควบคุมกระบวนการผลิตภายในโรงงาน วางแผนให้มีการควบคุมมาตรฐานโรงงาน HACCP ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานแล้ว ผมยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโรงงานของเราให้มีความสมบูรณ์แบบ เพื่อรองรับการขยายตัวต่อไปในอนาคต หากลูกชิ้นปลาเก็จมุกดาเป็นที่นิยมติดตลาดในต่างประเทศ มียอดการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก เราอาจไม่ต้องพึ่งการส่งออก แต่สามารถขาย Knowledge Base หรือกระบวนการผลิต กระบวนการจัดการภายในโรงงานให้ต่างชาตินำไปสร้าง ไปผลิตลูกชิ้นปลาเก็จมุกดาในประเทศเขาเองได้เลย ซึ่งทุกสิ่งนั้นต้องอาศัยงบประมาณจำนวนมากมาสนับสนุน เราจึงคาดว่าในปี 2551ถ้าไม่มีอะไรติดขัด เราจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทีนี้ใครๆ ก็สามารถเข้ามาถือหุ้นบริษัทเราได้ เรายอมที่จะเสียสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ไป เพื่อระดมทุนมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างกำไรให้เทียบเท่ากับบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ และหากเราสามารถผลักดันไปถึงจุดนั้นได้ สินค้าตัวนี้จะทำรายได้กลับมาให้เรากว่า 100 ล้านบาทเลยทีเดียว”

ดูเหมือนลูกชิ้นเก็จมุกดาจะไม่ได้เป็นเพียงลูกชิ้นให้เรารับประทานเพื่อความอร่อยเท่านั้นเสียแล้ว หากแต่มันกำลังจะกลายเป็นสินค้าส่งออก ที่นำรายได้มหาศาลเข้าประเทศ จากลูกชิ้นที่ผลิตจากปลาที่ว่ายวนอยู่ในทะเลบ้านเราจะโกอินเตอร์ไปเป็นสินค้าส่งออกมูลค่ากว่า 100 ล้านได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่เราต้องจับตามอง แต่สำหรับคุณประทีปเขามั่นใจ 100% ว่าเป็นไปได้ และอยากจะบอกผู้ผลิต ผู้ประกอบการ หรือเจ้าของสูตรอาหารทุกๆ ท่านว่า “ที่จริงเรามีโอกาสเยอะ มีสินค้าตั้งเยอะแยะที่มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมทำรายได้ด้วยตัวของมันเอง โดยที่คุณไม่ต้องเหนื่อยมาก เพียงแต่เราต้องนำเอาความรู้เข้ามาพัฒนา และต้องรู้จักหาช่องทาง หาโอกาส มีหน่วยงานรัฐที่พร้อมจะสนับสนุนมากมาย แต่เราต้องรู้จักที่จะพัฒนาตัวเองก่อน ต้องมีแผนที่ชัดเจนและมีความเป็นไปได้เข้าไปเสนอ แล้วโอกาสก็จะเป็นของคุณ ในภูเก็ตยังมีอาหารหรือของกินอีกเยอะแยะที่น่าจะทำเป็นอุตสาหกรรมได้ ถ้าเป็นต่างประเทศแค่ใครทำคุกกี้อร่อย เขาสามารถจะทำขายไปได้ทั่วโลกแล้ว แต่บ้านเราของกินอร่อยเยอะแยะไปหมด กลับไม่ค่อยมีใครทำ ผมคิดว่าน่าจะลองมองหาโอกาสที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้เติบโตและไปให้ไกลอย่างที่ลูกชิ้นปลาเก็จมุกดากำลังทำอยู่”



:: บทความนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ทองหลังพระ" ของ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เดือนเมษายน 2550 :: บทความ โดย ชุติมา กิตติธรกุล

ไม่มีความคิดเห็น:

เรื่องดีๆ ล่าสุด